ตำรวจ สตม.รวบแก๊ง CALL CENTER จีน ลวงเหยื่อชาติเดียวกันเอง มีพฤติกรรมโทรศัพท์หาเหยื่ออ้างตัวเป็นตำรวจ-อัยการ หว่านล้อมให้ผู้เสียหาย เชื่อว่า มีการทำผิดธุรกรรมการเงิน หลอกโอนเงินเข้าบัญชีผ่าน atm-ระบบออนไลน์ ระบุพบหลักฐานโอนเงินเสียหายกว่า 30 ล้าน ด้านตำรวจไต้หวันเตรียมขยายผลต่อจากแฟลชไดร์ฟ คาด มีข้อมูลเป็นประโยชน์อีกมาก
วันนี้ (8 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พ.ต.อ.ชาติชาย เอี่ยมแสง รอง ผบก.สส.สตม. พร้อม พ.ต.อ.บัณฑิต ตุงคะเศรณี ผกก.1 บก.สส.สตม.นายเจลี ตำรวจสากลไต้หวัน และกำลังเจ้าหน้าที่ กก.1 บก.สส.สตม.ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมตัวนายมัก ไว ฮัง อายุ 23 ปี นายจินเว่ย อายุ 25 ปี น.ส.เช็ง จู ชิง อายุ 42 ปี และ นายเฉิน ซิน อายุ 23 ปี ทั้งหมดเป็นชาวจีน พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ 21 เครื่อง โทรศัพท์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 6 เครื่อง แฟลชไดร์ฟ 44 อัน ฮาร์ดดิกส์ 2 ชุด สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย 4 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 5 ใบ สลิปการใช้งานบัตรเอทีเอ็ม 10 ใบ เงินหยวน จำนวน 25,100 หยวน หรือประมาณ 125,500 บาท และเงินไทยอีก 192,890 บาท โดยจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดได้ที่ห้องพักเลขที่ 60/283 ชั้น 11 อาคารชุดศุภาลัย พรีเมียร์ เพลส ตั้งอยู่เลขที่ 60 ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา
พ.ต.อ.ชาติชาย เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาแก๊งนี้ ถือวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาลักลอบใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์ Call Center โทรศัพท์ข้ามประเทศไปหลอกลวงเหยื่อชาวจีน และไต้หวัน ให้โอนเงินเข้าบัญชี โดยกลุ่มผู้ต้องหาจะแบ่งหน้าที่กันโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ พร้อมอ้างตัวว่า เป็นตำรวจสากลไต้หวันบ้าง หรือเป็นพนักงานอัยการบ้าง เพื่อพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อหลงเชื่อว่ากำลังมีส่วนพัวพันกับการกระทำผิดด้านการเงิน เพราะตรวจพบยอดเงินเข้า-ออก จากบัญชีของเหยื่อแบบผิดปกติและอาจจะถูกอายัดเงินทั้งหมด
จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาก็จะแนะนำให้เหยื่อปิดบัญชีเก่าแล้วโอนเงินเข้าในบัญชีใหม่ ที่ผู้ต้องหาได้ตระเตรียมเอาไว้โดยเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนอายัด เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะทำธุรกรรมตามที่ถูกแนะนำผ่านทางตู้เอทีเอ็มและระบบออนไลน์ E-Banking ทำให้บางรายต้องสูญเงินไปนับล้านบาท จากการกระทำผิดของกลุ่มผู้ต้องหาแค่ครั้งเดียว
ด้าน พ.ต.อ.บัณฑิต กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ให้การรับสารภาพว่า บางครั้งต้องปลอมแปลงหมายจับของศาลกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ขึ้นมา แล้วส่งแฟ๊กซ์ไปใช้หลอกลวงเหยื่อให้เชื่อสนิทใจ และเมื่อได้เงินจากบัญชีเหยื่อแล้ว ผู้ต้องหาแก๊งนี้ก็จะโอนไปแบ่งผลประโยชน์กับผู้ต้องหารายอื่นซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ผ่านทางระบบ E-Banking อีกด้วย
ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น ก็คือ เจ้าหน้าที่ พบว่า บัญชีธนาคารที่เหยื่อโอนเงินเข้ามาให้ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ Call Center กำมะลอ ปรากฏว่า มีชื่อเจ้าของบัญชีที่เป็นคนไทย มากถึง 4 เล่ม มียอดเงินโอนเข้ามารวมแล้วกว่า 2,739,560 บาท ส่วนหลักฐานการกดเงินทั้งหมดที่ยึดได้มียอดความเสียหายสูงถึง 30,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะทำการส่งของกลางคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ และแฟลชไดร์ฟ ทั้งหมดไปให้หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาที่เหลือต่อไป
ขณะที่ นายเจลี ตำรวจสากลไต้หวัน กล่าวว่า การจับกุมแก๊ง Call Center ในประเทศไทยรายนี้ ถือเป็นรายสำคัญและยึดของกลางได้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะแฟลชไดร์ฟ ซึ่งน่าจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เก็บอยู่มาก และตนคาดว่าน่าจะส่งผลให้คดีในทำนองนี้ที่ประเทศจีนและไต้หวันลดลงไปได้มาก ซึ่งต้องขอขอบคุณตำรวจ สตม.เมืองไทย มาในที่นี้ด้วย
นายเจลี กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ในเบื้องต้นทางการไทยได้เพิกถอนใบอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้ว แต่จะต้องรอผลการตรวจสอบข้อมูลจากของกลางที่ยึดได้ทั้งหมด เสียก่อนจึงจะดำเนินการแจ้งข้อหาตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากเตือนทั้งประชาชนชาวไทยและชาวจีน หากมีธุระต้องทำธุรกรรมทางการเงินก็ขอให้เดินทางไปที่ธนาคารเองจะดีกว่า เพราะปัจจุบันนี้การทำธุรกรรมผ่านระบบ E-Banking ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก