ยอด 7 วัน หลังเริ่มบังคับใช้กฎหมายโทร.ไม่ขับมากถึงกว่าพันราย ฝ่าฝืนตกวันละ 200 ราย ขณะที่ “ภาณุ” ยอมรับการเอาผิดกับผู้ขับขี่เจอปัญหามากมาย เช่น รถติดฟิล์มกรองแสงทึบทำให้มองไม่เห็น กล้อง CCTV ดิจิตอลมีไม่พอ อีกทั้ง รถวิ่งเร็วทำให้เรียกให้หยุดจับไม่ทัน ย้ำจะไม่เสริมกำลังจราจรเพิ่มตรวจจับเพราะข้อหาเป็นความผิดเล็กน้อย แต่จะนำเหตุทั้งหมดมาประเมินปรับปรุงใช้กับงาน วอนประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัดลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 11.00 น. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานจราจร แถลงสรุปสถิติภายหลังกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ในระยะแรกตั้งแต่ 8-19 พ.ค.ตำรวจได้ใช้มาตรการตักเตือนก่อน โดยสถิติจับกุมผู้ที่กระทำผิดโทรศัพท์ขณะขับรถตั้งแต่วันที่ 8-14 พ.ค.2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,294 ราย โดยเฉลี่ยพบผู้กระทำผิดวันละกว่า 200 ราย
พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวว่า เนื่องจากข้อหานี้เป็นเพียงความผิดเล็กน้อยที่เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งตำรวจเองก็ไม่ได้เพิ่มกำลังมาดูแลแต่อย่างใด ซึ่งในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่ผ่านมา ตร.มีข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่หลายประการ อาทิ การที่ผู้ขับขี่ติดฟิล์มกรองแสงทึบทำให้เจ้าหน้าที่มองเห็นไม่ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงฝนตกและเวลากลางคืน การตรวจจับขณะรถเคลื่อนที่ ทำให้เรียกรถหยุดไม่ทัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจับ เช่น กล้องดิจิตอล ยังมีไม่เพียงพอ ความไม่สะดวกเรื่องการเรียกตรวจ เพราะเจ้าหน้าที่เกรงว่าหากไม่มีนายตำรวจสัญญาบัตรอยู่ด้วย อาจถูกมองว่าเป็นการตั้งด่านเถื่อน นอกจากนี้ การกระทำผิดมักพบในชั่วโมงที่เร่งด่วน ซึ่งหากมีการเรียกตรวจก็อาจส่งผลให้การจราจรติดขัด
พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ขับขี่เองก็มีปัญหาและข้อโต้แย้งที่เสนอมา ซึ่งที่ผ่านมาผู้ขับขี่มักอ้างว่าไม่รู้วันเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ ยังไม่มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ มือถือรุ่นเก่าใช้บลูทูธไม่ได้ ขณะที่บางส่วนอ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้ขอขยายระยะเวลาอีกเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเอง หรือ ค่าปรับค่อนข้างสูงอยากให้ปรับลดลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก อย่างไรก็ตาม ตร.เองจะไปดูในปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และผู้ขับขี่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
“กฎหมายนี้เกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมทาง ซึ่งในการรักษากฎหมายจะให้เพิ่มกำลังตำรวจมาดูแลคงไม่ได้ ผู้ขับขี่ทุกคนจึงต้องช่วยกันตระหนัก ขณะที่ผู้ใช้รถใช้ถนนเองก็จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อที่ตำรวจจะได้ไม่เปลืองกำลังมาดูแลตรงนี้ ซึ่งหากช่วยกัน การใช้รถใช้ถนนก็จะปลอดภัยมากขึ้น” รอง ผบช.น. กล่าว