บริษัทผลิตลูกบอลดับเพลิง ฟ้องแพ่ง “อลงกรณ์ พลบุตร” และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน กรณีนำกำลัง ปศท.ตรวจค้นโรงงานผลิต ยึดลูกบอลดับเพลิง และสิทธิบัตร ศาลนัดพร้อมคู่ความ 1 ก.พ.ปีหน้า
วันนี้ (14 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ รับมอบอำนาจ บริษัท สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายลูกบอลดับเพลิง โดย นายพงศ์สรร เทพคุ้มกัน กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์, กระทรวงพาณิชย์, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา, บริษัท สยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิง, นายภณวัชร์นันท์ หรือ วรเดช ไกรมาตย์ กรรมการผู้จัดการ บจก.สยาม เซพตี้ พรีเมียร์, นายวิรัช พิพรพงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ บจก.สยาม เซพตี้ พรีเมียร์, นายจักกฤช ไกรมาตย์, พ.ต.ท.วัชรชัย ด้วงทอง พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.), พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ ประดับไทย พนักงานสอบสวน บก.ปศท., ร.ต.ต.บัญชา เจือจาน รอง สารวัตร กก.1 บก.ปศท.และ นายสมบูรณ์ เฉยเจริญ ผอ.สำนักงานป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นจำเลยที่ 1-12 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง จากกรณีที่นายอลงกรณ์ รมช.พาณิชย์ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปศท. ร่วมกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ บจก.สยาม เซพตี้ พรีเมียร์ ผู้ผลิต-จำหน่าย ลูกบอลดับเพลิง นำหมายศาลจังหวัดปราจีนบุรี เข้าตรวจค้นอาคารที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี สถานที่ผลิตลูกบอลดับเพลิงของ บริษัท สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี และยึดลูกบอลดับเพลิง 982 ลูก พร้อมฟิล์มสิทธิบัตร จำนวน 37,469 แผ่น โดยกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรผลิตลูกบอลดับเพลิง ขณะที่นายอลงกรณ์ ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2552 ว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีคำสั่งถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. อบจ.และเทศบาล หยุดรับซื้อลูกบอลที่ละเมิดสิทธิบัตรด้วย ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทและทำให้บริษัทต้องเสียหาย
โดย นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ กล่าวว่า ในการประกอบกิจการผลิตลูกบอลดับเพลิงนั้น บจก.สยาม เซพตี้ พรีเมียร์ ได้เชิญชวนให้กลุ่มบุคคลเข้าร่วมทุนดำเนินกิจการ แต่ภายหลังนายภณวัชร์นันท์ หรือ วรเดช ผู้บริหาร บจก.สยาม เซพตี้ พรีเมียร์ ได้ถอนตัวไป ผู้บริหาร บจก.สยามเซฟตี้ เทคโนโลยี โจทก์ จึงได้มาตั้งบริษัท ตั้งแต่เดือน มี.ค.2546 โดยตั้งแต่ ปี 2546 -2547 บริษัทมีคดีฟ้องร้องกันมาตลอด ขณะที่เมื่อปี 2548 บจก.สยาม เซพตี้ พรีเมียร์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นคดีหมายเลขดำ ทป.120/2548 กล่าวหา บจก.สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี ละเมิดสิทธิบัตร และขอให้ศาลไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ บจก.สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี ระงับการผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงตลาดในประเทศ ซึ่งปรากฏว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญา มีคำสั่งให้ บจก.สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี ผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงได้ในประเทศ ต่อมา บจก.สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยียื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อให้จำหน่ายลูกบอลดับเพลิงในต่างประเทศได้ โดยเมื่อเดือน ก.ย. 52 ที่ผ่านมาศาลฎีกา ก็มีคำสั่งให้ บจก.สยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี สามารถจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่ง นายอลงกรณ์ กลับให้ตรวจค้นและยึดลูกบอลที่บริษัทโจทก์ผลิตและมีการให้สัมภาษณ์จนได้รับความเสียหาย ส่วนที่นายอลงกรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทโจทก์ มีอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ดูแลนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะกรรมการบริหารบริษัท ไม่มีชื่อ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม มาร่วมบริหารงานแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภายหลังยื่นฟ้องแล้ว ศาลรับคดีไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1532/2552 และนัดพร้อมในวันที่ 1 ก.พ.2553 เวลา 08.30 น.