xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ครองแชมป์กังฉินรับส่วย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองเลขาธิการป.ป.ท.
ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ เผยประชาชนจ่ายส่วยให้ “ตำรวจ” มากที่สุด รองลงมาคือ กรมที่ดิน อำเภอ และสำนักงานเขต แนะรัฐตั้งภาคประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส

วันนี้ (20 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า เอแบคโพลล์ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยเรื่อง “ประเมินสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ และประสบการณ์ในการถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีศึกษาประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ และสมาชิกรัฐสภา” รวม 2,129 ตัวอย่าง

นายนพดลกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.2 และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.1 มองว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยอยู่ในระดับที่รุนแรงมากถึงมากที่สุด โดยประชาชนทั่วไปที่มีประสบการณ์ต้องจ่ายเงิน เลี้ยงดูปูเสื่อ สินบน และเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่รัฐตลอดชีวิตที่ผ่านมามีอยู่ร้อยละ 39.8 ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจประสบปัญหาหนักมากกว่า คือ ร้อยละ 50.6 เคยต้องจ่ายเงิน เลี้ยงดูปูเสื่อ สินบน ตลอดช่วงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา

นายนพดลกล่าวต่อไปว่า ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ประสบปัญหาต้องจ่ายให้กับ “ตำรวจ” มากกว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ รองลงมา คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือสำนักงานเขต และที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 1 ใน 4 ของผู้ถูกศึกษา หรือร้อยละ 28.4 ในกลุ่ม ส.ส. และร้อยละ 30.2 ในกลุ่ม ส.ว.ยังมีทัศนคติอันตรายที่มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบธุรกิจ

“นอกจากนี้ ทัศนคติที่มองว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าคอร์รัปชันแล้ว ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดี กินดี ก็ยอมรับได้ มีเกินกว่า 1 ใน 4 เช่นกันหรือร้อยละ 26.5 ในกลุ่ม ส.ส.แต่ในกลุ่ม ส.ว.จะมีอยู่น้อยกว่า คือมีอยู่ร้อยละ 15.4 ของผู้ถูกศึกษาที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.ทั้งหมด” นายนพดล กล่าว

นายนพดลกล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแนะจากประชาชนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เกือบทั้งหมดเสนอแนะว่า อันดับแรก ควรมีระบบฐานข้อมูลเฝ้าระวังปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลไทยและหน่วยงานรัฐต้องพร้อมถูกตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างโปร่งใส และทุกหน่วยงานของรัฐมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เป็นองค์กรอิสระภายนอกประจำกระทรวง หรือหน่วยงานหลักต่างๆ และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกความตระหนักต่อผลร้ายของปัญหาคอรัปชั่นแก่เด็กและเยาวชน

ด้าน พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองเลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ตำรวจเป็นกลุ่มที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มที่เรียกรับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะประชาชนมีโอกาสสัมผัสกับตำรวจมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐอื่น จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อรู้กลุ่มแล้วว่าเป็นตำรวจก็จะต้องมีการทำสำรวจลึกลงไปว่าแต่ละกลุ่มมีการเรียกรับเงินในเม็ดเงินจำนวนเท่าใด เพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรณรงค์ให้สังคมบีบบังคับให้คนโกงต้องเลิกให้หมดก็จะทำให้ปัญหาการทุจริตลดลงได้

พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันมาก แต่กระบวนการตรวจสอบ การเปิดโปง การจับกุมผู้กระทำผิดก็มากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากมองโดยรวมระบบของเราดีขึ้น มีการตรวจสอบกันมากขึ้น และเชื่อว่าเมื่อระบบทุกอย่างมีความสมบูรณ์ ปัญหาเหล่านี้ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ

พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวว่า แนวทางในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในส่วน ป.ป.ท.มีการสร้างเครือข่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น สมาคมข้าราชการบำนาญ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ รวมถึงบุคลากรภายในองค์กร มีส่วนช่วยในการตรวจสอบ และสอดส่องดูแล

“ถ้าหากทุกคนช่วยกันตรวจสอบ อย่าเห็นว่าธุระไม่ใช่ เมื่อเห็นอะไรไม่ชอบมาพากล ต้องแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งคนที่กระทำผิด เมื่อเห็นว่ามีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็เกิดความละอาย หรือความกลัวไม่กล้ากระทำ เพราะเห็นว่ามีคนคอยเฝ้าระวัง แม้คิดจะทำผิด แต่ทำได้ยาก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดลง” พ.ต.อ.ญาณพล กล่าว
นายนพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์
กำลังโหลดความคิดเห็น