xs
xsm
sm
md
lg

"เข็มฉีดยา"..จุดจบนักค้ายา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

จนท.ราชทัณฑ์นำนักโทษประหารทั้งสองคนไปยังศาลาเย็นใจ ก่อนที่จะให้เขียนจดหมายมอบทรัพย์สินที่มีอยู่ให้กับญาติพี่น้องซึ่งทั้งสองคนได้แบ่งทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในเรือนจำให้กับเพื่อนนักโทษที่ไม่มีญาติ
"เข็มฉีดยา"..จุดจบนักค้ายา

ราวปลายเดือนมีนาคม 2544 ตำรวจกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จับกุมตัวนายสมจิตร พยัคฆ์เรือง ได้พร้อมยาบ้า 20,000 เม็ด การสืบสวนในเชิงลึกพบว่า นายสมจิตร ใช้รถยนต์ของลูกเขยที่ชื่อ"บัณฑิต เจริญวานิช" เป็นพาหนะในการขนยานรกล็อตนั้น

เมื่อตำรวจเค้นสอบปากคำนายสมจิตรชนิดหามรุ่งหามค่ำ นายสมจิตรจึงยอมคายความลับออกมาว่า อีก 3 วันข้างหน้า ลูกเขยจะใช้ให้ลูกน้องที่ชื่อ"จิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์" ไปลำเลียงยาบ้าล็อตใหญ่ลงมาจากเชียงใหม่ เพื่อนำไปพักและจำหน่ายในเขตเมืองหลวง

หลังจากที่นายสมจิตร ยอมเปิดปากรับสารภาพและบอกถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของขบวนการค้ายาเสพติดที่มีลูกเขยตัวเองเป็นโต้โผใหญ่แล้ว ตำรวจชุดสืบสวนได้ตำหนิรูปพรรณสันฐานของนายจิรวัฒน์ รวมถึงพาหนะและเส้นทางที่นายจิรวัฒน์จะใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยานรกล๊อตใหญ่ลงมายังเมืองหลวงในวันที่ 29 มี.ค.2544

แผนการลับสุดยอดถูกกำหนดขึ้น ชุดสืบสวนในระดับหัวกะทิเพียงไม่กี่นายเท่านั้น ที่จะรู้ว่า "งาน"จะเริ่มเมื่อใดและตรงบริเวณจุดไหน โดยเฉพาะเส้นทางจากเชียงใหม่มายังเมืองหลวงร่วม 600 กม. ที่พาดผ่านพื้นที่หลายจังหวัด จะเลือกบริเวณใดที่จะปลอดภัยและประสบความสำเร็จในการจับกุมนายจิรวัฒน์พร้อมยาบ้าของกลางล็อตใหญ่! "ด่านสลกบาตร" ในพื้นที่อ.ขาณุวรลักษณ์บุรี จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นด่านการจับกุมยาเสพติดที่มีชื่อเสียง จึงถูกเลือกให้เป็นสถานที่พิชิตแก๊งค้ายาเสพติดแก๊งนี้ ด้วยความพร้อมในด้านต่างๆหลายด้าน

เมื่อ"เป้าหมาย"มาถึง ตำรวจจึงเข้าจับกุมและตรวจค้นรถ จนพบยาบ้าจำนวนทั้งสิ้น 50 มัด รวม 100,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ด้านข้างประตูรถ นายจิรวัฒน์ ผู้ต้องหารายนี้จึงยอมรับสารภาพว่า เขาเป็นเพียง"คนรับจ้าง"ขนยาบ้าจำนวนมหาศาลดังกล่าวจากนายบัณฑิต เจริญวานิช เพื่อนำไปส่งยังกรุงเทพมหานคร

ขั้นตอนการซ้อนแผนเพื่อจับกุมนายบัณฑิต ผุดขึ้นมาทันทีในหัวของตำรวจชุดจับกุม ดังนั้น ตำรวจจึงให้นายจิรวัฒน์ โทรศัพท์รายงานผลการลำเลียงยาบ้าให้นายบัณฑิตรับทราบว่า ทุกอย่างไปได้สวย พร้อมทั้งนัดให้นายบัณฑิตไปรอรับของได้ที่ "ซีพีเพลสทาวเวอร์" บนถนนเพชรเกษม กทม. ในขณะเดียวกัน นายจิรวัฒน์ถูกแปลงสภาพให้เป็น"นกต่อ" และถูกคุมตัวเข้าเมืองหลวงในค่ำคืนนั้นทันที

