xs
xsm
sm
md
lg

เลขาศาลฎีกาฯ พาสื่อดูขั้นตอนการพิจารณาคดี ย้ำไม่อคติ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกานักการมือง พาสื่อเยี่ยมชมขั้นตอนการพิจารณาคดี เลขาฯ ยันศาลไม่ใช่คู่กรณีของคู่ความ ไม่เคยอคติกับใคร แต่เป็นองค์กรตัดสินคดีตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ย้ำหากศาลไม่เป็นหลัก สังคมจะอยู่ไม่ได้




วันนี้ (22 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายฐานันท์ วรรณโกวิท ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในศาลฎีกาให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนโดยกรมประชาสัมพันธ์ ที่เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงาน ขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พร้อมกล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นตัวแทนนำความรู้ไปสู่สังคม ขอให้นำความจริงจากการพิจารณาพิพากษาไปสู่สังคม ศาลฎีกาฯ เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งมีการพัฒนามาตามลำดับ ตัดสินคดีประวัติศาสตร์ไปหลายคดี การจัดองค์คณะไม่มีการกำหนดตัวผู้พิพากษา แต่ใช้ระบบการประชุมใหญ่และผู้พิพากษาเลือกกันเองโดยพิจารณาลับ

ด้าน นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชน โดยกรมประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ร่วมเดินทางมาดูงานและขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเลขานุการศาลฎีกาฯ ได้ลำดับความเป็นมาของศาลฎีกาฯ ที่มีการจัดตั้งเมื่อ ปี 2543 และลักษณะคดีที่จะยื่นฟ้องว่า ผู้ที่มีอำนาจฟ้อง คืออัยการสูงสุด หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการตรวจสอบการทกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ได้แก่ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สิน ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วนที่ 3 การถอดถอนออกจากตำแหน่ง และส่วนที่ 4 การดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการดำเนินคดี กรรมการ ป.ป.ช.กรณีร่ำรวยผิดปกติกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือละเว้นการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ ขณะที่การพิจารณาพิพากษาคดีจะมีการเลือกผู้พิพากษาที่มาเป็นองค์คณะจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาด้วยวิธีการลงคะแนนลับ

ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีพลังในการนำเสนอความจริงทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายไปสู่สังคม และขอให้ช่วยกันสร้างสรรค์ โดยสื่อสารอย่างมีสติ สื่อด้วยปัญญา มีเจตนาบริสุทธิ์ มีความเป็นกลาง และมีความกล้าหาญ อีกทั้งอยู่บนความถูกต้อง ตนขอให้สื่อเป็นพลังสำคัญในการสื่อสารให้สังคมเกิดสติ ศาลไม่เป็นหลัก สังคมจะอยู่ไม่ได้ สังคมต้องปล่อยให้ศาลมีโอกาสทำงาน ศาลไม่ใช่คู่กรณีของคู่ความ อย่างไรก็ตาม จากคดีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ทั้งหมด หลังจากก่อตั้งศาลหลายสำนวนมีจำเลยจำนวนมากถูกยื่นฟ้อง อยากให้ให้สังเกตดูว่าศาลไม่ได้มีคำพิพากษาตามที่อัยการ หรือ ป.ป.ช. หรือ คตส.ร้องเข้ามาทั้งหมด แต่จะพิพากษาลงโทษ เฉพาะจำเลยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

“อยากเตือนสติประชาชนว่าศาลไม่ใช่คู่กรณี การทำหน้าที่ของศาลไม่ได้ขึ้นอยู่ในวิสัยที่เป็นอคติที่ให้ผลคดีเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง และที่ผ่านมาในการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสิน เช่น คดีจัดซื้อต้นกล้ายางพารา มีทั้งนักวิชาการ ผู้มีความรู้ทางกฎหมาย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งตามมารยาทแล้วห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริงโดยเด็ดขาดแต่สามารถวิจารณ์ข้อกฎมายได้ เพราะถือว่าผู้วิจารณ์ ไม่ได้เห็นข้อเท็จจริง ไม่ได้เห็นสำนวน และไม่ใช่องค์คณะผู้พิพากษา ศาลคือองค์กรตัดสินคดี ถ้าศาลไม่มีหลักน่าเชื่อถือ แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร” นายอนุรักษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย นายอนุรักษ์กล่าวว่า ศาลฎีกาฯ จะต้องดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ แต่ไม่อาจบอกได้ว่าจะขอกำลังจากหน่วยงานใดมาบ้าง แต่ยืนยันว่า จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตามช่องทางที่มีอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้น ศาลจะใช้กฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในการดำเนินการ

ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งถามว่า คำพิพากษาของศาลจะยึดทรัพย์สินทั้งหมดเลยหรือไม่ และมติจะเป็นเอกฉันท์หรือไม่ นายอนุรักษ์ได้แต่ยิ้มรับพร้อมกล่าวว่าเรื่องนี้ตอบไม่ได้ ตนไม่ใช่องค์คณะ และไม่รู้ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ต้องรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เท่านั้น

ถามว่ากรณีที่มีคนปล่อยข่าวเสนอสินบนให้องค์คณะคนละ 1 พันล้านบาท จะดำเนินการอย่างไร นายอนุรักษ์กล่าวว่า กรณีนี้เกินขอบเขตอำนาจของตน

ถามว่ามาตรการดูแลความปลอดภัยองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์เลขานุการศาลฎีกาฯ กล่าวปฏิเสธว่า เรื่องนี้เป็นความลับไม่สามารถเปิดเผยได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศ รอบอาคารศาลฎีกา ปรากฏว่าขณะนี้มีนำแผงเหล็กกั้นมาติดตั้งโดยรอบๆ ห่างจากรั้วและประตูทางเข้าออก ประมาณ 2 เมตร และบริเวณทางเท้านอกรั้วศาลฎีกา มีการตั้งเต็นท์สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล สารวัตรทหาร (สห.) และเจ้าหน้าที่เทศกิจ 3 แห่งตรงประตูทางเข้าออก 3 จุด แต่ละเต็นท์มีกำลังมากกว่า 30 นาย เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ภายในบริเวณศาลฎีกายังมี รปภ.สวมเสื้อเกราะเดินตรวจเป็นระยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น