xs
xsm
sm
md
lg

“จุลสิงห์” อสส.คนใหม่ เน้นเป็นกลาง-ตอบคำถามสังคมได้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภาได้มอบให้ผู้แทนพระองค์นำกระเช้าดอกไม้มาแสดงความยินดีกับนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ในโอกาสได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดคนใหม่
อัยการสูงสุดคนใหม่ “นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์” แถลงนโยบายบริหารงาน เน้นเป็นกลาง เที่ยงธรรม ทุกคำสั่งคดีต้องตอบคำถามสังคมได้


วันนี้ (1 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดคนใหม่ แถลงนโยบายการบริหารงานแ่ก่ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีรองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ รองอธิบดีอัยการทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาคและเจ้าหน้าที่กว่า 100 คนเข้าร่วมรับฟัง และมีการแพร่ภาพโดยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสำนักงานอัยการทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มแถลงนโยบาย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ได้มอบให้ผู้แทนพระองค์นำกระเช้าดอกไม้มาแสดงความยินดีแก่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ในโอกาสได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดคนใหม่ นำความปลาบปลื้มใจแก่นายจุลสิงห์อย่างยิ่ง

นายจุลสิงห์กล่าวว่า วันนี้กระบวนการทำความเห็นการสั่งคดีของอัยการค่อนข้างมีการพิจารณากลั่นกรองตามลำดับชั้นอย่างพอสมควร แต่การดำเนินคดีในชั้นศาลหลังจากที่มีคำสั่งฟ้องแล้ว ตนเห็นว่าควรจะต้องนำอัยการอาวุโสเข้ามาเป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงให้กับอัยการที่ทำหน้าที่ว่าความ เพราะโดยปกติในการว่าความจะมีอัยการรับผิดชอบสำนวน 1 คน ดังนั้น เพื่อความรัดกุม และรอบครอบ ควรจะนำอัยการอาวุโสที่มีประสบการณ์มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพราะอัยการไม่ใช่มีหน้าที่แค่ทำความเห็นแล้วสั่งฟ้อง แต่จะต้องติดตามดำเนินการว่าความในชั้นศาลให้เรียบร้อยให้สมกับที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีนั้นๆ

นายจุลสิงห์กล่าวต่อว่า วันนี้บ้านเมืองแบ่งเป็นสองฝ่าย ดังนั้นอัยการจะต้องมีความเป็นกลาง มีความนิ่งให้มากที่สุด เคยมีอดีตอัยการสูงสุดพูดไว้ว่า อัยการต้องยืนอยู่ข้างประชาชน แต่เมื่อวันนี้ประชาชนแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย เราต้องคิดว่าแล้วเราจะทำอย่างไร ซึ่งถ้อยคำในรัฐธรรมนูญที่ใช้กับอัยการเขียนไว้ว่า เที่ยงธรรม เป็นกลาง ดังนั้น อัยการจะต้องยึดหลักยุติธรรมและเป็นธรรมให้ได้ ตามรัฐธรรมนูญอัยการถือว่ามีความอิสระในการสั่งคดีและฟ้องคดีตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ อัยการต้องยึดหลักดังกล่าวนำมาปฏิบัติ แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันทำให้อัยการกดดันในการทำคดี แต่เราต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ต้องมีเหตุผลที่ยอมรับได้ และทัดเทียมกับการตัดสินคดีของตุลาการ คำสั่งคดีของอัยการต้องเป็นที่ยอมรับและตรวจสอบได้ และในยุคที่มีกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของทางราชการ การสั่งคดีของอัยการก็ย่อมเป็นที่เปิดเผยได้ในหลักการ

อัยการสูงสุดยังกล่าวถึงบทบาทของอัยการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาว่า ปกติบทบาทของอัยการอยู่ตรงกลางระหว่างตำรวจกับศาล ขณะที่ในปัจจุบันอัยการก็มีหน้าที่จะต้องร่วมสอบสวนคดีอาญามากขึ้น ทั้งจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความทันสมัยขึ้น และปัจจัยการกระทำความผิดของผู้ต้องหาซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่สามารถใช้โทรศัพท์ หรือเทคโนโลยีสร้างความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่อยู่ในประเทศ ดังนั้น การพิจารณาคดีทางอาญาจึงเป็นงานหลักของอัยการที่จะต้องทำคดีให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ ส่วนคดีแพ่ง คดีปกครองนั้นการสั่งคดีและการบังคับคดีจะต้องทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การตรวจร่างสัญญาต่างที่หน่วยงานรัฐส่งมาให้อัยการ ช่วยพิจารณาข้อกฎหมายก็จะต้องทำให้ทันเวลา ขณะที่การจ่ายสำนวนให้กับอัยการดูแลนั้น ในส่วนของอธิบดีอัยการ อัยการฝ่าย หรืออัยการจังหวัดที่เป็นผู้บริหาร ควรจะต้องนำสำนวนนั้นมาอ่าน แล้วพิจารณาความสามารถให้เหมาะสมกับความสามารถและความเชี่ยวชาญของอัยการท่านนั้น

