กรมสอบสวนคดีพิเศษสรุปเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.ช่วงแดงเดือดเผาเมือง ปรากฏว่า นปช.ฆ่าเสีย 12 ศพ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทำการป้องกันและเข้าควบคุมสถานการณ์มีผูเสียชีวิต 13 ศพ ที่เหลืออีก 64 ศพ รวม “เสธ.แดง-ช่างภาพยุ่น-นักข่าวเลี่ยน” ยังไม่ปรากฏผู้กระทำความผิด
วันนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงความคืบหน้าการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชน 89 ศพ ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง เดือน เม.ย.-พ.ค.ว่า ได้สอบสวนเบื้องต้นมีข้อสรุปที่สามารถสรุปได้ 3 ส่วน คือ 1.คดีพิเศษที่มีผู้เสียชีวิต จากการสืบสวนสอบสวนมีพยานหลักฐาน น่าเชื่อว่า เกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช.โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม ทหาร ตำรวจ และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็ลทรัลเวิร์ด กลุ่มที่ 2 มีผู้เสียชีวิตจากการสืบสวนสอบสวน เบื้องต้นมีพยานหลักฐาน น่าเชื่อว่า ความตายอาจเกิดโดยเจ้าหน้าที่ 8 คดี ผู้เสียชีวิต 13 ราย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่า ควรดำเนินการ ป.วิอาญา มาตรา 150 จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น คดีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในวัดปทุมวนาราม ผู้เสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต การเสียชีวิตของทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ บริเวณอนุสรสถาน ดอนเมือง และคดีนักข่าวญี่ปุ่น
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิตซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย เช่น การตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายฟาบิโอ โปเลนชี นักข่าวชาวอิตาลี อย่างไรก็ตาม การสอบสวนได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีพอสมควร เช่น สถานที่เกิดเหตุ วันเวลา บาดแผล วิถีกระสุน ทิศทางของวัตถุระเบิด แต่เนื่องจากเหตุการณ์เสียชีวิตเกิดขึ้นท่วมกลางการจลาจล เผาสถานที่สำคัญ เป็นเหตุสับสนวุ่นวายวิกฤติ การแสวงหาพยานหลักฐาน จึงมีข้อจำกัด ดีเอสไอจะดำเนินการต่อและแถลงให้สาธารณะชนรับทราบเป็นระยะ และเพื่อความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าปฏิบัติการกระชับและขอคืนพื้นที่
นายธาริต กล่าวต่อว่า ดีเอสไอในฐานะฝ่ายตรวจสอบคนกลาง ขอแถลงว่า การปฏิบัติของทหารเป็นหน้าที่ความจำเป็นของสถานการณ์วิกฤตเลวร้ายในขณะนั้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์นำความสงบสู้สังคมประเทศชาติโดยเร็ว การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินย่อมเกิดขึ้นได้ ฝ่ายทหาร ตำรวจ เองก็เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนการเสียชีวิตของฝ่าย นปช.ต้องสอบสวนเป็นรายๆ กรณีไป หากฝ่ายทหารได้กระทำไปด้วยความจำเป็น ป้องกันเพื่อระงับเหตุร้ายวิกฤติดังกล่าว ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับผิด ซึ่งศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดสุดท้าย ขณะนี้ไม่ควรด่วนตัดสินความถูกผิด
“ผมขอเปรียบเทียบว่า หากบ้านเมืองถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดับไฟ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็ถูกเพลิงไหม้เป็นจุณ ก็เช่นกับเหตุการณ์โจรเผาบ้านเผาเมืองปล้นสะดม อย่างวิกฤตในครั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ทหารไม่เข้าไประงับเหตุ ก็จะเกิดมิคสัญญีเลวร้ายไปกว่านี้ ดังนั้น ฝ่ายทหารควรได้รับความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ถูกฝ่าย นปช.ใส่ร้ายว่าฆ่าประชาชนอยู่ตลอดเวลา” นายธาริต กล่าว
เมื่อถามว่า คดีนักข่าวญี่ปุ่น และคดีในกลุ่มที่ 2 จะมีข้อสรุปเมื่อไหร่ นายธาริต กล่าวว่า เมื่อดีเอสไอพบว่ามีพยานหลักฐานพอสมควรว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจเกี่ยวข้อง จึงส่งสำนวนกลับให้ สตช.โดยมารยาท ตนไม่ควรก้าวล่วงว่าตำรวจทำอะไรไปถึงไหน ควรไปถามตำรวจเอง
เมื่อถามว่า ญาตินักข่าวญี่ปุ่นจะนำไปฟ้องศาลโลก นายธาริต กล่าวว่า ไม่ทราบว่า ศาลโลกจะมีอำนาจเหนืออธิปไตยของประเทศไทยแค่ไหน ไม่ขอก้าวล่วง แต่การพิจารณาในประเทศอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้ศาลยุติธรรมของไทย ขณะนี้ หน้าที่ของดีเอสไอเสร็จสิ้นชั่วคราว รอการทำงานของนครบาลว่า จะส่งสำนวนไปไต่สวนในศาลหรือส่งกลับมาดีเอสไอเลย จากนั้น ดีเอสไอจะเป็นคนสรุปขั้นสุดท้ายว่าผิดถูกอย่างไรใครจะต้องรับผิดอย่างไร