xs
xsm
sm
md
lg

ตร.มั่นใจเชิญเด็กกลับบ้านหลัง 4 ทุ่มลดอาชญากรรมได้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.
รอง ผบช.น.แสดงความมั่นใจห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่มจะสามารถลดอาชญากรรมลงได้ พร้อมชี้แจงไม่ใช่การห้ามเด็กออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม แต่จะกวดขันสถานที่ล่อแหลม ตามร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านสุรายาดอง และจะพาเด็กส่งผู้ปกครอง ไม่ใช่การจับกุม พร้อมจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาทำความเข้าใจเร็วๆ นี้

วันนี้ (19 ม.ค.) เมื่อ 10.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.(รับผิดชอบงานสอบสวน) ให้สัมภาษณ์กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงความเห็นต่อมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามออกจากบ้านหลังเวลา 22.00 น.ว่า โครงการนี้ไม่ใช่การเคอร์ฟิวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี บางคนฟังแค่ครึ่งเดียวทำให้ความหมายเปลี่ยน โครงการดังกล่าวไม่ใช่การห้ามเด็กออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม เด็กยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่คำว่าหลัง 4 ทุ่ม คือ ตำรวจจะเข้าไปกวดขันตรวจสอบในสถานที่ที่ล่อแหลม อย่างเช่น ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต เสพสุรายาเมา ในลักษณะที่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ตำรวจจะเชิญเด็กเหล่านั้นส่งผู้ปกครอง

พล.ต.ต.อำนวยกล่าวอีกว่า วิธีการคือการนำตัวไปพักที่สถานีตำรวจส่งให้กับร้อยเวรตรวจสอบว่าไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร ไม่เหมาะสมหรือไม่ จากนั้นก็จะติดต่อเชิญผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน ทั้งหมดเพื่อเป็นการกระชับพื้นที่ ลดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองกับเด็กเพื่อให้กลับบ้านไปทำการบ้านอ่านหนังสือหรืออย่างน้อยเตรียมตัวไปโรงเรียนวันต่อไป ซึ่งดีกว่าการไปมั่วสุมขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะเด็กสามารถเป็นได้ 2 อย่าง คือ เหยื่อ คือถูกหลอกล่วงถูกกระทำ และสุดท้ายคือการก่ออาชญากรรมเอง ตัวอย่าง พื้นที่ สน.มีนบุรี มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งนั่งกินอยู่ในซุ่มยาดองและโดนคู่อริยิงเสียชีวิต ส่วนเด็กที่ประกอบกิจตามปกติ เช่น เรียนพิเศษ ทำงาน ฯลฯ ก็สามารถทำได้ตามปกติ

พล.ต.ต.อำนวยกล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นโครงการพิทักษ์เด็ก บางคนอาจไม่เข้าใจจริงๆหรือแกล้งไม่เข้าใจและมาร้องถามว่าตำรวจใช้กฎหมายอะไร ตนขอถามกลับไปว่าแล้วที่ทำเช่นนี้มันจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายอะไร เพราะไม่ใช่การจับกุมแต่เป็นการจัดระเบียบสังคมเด็ก ใช้กฎหมายปกติกรณีที่ไม่เข้าใจตนกล่าวไว้แล้วว่าให้โทรหา เพราะถ้ายิ่งพูดไปว่าตำรวจอาจทำมิดีมิร้าย แสดงว่าในสมองมีแต่ขั้วลบต้องมีขั้วบวกด้วย

“วันศุกร์นี้ บช.น.จะเชิญครูหยุ่น กลุ่ม NGO กระทรวงศึกษาธิการ กรมพินิจและคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนผู้ปกครอง ฯลฯ มาพร้อมกันที่ บช.น.เพื่อเจราจากันในเรื่องดังกล่าวให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังมีผู้สนับสนุนให้ดำเนินการมาตรการดังกล่าวในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน” รอง ผบช.น.กล่าว และว่า ส่วนเหล้าตามร้านยาดองก็จะมีการจับกุมเพราะผิดกฎหมาย ส่วนเหล้าที่จับมาก็จะส่งให้ อย.ตรวจเพราะไม่รู้ว่าเหล้าที่นำมาขายดีหรือไม่ และร้านที่ขายสุรายาดองหลังเที่ยงตำรวจก็จะดำเนินการจับกุมเช่นกัน ทั้งหมดลดอาชญากรรมได้อย่างแน่นอน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า นครบาลได้ดูแลเรื่องนี้เพื่อดูแลเด็กและเยาวชน โดยได้ใช้กฎหมาย 3 พ.ร.บ.ด้วยกันมาบังคับใช้ โดย 1.พ.ร.บ.ควบคุมวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แก้ไขปี 2549 ที่บังคับให้ผู้ประกอบการร้านเกม วันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ ไม่ให้เด็กใช้บริการก่อน 14.00 น. และไม่เกิน 22.00 น.วันหยุด ใช้บริการได้ไม่เกิน 22.00 น. ซึ่งทางนครบาลได้ประสานผู้ให้บริการกวดขันเข้มงวดในเรื่องนี้ 2.พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เรื่องความรับผิดชอบของผู้ปกครองไม่ให้ปล่อยปละละเลยส่งเสริมให้เด็กกระทำความผิด พ.ร.บ.นี้เคยใช้กับกลุ่มเด็กแว้น ที่เอาผิดผู้ประครองที่ปล่อยให้เด็กกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่ง พ.ร.บ.นี้หากผู้ปกครองรับทราบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก รับทราบพฤติกรรมความผิดของเด็กแล้วและปล่อยให้ทำผิดซ้ำบ่อยๆ ผู้ปกครองจะมีความผิด จำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท

พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวต่อว่า 3.พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ผู้จำหน่ายสุราต้องมีใบอนุญาต และจำหน่ายให้กับผู้ที่บรรลุนิติภาวะเป็นกณฑ์ ไม่ให้จำหน่ายสุราแก่เด็ก หากพบมีการจำหน่ายมีความผิดคำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท และได้กวดขันร้านเหล้าปั่นซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนเพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กหัดดื่มสุรา และหากดื่มมากก็อาจทำให้มึนเมา ซึ่งทางตำรวจนครบาลจะใช้มาตรการนี้ในการกวดขันดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก และจะทำอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าจะช่วยพิทักษ์เด็กได้ ซึ่งทาง ตร.ก็ให้ด้วยที่ทางนครบาลนำมาตรการนี้มาใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น