เมื่อ"โต้โผใหญ่"ติดกับ"นกต่อ" นายบัณฑิตจึงถูกจับกุมได้ที่บริเวณ"ซีพีเพลสทาวเวอร์" แต่เมื่อตำรวจค้นในรถยนต์ที่นายบัณฑิตขับมา กลับไม่พบสิ่งของผิดกฏหมายแม้แต่อย่างเดียว จนกระทั่งเมื่อคุมตัวไปค้นยังบ้านพัก จึงพบยาบ้า 14,215 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ พร้อมอาวุธปืนอีกหลายกระบอก "29 มี.ค.2544" วันนั้น ไม่มีใครรู้ว่า นั่นเป็นวันสุดท้ายแห่งอิสรภาพของทั้งนายจิรวัฒน์และนายบัณฑิต ทั้งคู่ตกอยุ่ในฐานะ"นักโทษเด็ดขาด" แห่งเรือนจำบางขวาง นับตั้งแต่นั้นมา

8 ปีให้หลัง เย็นวันที่ 24 ส.ค. 2552 นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายประเสริฐ อยู่สุภาพ ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง นายพงศา ศุภจริยาวัฒน์ นายอำเภอเมืองนนทบุรี พร้อมด้วยตัวแทนจากอัยการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินทางไปยังเรือนจำบางขวาง ภายหลังจากที่ฎีกาโทษให้ประหารชีวิต นักโทษเด็ดขาดชายบัณฑิต เจริญวานิช อายุ 52 ปี และนักโทษเด็ดขาดชายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ อายุ 45 ปี ตกมาถึงกรมราชทัณฑ์ โดยที่ทั้งคู่ ไม่ได้ล่วงรู้ในชะตาชีวิตมาก่อนว่า วันนั้น จะเป็นวันสุดท้ายที่เขาทั้งคู่จะถูกปฏิเสธการเป็น"มนุษย์" อยู่บนโลกอันประเสริฐใบนี้ หลังจากที่เขาทั้งคู่รู้เพียงว่า จะต้องตาย แต่ไม่รู้จะเป็นวัน-เวลาไหน

ในแดน 2 ของเรือนจำบางขวาง เงียบกริบลงอย่างฉับพลัน ทันทีที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เบิกตัวนักโทษเด็ดขาดชายทั้ง 2 คนออกมา เพื่อนนักโทษด้วยกัน ต่างก็รับรู้ถึงชะตากรรมของนักโทษเด็ดขาดชายทั้งสองเป็นอย่างดี ทั้งคู่ ถูกคุมตัวไปยัง"ศาลาเย็นใจ" เจ้าหน้าที่ให้ทั้งคู่ เขียนพินัยกรรม มอบทรัพย์สินให้กับญาติพี่น้อง และทรัพย์สินที่มีอยู่ในเรือนจำให้กับเพื่อนร่วมชะตากรรมในแดน 2 ที่ไร้ญาติ

ก่อนจะถึงวินาทีสำคัญ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตให้นักโทษเด็ดขาดชายจิรวัฒน์ โทรศัพท์พูดคุยกับลูกเมียที่บ้านเป็นเวลา 5 นาที เป็การสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย โดยนักโทษเด็ดขาดชายจิรวัฒน์ได้พูดคุยด้วยสีหน้าที่เรียบนิ่งและเย็นชา ไม่มีอาการหวาดวิตกออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย ในขณะที่นักโทษเด็ดขาดชายบัณฑิต ก็ได้รับสิทธิ์ครั้งสุดท้ายในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับลุกเมียเช่นเดียวกัน ต่างกันแต่ ขณะที่นักโทษเด็ดขาดชายบัณฑิตพูดคุยนั้น เขาไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้ ต้องใช้มือปาดน้ำตาที่แก้มตลอดเวลา ทั้งยังใช้เวลาในการพูดคุยเกินเวลาที่ทางราชทัณฑ์กำหนด เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปปลอบประโลม และแจ้งให้รู้ว่า หมดเวลาในการพูดคุยแล้ว

ลำดับพิธีถัดมา เรือนจำได้นิมนต์พระครูนนทวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ ที่มีอาณาบริเวณติดกับเรือนจำ มาเทศนาให้นักโทษทั้งคู่ได้รู้จักสำนึกในบาปยบุญคุณโทษ ในฐานะที่นักโทษเด็ดขาดชายทั้งคู่เป็นพุทธศาสนิกชนเช่นเดียวกัน

