ปภ.สรุปตัวเลขอุบัติเหตุ 7 วันขับขี่ปลอดภัย ยอดเสียชีวิตรวม 347 ราย บาดเจ็บ 3,827 ราย เชียงใหม่-เชียงราย-นครศรีธรรมราช ครองแชมป์ตายสูงสูด 12 ศพ ส่วนยโสธรอั้นไม่ไหววันสุดท้ายมีผู้เสียชีวิตจนได้ ด้านอธิบดีกรมคุมประพฤติ เผย ตัวเลขดำเนินคดีจับเมาแล้วขับในกรุงเทพฯ มากสุด 483 คดี พร้อมเตรียมงานบริการสังคมดูแลคนพิการไว้เตือนใจพวกเมาแล้วขับ
วันนี้ (5 ม.ค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามโครงการ 7 วันขับขี่ปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน สำหรับสถิติรวมระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.52 ถึง 4 ม.ค.53 พบว่า มีอุบัติเหตุรวมเกิดขึ้นทั้งหมด 3,534 ครั้ง เทียบกับปีที่แล้ว ลดลง 290 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 3,827 คน ลดลงจากเดิม 1,280 ครั้ง และจำนวนผู้เสียชีวิต รวม 7 วัน 347 คน ลดลงจากเดิม 20 คน ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และนครศรีธรรมราช จำนวน 12 คน ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ได้แก่ จ.สกลนคร อ่างทอง ปัตตานี นราธิวาส ขณะที่ จ.ยโสธร มีผู้เสียชีวิต 1 คน ในวันสุดท้ายของการรณรงค์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 14.00 น. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย จะเดินทางมาเป็นประธานแถลงข่าวสรุปภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งปิดศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย
ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า สถิติจำนวนผู้เมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติในช่วง 7 วันอันตราย พบมีทั้งสิ้น 3,638 คดี โดยกรุงเทพฯ มีมากที่สุด 483 คดี ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 พบว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเข้มงวดในการตั้งด่าน และการบังคับใช้กฎหมายจราจร ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตของปีใหม่ 2553 ลดลงประมาณร้อยละ 5 ชี้ให้เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมีผลในเชิงป้องกันได้ และหากมีการตั้งด่านตรวจจับเมาแล้วขับอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะทำให้สถิติผู้ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต สามารถลดลงได้อีก อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมวางแผนปฏิบัติการป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวถึง 6 วันด้วย
“สำหรับงานบริการสังคมที่กรมคุมประพฤติเตรียมไว้ให้ผู้กระทำความผิด คือ การดูแลผู้ป่วย และพิการจากเหตุเมาแล้วขับ ทั้งนี้ เพื่อเตือนใจ นอกจากนี้จะมีกิจกรรมฟังเทศน์ ฟังธรรม และอบรมโทษภัยของสุรา และกฎหมายจราจร รวมทั้งให้บริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น” นายชาญเชาวน์กล่าว