นายจุลสิงห์กล่าวว่า ในส่วนของการบังคับคดีทางแพ่ง เมื่อปี 2550 จากสถิติพบว่าคดีแพ่งที่ยื่นฟ้องอัยการชนะคดีรวมทุนทรัพย์ประมาณ 2,700 ล้านบาท แต่การบังคับคดีทำได้เพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น เนื่องจากบางครั้งหน่วยงานรัฐเมื่อชนะคดีแล้วก็ยังไม่ดำเนินการบังคับคดีโดยทันที หรือบางครั้งการบังคับคดีก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของบุคคลจึงทำให้ไม่อยากติดตามบังคับคดีโดยเร็ว จึงเห็นว่าการบังคับคดียังขาดประสิทธิภาพอยู่ ตนจะดำเนินนโยบายการบังคับคดีตามที่นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด มีนโยบายไว้ โดยอัยการหลังจากทำหน้าที่ฟ้องคดีแล้วจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานให้หน่วยราชการดำเนินการบังคับคดี และเป็นตัวเร่งในการดำเนินการบังคับคดีด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ใช่การนำอัยการเข้าไปเป็นผู้นำยึดทรัพย์ เพราะหน้าที่การนำยึดทรัพย์นั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่อัยการจะร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

นายจุลสิงห์กล่าวด้วยว่า ตนยังมีแนวคิดที่จะให้อดีตอัยการสูงสุด เช่น นายชัยเกษม เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ทีมอัยการที่จะดูแลการพิจารณาสั่งคดี ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อสำนักงานอัยการสูงสุด

สำหรับนโยบายการบริหารงานของนายจุลสิงห์ ที่แถลงต่อข้าราชการอัยการทั่วประเทศมีทั้งหมด 9 ข้อ ประกอบด้วย

1.พัฒนาการอำนวยการความยุติธรรมทางอาญา ทั้งการวินิจฉัยสั่งคดี และการดำเนินคดีชั้นศาลให้มีมาตรฐาน ความเป็นกลาง เที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นหน่วยงานอันเป็นที่พึ่งสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พัฒนาการกำกับดูแลการสอบสวน และเพิ่มบทบาทของพนักงานอับการในการสอบสวนคดีอาญา

2.พัฒนาการดำเนินคดีแพ่ง คดีปกครอง และการให้คำปรึกษาหารือกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อเวลา ตลอดถึงพัฒนาระบบการบังคับคดี รักษาผลประโยชน์ของรัฐให้บังเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม

3.ส่งเสริมงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนให้เป็นหลักในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนการช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มบทบาทการต่อต้านการค้ามนุษย์ภายใต้พันธกรณีระหว่างประทศโดยเน้นการทำงานเชิงรุก

4.พัฒนาบทบาทของสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

5.บริหารงานด้วยหลักธรรมภิบาลตามแนวทางการบริหารงานภาครัฐสมัยใหม่ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงานรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรในองค์กรก่อนตัดสินใจ มีระบบประเมินผลที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบริหารงาน

6.พัฒนาศักยภาพการทำงานของพนักงานอัยการสู่ระดับสากล และสร้างคลังสมองให้เกิดการพัฒนาผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน โดยพัฒนาการทำงานของข้าราชการธุรการ และบุคลาการควบคู่กันไป พร้อมทั้งจัดหาทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาการปฏิบัติราชการในทุกระดับชั้น

7.พัฒนางานวิจัยงานพัฒนากฎหมาย การยกร่าวงกฎหมาย และการชี้แจงร่างกฎหมายให้มีประสิทธิภาพอย่างมืออาชีพ

8.ยกระดับมาตรฐานสวัสดิการ คุณภาพชีวิต และครอบครัวของข้าราชการอัยการ ข้าราชการธุรการ และบุคลาการอื่น ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง

9.ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางสังคม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ภารกิจและผลงานของสำนักงานอัยการสูงสุดให้สังคมรับทราบอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกัน

ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น.ภายหลังแถลงนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุดแล้ว นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุดคนใหม่ กล่าวว่า ในการมอบนโยบายวันนี้ ตนเน้นย้ำให้อัยการทุกคนวางตัวเป็นกลาง วางใจเป็นกลาง ซึ่งหลักการสั่งคดีของอัยการจะต้องพิจารณาจากหลักฐานในสำนวนเท่านั้นไม่เอากระแส หรือความต้องการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้ามาตัดสินใจ โดยต้องยึดหลักความเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ หลักความเป็นกลางคืออุเบกขา ตามหลักพรหมวิหารสี่ ในศาสนาพุทธ นอกจากนี้ในการสั่งคดีของอัยการจะต้องมีความโปร่งในตรวจสอบได้ และจะเปิดเผยเท่าที่กรอบแห่งกฎหมายที่จะทำได้

