คำสั่งเด้งฟ้าผ่าของพล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. ที่ให้เก็บ หุ่นตำรวจที่ยืนประจำอยู่ตามสี่แยกต่างๆ ทั่ว กทม. ซึ่งคนเมืองกรุงรู้จักคุ้นเคยกันจนได้รับฉายาว่า “จ่าเฉย” เข้าไปเก็บไว้ในโรงพัก เนื่องจากเห็นว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรและทำให้ตำรวจจราจรอู้งานหลบแดดหลบลมไปตากแอร์อยู่แต่ในป้อมยาม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากทั้งสื่อมวลชน ประชาชนที่ส่วนใหญ่จะออกมาเรียกร้องให้นำ “จ่าเฉย” มาตั้งไว้ที่เดิม และปกป้องเสมือน “จ่าเฉย” เป็นตำรวจน้ำดีที่ประชาชนต้องการ
“เสียดายครับ ไม่รู้เข้าใจอะไรกันผิดหรือเปล่า ผมเข้าใจว่า จ่าเฉย ไม่ได้ช่วยในการลดการรถติดแต่จุดประสงค์คือ เพื่อ "ลดการทำผิดกฏจราจร" ขับมามืด ๆ บางที ข้ามแยก เห็นยืนอยู่ เป็นตำรวจ คนก็ไม่กล้าฝ่าไฟแดงสัญญาณไฟ มันช่วยลดไม่มากก็น้อยครับ ไม่น่าเอาออกเลย”
“ตำรวจดีๆดันมาปลด ทำงานขยันขันแข็ง ไม่เคยเบียดเบียนหรือยิงแก๊สนํ้าตาใส่ประชาชน ตำรวจเลวๆเดินไถชาวบ้านเกลื่อนเมืองดันไม่ปลด ตำรวจดีๆก็เหมือนผี รู้ว่ามีอยู่จริงแต่ไม่เคยเจอ”
“ของเขาดีจริงๆ นะ เด้งเขาทำไมหล่ะ ทีพวกไม่รู้จักทำงานทำใมไม่เด้งหล่ะครับท่าน เขาอดทนจะตากแดดเอย ฝนเอย ไม่เห็นบ่นซักคำ ไถก็ไม่เป็น ส่วยก็ไม่รับ วันๆทำแต่งานยังจะมาเด้งเขาอีก เฮ้อตำรวจไทย”
นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่ง จากความเห็นของผู้ที่ได้ทราบข่าวการเด้ง “จ่าเฉย” โดยเหตุส่วนใหญ่ก็มองว่าจริงๆ แล้ว “จ่าเฉย” ไม่ได้มีไว้แก้ปัญหาจราจรอย่างที่ผบช.น. คิด แต่เป็นการช่วยป้องปรามผู้ที่คิดจะฝ่าฝืนกฎจราจร ก็ยังดี กว่าไม่มีตำรวจจราจร หรือมีแล้วไม่ออกมาปฏิบัติหน้าที่
แต่สำหรับนายอนุชิต วาณิชย์เสริมกุล เจ้าของบริษัทเมเจอร์ เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัทผู้ผลิต “จ่าเฉย” ได้บอกเล่าแนวคิดและที่มาจริงๆ ของ “จ่าเฉย” ไว้ว่า เกิดจากความรู้สึกว่า ตำรวจจราจรที่ยืนประจำอยู่ตามจุดต่าง ๆ มักจะยืนอยู่ในจุดที่ล่อแหลม ตามแยกสัญญาณไฟจราจรหรือจุดที่มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการป้องปรามผู้ขับขี่รถ ไม่ให้กระทำผิดและลดอุบัติเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถยืนอยู่ได้ตลอด 24 ชม.ต้องพักเหนื่อยบ้าง จึงมีไอเดียในการสร้างพลสำรองจราจรมาช่วยงานด้านจราจรของตำรวจ
นายอนุชิต กล่าวอีกว่า หุ่นตำรวจหรือพลสำรองที่ทำขึ้นมาให้ตำรวจนั้น เกิดจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับตำรวจจราจรบ่อยครั้ง เนื่องจากเมื่อ 10 ปีก่อน เคยออกแบบป้อมตำรวจที่มีหลังคาเป็นหมวกตำรวจใบใหญ่ตั้งอยู่ตามแยกต่าง ๆ ระหว่างส่งมอบมีการพูดคุยกันตลอดว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนระมัดระวังมากขึ้น ไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร จึงคิดไอเดียขึ้นมาว่า คนมักกลัวตำรวจ ถ้าเราทำหุ่นเหมือนตำรวจจราจรไปแอบตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำเพื่อผลัดเปลี่ยนเวรกัน คนก็จะคิดว่าเป็นตำรวจไม่กล้าฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยเราอยู่แล้ว เมื่อได้ความคิดแล้วผมจึงเดินทางไปหาอาจารย์ซึ่งเป็นศิษย์เก่าเพาะช่างที่โคราช เพื่อขอให้ช่วยปั้นหุ่นตำรวจจราจร โดยบอกสเปกว่าอยากได้หุ่นผู้ชายไทย ใจดียิ้มแย้ม ให้เหมือนจ่าใจดีคนหนึ่ง
