ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ปรับ 1.2 หมื่นบาท ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้หลงเชื่อ 900 คนเป็นเงิน 4 ล้านบาท คดี “เสี่ยอู๊ด” จัดสร้าง “พระสมเด็จเหนือหัว” ฉ้อโกงประชาชน ขณะที่บริษัท ไดมอนด์ฮิลล์ โดนปรับ 12,000 บาท ด้านเจ้าตัวยังยิ้มรับคำตัดสิน
วันนี้ (31 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมาย เลขดำ อ.2358/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสิทธิกร บุญฉิม หรือเสี่ยอู๊ด อายุ 38 ปี และบริษัทไดมอนด์ ฮิลล์ จำกัด โดยนายสิทธิกร บุญฉิม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และโดยใช้ข้อความที่ใช้หรืออ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม, ร่วมกันใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และเลียนเครื่องหมายราชการให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ กรณีระหว่างเดือน พ.ย. - ธ.ค.50 จำเลยทั้งสอง ร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยโฆษณาเผยแพร่ว่าจัดสร้างพระเครื่องที่ใช้ชื่อว่า “พระสมเด็จเหนือหัว” โดยสร้างจากมวลสารดอกไม้พระราชทานและผ้าไตรพระราชทานจากรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดสร้างพระคราวนี้เป็นการเฉพาะ และยังนำตราเครื่องหมายพระมหามงกุฎที่เป็นเครื่องหมายราชการของสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน มาพิมพ์ประทับไว้ที่ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัวทุกองค์
ศาลพิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย 50 คน เบิกความทำนองเดียวกันว่า ได้เช่าพระสมเด็จเหนือหัวจากสถานที่ต่างๆ เพราะหลงเชื่อในประกาศโฆษณาว่าสร้างจากดอกไม้พระราชทาน โดยมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ในพระราชบรมราชูปถัมภ์ โดยมีพระมงกุฎประทับไว้ที่ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัว จึงทำให้เข้าใจว่าจัดสร้างจากพระมหากษัตริย์ และสำนักพระราชวังซึ่งต้องการเช่าเพื่อนำไปบูชา แต่เมื่อมีข่าวว่าการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และพระมหากษัตริย์ จึงได้มาร้องทุกข์แจ้งความ
ส่วนเนื้อหาในคำโฆษณาที่จำเลยทั้งสองจัดทำขึ้นอ้างว่า การจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวโดยมูลนิธิ ดังกล่าว เพื่อนำเงินไปสร้างอุโบสถ “สองกษัตริย์” ถวายเป็นพระราชกุศล และยังมีข้อความระบุว่า ใช้มวลสารดอกไม้พระราชทานนั้น พระวิสุทธาธิบดี พยานโจทก์เบิกความว่า เป็นประธานมูลนิธิฯ มีความต้องการสร้างพระอุโบสถสองกษัตริย์จริง ที่วัดโสดาประดิษฐาราม จ.ราชบุรี และทำหนังสือลงลายมือชื่อให้จำเลยทั้งสองดำเนินการ ย่อมทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจว่ามูลนิธิฯ ให้หาเงินจัดสร้างอุโบสถ ซึ่งการโฆษณาด้วยข้อความว่าจะนำเงินไปสร้างอุโบสถนั้นจึงไม่เป็นการหลอกลวงประชาชน แต่การที่จำเลยนำข้อความว่าได้รับดอกไม้พระราชทาน เป็นมวลสารสร้างพระสมเด็จเหนือหัวตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงวันที่ 1 ธ.ค.50 และมีตราพระมงกุฎเพื่ออ้างอิงถึงพระมหากษัตริย์นั้น เพื่อให้เข้าใจว่าพระสมเด็จเหนือหัวที่จัดสร้างเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์ ทั้งที่จำเลยทราบดีว่าหากประชาชนเชื่อว่าการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวนั้นเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์แล้วประชาชนย่อมเช่าพระดังกล่าวกว่า 1.6 ล้านองค์
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า เชื่อว่าคำโฆษณาที่ว่ามวลสารได้มาจากดอกไม้พระราชทานนั้นน่าจะเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ความจริงแล้วการใช้ดอกไม้พระราชทานไม่มีการขออนุญาตจากสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ จึงเป็นการหลอกลวง ประชาชน โดยการปกปิดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งการจัดสร้างและการตั้งชื่อพระ การออกแบบโฆษณา ล้วนเป็นความคิดของจำเลยทั้งสองทั้งสิ้น
ขณะที่ดอกไม้พระราชทานนั้น ต้องเป็นดอกไม้ที่ใช้เฉพาะงานใดงานหนึ่งเท่านั้น การใช้หรือมอบให้ต่อไม่ถือเป็นดอกไม้พระราชทาน ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ขอดอกไม้พระราชทานจากพระวิสุทธาธิบดี เมื่อปี 2549 แสดงว่าพระวิสุทธาธิบดีไม่ได้มอบดอกไม้เป็นการจัดสร้างเป็นการเฉพาะ แต่จำเลยมีเจตนานำดอกไม้พระราชทานมาใช้โฆษณาในการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวว่าเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณา หลอกลวงประชาชนด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า พรพะสมเด็จเหนือจัดสร้างด้วยดอกไม้พระราชทาน ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์ จึงมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นการกระทำทั้งหมด 921 กรรม ศาลเห็นว่าระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.50 จำเลยทั้งสอง ได้กระทำการโฆษณาต่อเนื่องกัน แสดงว่าต้องการโฆษณาให้ประชาชน หลงเชื่อในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว
ส่วนความผิดฐาน ร่วมกันใช้ตราพระมหามงกุฎโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวังว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ขอพระราชทานอนุญาตใช้เครื่องหมายพระมหามงกุฎ และอุนาโลม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าตรามงกุฏที่ใช้ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัวนั้น นำแบบมาจากตราที่ปรากฏเป็นสัญลักษณ์มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ จึง ฟังได้ว่าตรามงกุฎที่ประทับไว้ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัว เป็นการทำเลียนแบบขึ้นและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47, 48 และ 59 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้เรียงลงกระทงลงโทษ โดยให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทหนักสุด และให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีกเป็นเวลา 1 ปี และปรับบริษัทฯ จำเลยที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ฐานใช้และเลียนแบบเครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และปรับบริษัทฯ จำเลยที่ 2 รวม 12,000 บาท โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้ง 921 คนที่เช่าพระสมเด็จเหนือหัว แต่ไม่ให้เกินจำเลย 4,055,916 บาท
ภายหลังฟังคำพิพากษานายสิทธิกร ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวตลอดการพิจารณาคดี ยังคงมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวแต่อย่างใด