“ ที่สำคัญผมยึดถือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่พระราชทานต่อองค์กรต่างๆ โดยพระองค์ทรงอยากให้ประเทศชาติมีความสามัคคีซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อทุกองค์กร ขณะที่อัยการจะต้องภักดีต่อแผ่นดิน ซึ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง เกี่ยวข้องกับความมั่นคงชองชาติ จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว ” นายจุลสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวและว่า ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุด ยังมีนโยบายสำคัญในการสนับสนุนพระราชภารกิจของพระเจ้าหลานเธอฯ ที่ทรงเป็นส่วนหนึ่งของอัยการ และเป็นผู้นำในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและส่วนรวมด้วย

ส่วนการทำงานร่วมกันต่อไป อัยการ - ป.ป.ช. – คตส. จะมีความขัดแย้งหรือไม่ในเรื่องการพิจารณาสำนวนคดี นายจุลสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องนี้หากตนจะให้สัมภาษณ์ใดๆ ตนจะพูดถึงหน่วยงานอัยการเป็นหลัก จะไม่มีการตำหนิหน่วยงานอื่น เพราะแต่ละองค์กรสามารถมีความเห็นแตกต่างกันได้ ส่วนการให้ความเห็นของอัยการไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรจะต้องให้ความเห็นโดยมีเหตุผลและข้อกฎหมายสนับสนุนที่ชัดเจน และสุภาพ ทั้งนี้ตนคิดว่าการทำงานร่วมกันของอัยการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปด้วยกันได้

เมื่อถามหนักใจหรือไม่ ในการพิจารณาสำนวนคดี เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่มีนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวด้วย ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. – อัยการ

นายจุลสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวว่าไม่หนักใจเลย และยืนยันว่าแม้นายชัยเกษม อดีตอัยการสูงสุด กำลังมาเป็นที่ปรึกษาให้สำนักงานอัยการสูงสุด แต่ก็เป็นเรื่องที่จะให้อัยการอาวุโสมาช่วยงานด้านวิชาการและให้คำแนะนำเกี่ยวกับร่างกฎมายต่างๆ เท่านั้นซึ่งขณะนี้มีร่างกฎหมายหลายเรื่องที่คณะรัฐมนตรีส่งมาให้อัยการช่วยตรวจให้ความเห็น โดยนอกจากนายชัยเกษม แล้วก็ยังมีนายคัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด ที่มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการและร่างกฎหมายด้วย ดังนั้นส่วนที่นายชัยเกษม มาร่วมงาน จะไม่เกี่ยวกับคดีอาญาแต่อย่างใด ขณะที่การพิจารณาสั่งคดีของอัยการขอย้ำว่าต้องมาจากหลักฐานในสำนวนเท่านั้น ไม่เอากระแสเข้ามาเกี่ยวข้อง ใครทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด แต่ถ้าไม่ผิดตนก็จะบอกว่าไม่ผิด ซึ่งคดีซีทีเอ็กซ์ ก็เป็นอีกหนึ่งคดีที่อัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปหลายประเด็น และทาง ป.ป.ช.ก็นำกลับไปพิจารณาสอบสวนเพิ่มเติมอยู่เป็นปี ย่อมแสดงว่าข้อท้วงติงของอัยการนั้นเป็นเหตุเป็นผล

เมื่อถามนโยบายการทำความเห็นสั่งคดีเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ท่ามกลางที่บ้านเมืองแบ่งฝ่าย นายจุลสิงห์ กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญฯ แต่ตนอยากให้ทุกคนรักชาติโดยไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะหมดสมัยแล้วในการประท้วงโดยการชุมนุมเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องต่างๆ วันนี้บ้านเมืองควรก้าวไปข้างหน้า ใครอยากขอให้ทำอะไรก็ควรพูดกันดีๆด้วยเหตุด้วยผล และสำนักงานอัยการสูงสุดก็พร้อมที่จะรับฟังข้อท้วงติงข้อคิดเห็นจากทุกวงการ

เมื่อถามว่า จะสามารถสั่งไม่ฟ้องคดีเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อความสมานฉันท์ได้หรือไม่ นายจุลสิงห์ กล่าวว่าตอนนี้คงยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นสำนวนทั้งหมด แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องว่ากันไปตามหลักกฎหมายใครทำผิดก็ว่าไปตามผิดถ้าไม่ผิดก็ไม่ผิด แต่ยืนยันว่าอัยการจะไม่อิงกระแสทุกอย่างต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน
นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดคนใหม่ แถลงนโยบายการบริหารงานให้กับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น