"ตอนที่อาตมาเทศน์อยู่นั้น นักโทษเด็ดขาดชายบัณฑิต มีอาการเศร้าเสียใจน้ำตาไหลอาบแก้มตลอดเวลา ขณะที่นักโทษเด็ดขาดชายจิรวัฒน์นั้นนิ่งเงียบ นิ่งสงบ ก่อนที่จะขอจับชายผ้าเหลืองอาตมา โดยบอกกับอาตมาว่า เพื่อที่ดวงวิญญาณจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ อาตมาเองก็รู้สึกสงสารและเห็นใจในชะตากรรมของเขาทั้งสอง แต่เรื่องของเวรกรรมนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำไม่มีใครสามารถลบล้างความผิดได้" สมภารวัดบางแพรกใต้ ผู้ที่ได้แสดงธรรมให้นักโทษประหารฟังในวระสุดท้ายของชีวิตมาเป็นจำนวนมากบอกถึงความรู้สึกในวันนั้น

วินาทีสุดท้าย เจ้าหน้าที่เรือนจำได้อ่านประกาศคำสั่งให้ประหารชีวิตนักโทษทั้งสองคนตามคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนนำดอกไม้ธูปเทียนมาให้นักโทษเพื่อทำการขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวรโดยนักโทษทั้งสองคนได้หันหน้าไปทางโบสถ์พระประธานวัดบางแพรกใต้ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเรือนจำ

เมื่ออ่านคำสั่งประหารชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่นำทั้ง 2 คน ขึ้น"รถส่งวิญญาณ" พาไปยัง “อาคารประหารชีวิตแบบฉีดสารพิษ” ซึ่งทางเรือนจำจะยังคงล่ามโซ่ตรวนไว้ และให้นักโทษนอนบนเตียงประหารชีวิต ที่มีผ้าขาวสำหรับห่อศพวางรองอยู่ และทำการขึงแขนนักโทษให้ติดกับเตียงทั้ง 2 ข้างในท่ากางแขน และนำเข็มฉีดยาปักไปที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง ทำการฉีดยาจำนวน 3 เข็ม เข็มที่ 1 คือ ยานอนหลับ เข็มที่ 2 เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และเข็มที่ 3 คือ ยาหยุดการเต้นของหัวใจ โดยขั้นตอนการฉีดยาประหารชีวิตจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที รวมใช้เวลาตั้งแต่เริ่มพิธีถึงฉีดยาประหารชีวิต 3 เข็มตั้งแต่เวลา 16.00 -17.35 น.

จากนั้นแพทย์และคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนอัยการจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ จะตรวจสอบว่า นักโทษประหารเสียชีวิตตามคำพิพากษา จากนั้นนำศพนักโทษบรรจุในโลงเย็น ซึ่งมีความเย็น -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนจะให้แพทย์ตรวจเป็นครั้งสุดท้าย

มีนักโทษรวม 4 คน ตั้งแต่ ปี 2548 เป็นต้นมาที่กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการประหารชีวิตแบบใหม่ด้วยการฉีดยา ประกอบด้วย 1.นช.บุญลือ นาคประสิทธิ 2.นช.พันพงษ์ สินธุสังข์ 3.นช.วิบูลย์ ปานะสุทธะ ซึ่งนักโทษทั้ง 3 คน ต้องโทษคดียาเสพติด และ นช.พนม ทองช่างเหล็ก ผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่กรมราชทัณฑ์เปลี่ยนการประหารชีวิตจากวิธียิงเป้ามาเป็นฉีดยาหรือสารพิษเข้าร่างกาย มีนักโทษถูกประหารด้วยวิธีนี้ทั้งหมด 6 ราย 4 รายแรกถูกประหารเมื่อปี 2546 กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วได้ประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติดรายสำคัญอีก 2 ราย นอกจากนี้ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ศาลตัดสินแล้วและรอประหารชีวิตอีกประมาณ50-60 ราย อย่างไรก็ตามขั้นตอนดังกล่าวยังไม่จบสิ้น ยังอยู่ระหว่างยื่นถวายฏีกาได้อีก ซึ่งทั้งหมดเป็นนักโทษคดียาเสพติดและคดีฆ่าคนตาย

จุดจบของนักค้ายาเสวยสุขได้ไม่นาน สุดท้ายต้องจบลงที่เข็มฉีดยา
ฟังพระเทศน์เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อควบคุมสติไม่ให้ฟุ้งซ่าน ก่อนประหารชีวิต(แฟ้มภาพ)
ขึ้นรถส่งวิญญาณไปแดนประหาร(แฟ้มภาพ)
ทำการฉีดยาประหารนักโทษ(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น