“พงศพัศ” อ้างตามตัว “ทักษิณ” เป็นหน้าที่อัยการสูงสุด และ ก.การต่างประเทศ ระบุ ตร.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง พร้อมสั่งสันติบาลประสาน ก.การต่างประเทศ ตรวจสอบคำสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในไทมส์ออนไลน์ แปลข้อความ และพิจารณาเข้าข่ายหมิ่นหรือไม่
วันนี้ (10 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผช.ผบ.ตร.ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า จริงๆ แล้ว การติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดี เป็นเรื่องของอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งทาง อสส.ดำเนินการมานานแล้ว ตาม พ.ร.บ.การจัดส่งผู้ร้ายข้ามแดน ภายใต้ความร่วมมื่อกันของประเทศต่างๆ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมดำเนินการด้วย ในส่วนของตำรวจได้มีการประสานงานกับ อสส.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะของกลุ่มประเทศอาเซียน เรามีโครงขายที่เรียกว่า อาเซียนนาโพล หรือ ตำรวจอาเซียน ซึ่งจะช่วยกันดูแลแก้ปัญหาอาชญากรรม โดยตำรวจไทยโดยกองการต่างประเทศของเรา และตำรวจกองการต่างประเทศของกัมพูชา ก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทั้งนี้ เมื่อตำรวจแต่ละประเทศได้รับการประสานงานจาก อสส.หรือกระทรวงการต่างประเทศ ก็พร้อมปฏิบัติ
เมื่อถามว่า ในส่วนของ ตร.มีหน้าที่อย่างไรในความร่วมมือกับ อสส.และกระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า ตำรวจทำในทุกกรณีจะทำได้ แต่จะต้องได้รับการประสานจาก อสส.ใน เรืองการแจ้งถิ่นที่อยู่ ทาง อสส.มีข้อมูลชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของการเดินทาง การพำนักอาศัย หรือมีการประสานในระดับปฏิบัติ ซึ่งตำรวจเป็นส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตำรวจต้องอาศัยความร่วมมือในฐานะผู้ปฏิบัติ ตามนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศและ อสส.ส่วนความชัดเจนของแหล่งพำนักนั้น ไม่เป็นประเด็นสำคัญ อยู่ที่ว่าจะสามารถนำตัวมาได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการดังกล่าวค่อนข้างมากพอสมควร ซึงคิดว่า กระทรวงการต่างประเทศและอสส.ก็ดำเนินการอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า กรณีที่ผู้นำกัมพูชา ออกมาระบุว่า จะไม่นำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กับประเทศไทยจะเป็นปัญหาในเรื่องของขั้นตอนหรือ ไม่ พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นระดับนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศ ก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อจะได้ข้อสรุปที่ตรงกัน เช่นเดียวกับกรณี นายราเกซ สักเสนา ที่ประสบความสำเร็จในการเจรจา จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของตำรวจร่วมกับ อสส.ไปรับตัวมา
พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวถึงกรณี เว็บไซต์ไทมส์ออนไลน์ ที่เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเข้าข่ายหมิ่นสถาบันนั้น ทาง ตร.ได้ประสานกับ กระทรวงไอซีที เมื่อเช้าที่ผ่านมา โดยแนวทางการปฏิบัติ คือ เมื่อมีข้อความปรากฎทางเว็บไซต์ที่กระทบความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นเรื่องการกระทำผิดกฎหมาย กระทรวงไอซีทีก็มีศูนย์ที่จะติดตามเผ้าระวังตรงนี้อยู่แล้ว ทันทีที่พบมูลฐานการกระทำความผิด กระทรวงไอซีทีก็จะร้องมาทางตำรวจ ซึ่งเรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่จะถึงขั้นปิดหรือบล็อกเว็บไซด์นั้น ทางไอซีทีจะต้องทำเรื่องถึงศาล โดยศาลจะเป็นผู้สั่ง
พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการกับเว็บไซต์ไทมส์ออนไลน์ ทางกระทรวงไอซีที ก็ดำเนินการอยู่ คาดว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะมีความชัดเจน ในส่วนข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นฯนั้น ไม่ต้องห่วง ทางตำรวจสันติบาลก็ดูแลร่วมกับกระทรวงไอซีที และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกองการต่างประเทศดำเนินการแปลข้อความดังกล่าว และกระทรวงการต่างประเทศก็ให้ข้อมูลมาส่วนหนึ่งด้วย เมื่อแปลเสร็จสิ้นแล้วทางตำรวจก็มีคณะทำงาน พิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งตำรวจสันติบาล ฝ่ายกฎหมาย คิดว่าใช้เวลาไม่มาก แต่ต้องความรอบคอบ โดยจะอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลักในการดำเนินการ
ทางด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีการให้สัมภาษณ์ Times Online ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ได้แต่งตั้ง พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ทำการตรวจสอบข้อมูลคำให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ดังกล่าว พร้อมมอบให้สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ดำเนินการตรวจสอบ และแปลถ้อยคำทั้งหมดที่มีการเผยแพร่โดย Times Online ซึ่งสำนักกิจการต่างประเทศ ได้ดำเนินการแปลเสร็จทั้งหมดแล้ว ข้อมูลตรงกับที่หน่วยงานอื่นตรวจสอบ คือ เป็นถ้อยคำที่รุนแรง
ดังนั้น ดีเอสไอมีข้อมูลเตรียมพร้อมไว้ แต่คดีความผิดในเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจสอบสวนของดีเอสไอ จึงต้องรอฟังความชัดเจนจากรัฐบาล ว่า จะมอบหมายให้หน่วยงานใดดำเนินการ โดยการประชุมของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับคดีพิเศษประจำเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 25 พ.ย.นี้