ฎีกายกฟ้อง บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน หมิ่น “ยุกติ สาริกะภูติ” อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ ใส่ความทำให้เสียงชื่อเสียง ชี้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และติชมด้วยความเป็นธรรม
วันนี้ (14 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลอาญาฯ ถ.รัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 713 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขแดง ที่ 3613/2545 ที่นายยุกติ สาริกะภูติ อายุ 68 ปี ข้าราชการบำนาญ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน กับพวก รวม 2 คน เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คำฟ้องโจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นประธานที่ปรึกษาสหพันธ์องค์การการเกษตรแห่งประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นประธานสหพันธ์องค์การการเกษตรแห่งประเทศไทย (ชั่วคราว) และเมื่อวันที่ 2-3 เม.ย. 2543 นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ได้เป็นผู้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ลงข้อความใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับปีที่ 10 ฉบับวันจันทร์ที่ 3 เม.ย.2543 ทำนองว่า ในการประชุมสามัญฯ ที่เกี่ยวกับการส่งออกพืชผลทางการเกษตร หรืองานวิชาการ นายยุกติ มักจะหาทางนำเสนอปัจจัยการผลิตและอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น ใยแก้วมุ้งที่ใช้ในการแปลงเกษตร และสินค้าอื่นๆ เข้าสู่วงสัมมนาเสมอ ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้เป็นสินค้าของบริษัท ที่นายยุกติเป็นที่ปรึกษาอยู่
การกระทำของจำเลยเป็นการเจตนาหมิ่นประมาท ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ให้ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 84, 326 และ 328 ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ 83 ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับทั้งหมดคำขออื่นให้ยก
ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ยื่นฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนการประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2550 เป็นต้นไป บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และที่แก้ไข แต่ความที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดของผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 แต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลัง มิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 มาตรา 215 และ 225
ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ว่าข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวและจำเลยที่ 1 นำไปตีพิมพ์นั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาทหรือทำให้โจทก์เสียหายหรือถูกดูหมิ่นนั้น เห็นว่าฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว จึงไม่เป็นสาระที่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณา
จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องความผิดสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา