xs
xsm
sm
md
lg

เผยสถิติปี 52 ฟ้องร้องกันในศาลยุติธรรม กว่า 1.2 ล้านคดี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
รองเลขาศาลยุติธรรม เผยสถิติ ปี 52 มีคดีฟ้องร้องเข้าสู่ศาลกว่า 1.2 ล้านคดี แบ่งเป็นคดีอาญา 5.7 แสนคดี ที่เหลือเป็นคดีแพ่ง,ผู้บริโภค,ล้มละลาย พิพากษาไปได้กว่าล้านคดี ชี้กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นช่องทางสำคุญลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาล

วันนี้ (1 ม.ค.) ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2552 ของศาลยุติธรรม ด้านคดีความว่า ในศาลชั้นต้นมีคดีเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 1,262,873 คดี เป็นคดีแพ่งจำนวน 300,810 คดี เป็นคดีอาญา 575,294 คดี คดีผู้บริโภค 356,230 คดี คดีล้มละลาย 30,539 คดี พิพากษาเสร็จสิ้นไป 1,067,907 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 242,050 คดี คดีอาญาจำนวน 508,497 คดี คดีผู้บริโภค 298,165 คดี คดีล้มละลาย 19,195 คดี คิดเป็นร้อยละ 84.56 ของปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณา

นายสราวุธกล่าวว่า หากจะดูข้อหา 4 อันดับแรกที่มีการฟ้องร้องในคดีแพ่งจะพบว่า อันดับ 1 เรื่องขอจัดการมรดกจำนวน 62,416 คดี อันดับ 2 เรื่องละเมิด 21,183 คดี อันดับ 3 เรื่องยืม 19,674 คดี อันดับ 4 เรื่องซื้อขาย 8,000 คดี ส่วนคดีผู้บริโภค ที่มีการฟ้องร้องกันมาก 4 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สินเชื่อบุคคล/กู้ยืม/ค้ำประกัน จำนวน 146,465 คดี อันดับ 2 บัตรเครดิต 92,680 คดี อันดับ 3 กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 52,924 คดี อันดับ 4 เช่าซื้อรถยนต์ 33,884 คดี และความผิดคดีอาญา อันดับ 1 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 135,793 คดี อันดับ 2 พ.ร.บ.การจราจรทางบก 110,730 คดี อันดับ 3 พ.ร.บ.การพนัน 70,774 คดี และอันดับ 4 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 38,482 คดี

นายสราวุธกล่าวว่า สำหรับคดีในส่วนของศาลชำนัญพิเศษ มีปริมาณคดีเข้าสู้การพิจารณาของศาลภาษีอากร ทั้งสิ้น 478 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 308 คดี คิดเป็นร้อยละ 64.44 ซึ่งคดีที่ฟ้องร้องกันมากที่สุด ประกอบด้วย 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม 128 คดี 2.พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 59 คดี 3.พ.ร.บ.ศุลกากร 53 คดี และ 4.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 41 คดี ส่วนคดีแรงงานที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 26,103 คดี พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 17,336 คดี คิดเป็นร้อยละ 66.41 อันดับ 1 เรื่องขอให้จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา 7,243 คดี อันดับ 2 เรื่องขอให้คิดค่าชดเชย 6,704 คดี อันดับ 3 ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า 6,011 คดี และ อันดับ 4 ขอให้รับกลับเข้าทำงานและหรือให้จ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,993 คดี

“ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 8,464 คดี แบ่งออกเป็นคดีแพ่งจำนวน 1,283 คดี เป็นคดีอาญา 7,361 คดี พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 7,507 คดี เป็นคดีแพ่ง 664 คดี คดีอาญา 6,843 คดี คิดเป็นร้อยละ 86.83 ของปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณา หากดูข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณา 4 อันดับแรกพบว่า คดีแพ่ง อันดับ 1 เรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ 169 คดี อันดับ 2 รับขนทางทะเล 113 คดี อันดับ 3 สัญญาทรัสต์รีซีท สัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต 61 คดี อันดับ 4 เพิกถอนคำวินิจฉัยคระกรรมการเครื่องหมายการค้า 40 คดี ส่วนคดีอาญา อันดับ 1 ปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า 2,433 คดี อันดับ 2 จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ อันดับ 3 นำเข้าจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้า 1,913 คดี และอันดับ 4 พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ 657 คดี”

นายสราวุธกล่าวว่า ในส่วนของศาลเยาวชนและครอบครัว มีคดีเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 53,235 คดี เป็นคดีแพ่งจำนวน 16,414 คดี คดีอาญา 36,851 คดี พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 45,729 คดี เป็นคดีแพ่ง 13,621 คดี คดีอาญา 32,105 คดี 4 อันดับแรกที่มีการฟ้องกันมากที่สุดในคดีแพ่ง อันดับ 1 ฟ้องหย่า 5,408 คดี อันดับ 2 ร้องขอต่อศาลให้มีการสั่งให้ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร 2,456 คดี อันดับ 3 ขอให้สั่งเรื่องอำนาจปกครองบุตร 1,213 คดี อันดับ 4 ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าอำนาจปกครองบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่กับบิดาหรือมารดา 934 คดี ส่วนคดีอาญา อันดับ 1 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 9,487 คดี อันดับ 2 ความผิดฐานลักทรัพย์ 5,566 คดี อันดับ 3 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ 3,838 คดี อันดับ 4 พ.ร.บ.จราจรทางบก 2,960 คดี

นายสราวุธกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลล้มละลาย ทั้งสิ้น 30,986 คดี เป็นคดีล้มละลายจำนวน 30,583 คดี คดีฟื้นฟูกิจการ 54 คดี คดีสาขา 371 คดี และคดีอาญา 23 คดี พิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 19,449 คดี ประกอบด้วยคดีล้มละลาย 19,195 คดี คดีฟื้นฟูกิจการ 37 คดี คดีสาขา 207 คดี และคดีอาญา 10 คดี คิดเป็นร้อยละ 62.77 ของปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณา คดีฟื้นฟูกิจการ ที่มีการฟ้องกันมากที่สุด อันดับ 1 คำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแทน หรือผู้ทำแผนชั่วคราว 19 คดี อันดับ 2 คำสั่งยกคำร้องขอ 16 คดี อันดับ 3 คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ 15 คดี อันดับ 4 คำสั่งเห็นชอบด้วยแผน 11 คดี ส่วนคดีแพ่ง อันดับ 1 คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 15,430 คดี อันดับ 2 คำสั่งปิดคดี 3,010 คดี อันดับ 3 คำพิพากษาให้ล้มละลาย 3,001 คดี และอันดับ 4 คำสั่งปลดล้มละลาย 498 คดี

“คดีความเข้าสู่การพิจารณาของศาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เครื่องมือสำคัญในการลดปริมาณคดีคือการไกล่เกลี่ยประนอมความ ซึ่งจัดขึ้นทุกศาลทั่วประเทศ และสามารถลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาลได้เป็นจำนวนมาก” รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น