xs
xsm
sm
md
lg

ทนายหน้าหอ ยัน หญิงอ้อ พร้อมสู้คดี ไม่ยอมคืนที่ดินรัชดา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายพิชิฏ ชื่นบาน อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
“พิชิฏ ชื่นบาน” ที่ปรึกษากฎหมายหญิงอ้อ เผย ส่งหนังสือแจ้งกองทุน ปฏิเสธส่งคืนที่ดินรัชดามูลค่า 772 ล้านบาทแล้ว อ้างนิติกรรมไม่เป็นโมฆะ หญิงอ้อซื้อขายสุจริตตามขั้นตอนที่กองทุนกำหนด พร้อมสู้คดีหากฟ้องแพ่งเรียกคืนที่ดิน ตั้งข้อสังเกต กองทุนถูกการเมืองแทรกแซง ด้าน “รอง อสส.” ระบุ กองทุนประสานเตรียมฟ้องแพ่งยกคืนที่ แจงหากฟ้องตามกฎหมายลักษณะลาภไม่ควรได้ เพราะสัญญาโมฆะ กองทุนต้องคืนเงินหญิงอ้อหลังได้ที่ดิน

วันนี้ (17 ก.ย.) นายพิชิฏ ชื่นบาน อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ รับผิดชอบคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ กล่าวถึงกรณีที่ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ส่งหนังสือถึง คุณหญิงพจมาน ทวงที่ดินบริเวณถนนรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่คืน หลังสำนักงานอัยการสูงสุด ตีความว่า สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีหรือภรรยาไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับรัฐได้ว่าในฐานะที่ตนเคยรับผิดชอบคดี และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้คุณหญิงพจมาน ได้ให้คำแนะนำคุณหญิงพจมาน ส่งหนังสือปฏิเสธการส่งคืนที่ดินดังกล่าวให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แล้ว หลังจากได้รับหนังสือจากกองทุน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

นายพิชิฏ กล่าวว่า การซื้อขายที่ดินยืนยันว่า คุณหญิงพจมาน ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กองทุนจัดการประมูลทุกประการ โดยชำระค่าธรรมเนียมซื้อที่ดิน 772 ล้านบาทเศษให้กองทุน ฯ และมีการจดทะเบียนนิติกรรม มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์เรียบร้อยทุกประการ ส่วนที่กองทุนอ้างว่า หารือข้อกฎหมายกับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว อัยการให้ความเป็นนิติกรรมเป็นโมฆะนั้น ในส่วนของคุณหญิงพจมาน ยืนยันหลักความสุจริตในการซื้อขายที่ดิน เพราะ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) กองทุนโดยตำแหน่งเคยทำหนังสือถึง ป.ป.ช.รวมทั้งให้การว่า กองทุนไม่ใช่ผู้เสียหายและกองทุนมีอำนาจซื้อขายที่ดินและ ขณะที่คดีอาญาที่ถูกฟ้องนั้นในเนื้อหาคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ไม่ได้ระบุว่า นิติกรรมเป็นโมฆะ รวมทั้งศาลไม่ได้มีคำสั่งยึดที่ดินและเงินที่ซื้อขายแต่อย่างใด และคำพิพากษาฟังได้ว่ากองทุน ผู้ขาย และคุณหญิงพจมาน ผู้ซื้อไม่มีความผิด โดยการจะมายึดที่คืนนั้นไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเรื่องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาดังกล่าว เพราะการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกพิพากษา เป็นเรื่องการการตัดสินฝ่าฝืน พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหง่ชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 100 ในการเซ็นยินยอมคู่สมรสซื้อขายที่ดินขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

นายพิชิฏ กล่าวอีกว่า หลังจากที่คุณหญิงพจมาน ส่งหนังสือปฏิเสธการคืนที่ดินที่ซื้อมาโดยสุจริตแล้ว หากกองทุนจะนำเรื่องไปฟ้องคดีแพ่งโดยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆะเพื่อบังคับคดีในการยึดคืนที่ดิน คุณหญิงพจมานก็พร้อมจะต่อสู้คดี อย่างไรก็ดี คดีแพ่งที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี ขณะที่คดีนี้ตัดสินเมื่อเดือน ต.ค.ปี 2551 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตในการทำหนังสือของกองทุน ฯ แจ้งยึดที่ดินคืนว่า ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุน แล้วหรือไม่และมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำ สั่งการให้กองทุนทำหนังสือดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้หากกองทุนฯจะอ้างนิติกรรมเป็นโมฆะจริงแล้ว ตามหลักกฎหมายจะต้องถือว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องกลับไปสู่ฐานะเดิมตามหลักกฎหมายของลาภที่มิควรได้ คือ กองทุนต้องคืนเงินซื้อขายที่ดินให้กับคุณหญิงพจมานก่อนที่จะให้ส่งคืนที่ดิน แต่การดำเนินการเรื่องนี้ของกองทุนยังมีข้อผิดปกติและสงสัยที่จะไม่เป็นธรรมต่อคุณหญิงว่าจะเรียกคืนที่ดินเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คืนเงินซื้อขายหรือไม่

นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ กล่าวถึงกรณีที่อัยการได้รับการประสานให้ฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกที่ดินคืนจากคุณหญิงพจมานว่า ตนได้มอบหมายให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษหัวหน้าคณะทำงานอัยการในคดีดังกล่าวรับผิดชอบดูรายละเอียดในเรื่องนี้ โดยการฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกคืนที่ดินนั้นจะเป็นการฟ้องในลักษณะว่าเป็นลาภที่มิควรได้ ซึ่งหากฟ้องแล้วคุณหญิงพจมาน ผู้ซื้อที่ดินยอมคืนที่ดินดังกล่าว กองทุนจะต้องคืนเงิน 772 ล้านบาทเศษ ขณะที่การฟ้องคดีแพ่งจะมีอายุความ 1 ปี โดยคดีนี้ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 ดังนั้นตนจึงได้เร่งให้นายเศกสรรค์ พิจารณาเรื่องนี้ให้ทันเวลาซึ่งเบื้องต้นทราบว่ายังรอเอกสารจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น