“หุ่นตัวแรกทำขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2551 และนำไปตั้งที่แยกพหลโยธินตัดวิภาวดีฯ ได้รับผลการตอบรับจากตำรวจเป็นอย่างดีว่า มีประโยชน์ จากนั้นได้คิดหาผู้ร่วมอุดมการณ์ในการสนับสนุนงบประมาณในการทำตัวละ 28,000 บาท เพื่อติดตั้งตามจุดอื่น ๆ อีก” นายอนุชิต กล่าว
พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น.รับผิดชอบงานจราจร ได้กล่าวถึงการเริ่มนำจ่าเฉยมาช่วยงานตำรวจจราจรว่า เริ่มจากโรงพยาบาลวิภาวดี ที่ให้การสนับสนุนตำรวจจราจร ร่วมกับภาคเอกชนอื่นๆ ในการจัดทำหุ่นเอาไปตั้งไว้ตามแยกหรือจุดสำคัญที่มักจะมีผู้ฝ่าฝืนหรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ จากนั้นก็ได้ประสานไปยังทุกท้องที่ดูว่า จุดใดที่ควรติดตั้งก็จะได้เอาไปแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกทางหนึ่ง
“หลังจากนำหุ่นดังกล่าวไปตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ก็ได้ผลพอสมควร จากการพูดคุยกับผู้ขับขี่ยานยนต์บอกว่า เหมือนกับเห็นตำรวจแล้วไม่อยากกระทำผิด แม้จะเป็นตำรวจหุ่นก็ตาม ไม่รู้ว่ามีคนอื่นเฝ้าดูอยู่หรือเปล่า” พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว
จากแนวคิดริ่เริ่มและที่มาในการทำ “จ่าเฉย” ของทั้งผู้คิด ผู้สนับสนุน และตำรวจ ก็ทำให้เห็นว่าต้องการลดอุบัติเหตุ ด้วยการป้องปรามอย่างละมุนละม่อม และต้องการช่วยลดภาระตำรวจชั้นผู้น้อยที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ในจุดที่เสี่ยงอุบัติเหตุ อย่างน้อยคนที่เห็น “จ่าเฉย” ครั้งแรกก็คงดึงเข็มขัดนิรภัยมาคาด ไม่เร่งความเร็วรถฝ่าไฟแดง หรือทำผิดกฎจราจรอื่นๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและสูญเสีย เพียงแต่การตั้งในจุดเดิมๆ ก็อาจจะถูกจับได้ แต่เขาก็จะระลึกถึงกฎจราจร และดึงเข็มขัดนิรภัยมาคาดด้วยรอยยิ้มขำๆ
คงดีกว่าการเจอด่านจับปรับในชั่วโมงเร่งด่วน หรือเจอด่านลอยด่านเถื่อนที่อ้างว่าเป็นการป้องปรามลดอุบัติเหตุ ที่คนเมืองกรุงคงขำไม่ออก เหล่านี้ เป็นปัญหาที่ผบช.น.ควรมาเร่งสะสางมากกว่าการเด้ง"จ่าเฉย"ที่ไม่เคยจับปรับใครให้เดือดร้อน แม้จะไปอยู่จุดไหนใน กทม. นี่คงเป็นสาเหตุที่หลายคนแสดงความคิดเห็นคัดค้านกับคำสั่งเด้ง “จ่าเฉย” เก็บเข้ากรุ
อย่างไรก็ตามหลายคนก็สนับสนุนที่ พล.ต.ท.สัณฐาน สั่งรื้อฟิล์มตามป้อมยามกันลูกน้องอู้งานมานั่งดูทีวี หรืองีบหลับ หากดำเนินงานตรวจสอบเอาจริงเอาจัง รวมทั้งรับฟังเสียงร้องเรียนของประชาชนในการตั้งด่านตรวจจับต่างๆ ให้โปร่งใสไม่รีดไถก็จะถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่คนกรุงถือเป็นของขวัญปีใหม่
สุดท้ายฝากถึง พล.ต.ท.สัณฐาน ให้คิดเป็นการบ้านหลังดอดไปตรวจลูกน้องตาม สน.ต่างๆ ยามวิกาล ว่าอย่าลืม “จ่าเฉย” ที่เก็บมาแม้จะเป็นงบที่ขอความสนับสนุนจากเอกชน แต่ตัวหนึ่งก็ราคาเกือบ 3 หมื่นบาท จะเอาไปทิ้งขว้างไว้ตาม สน. คงไม่ได้ประโยชน์อะไร ต่อไปของบสนับสนุนจากคนอื่นเขาก็คงคิดหนักว่า จะเอาไปใช้โดยเปล่าประโยชน์อีกหรือไม่