คดีหมายเลขดำ 1234/2551 ของศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องตั้งแต่ในชั้นไต่สวน ถือเป็นบทเรียนหน้าใหม่ของทนายความที่คอยรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำพลัดถิ่นที่ไม่ยอมรับโทษตามกระบวนการยุติธรรมไทย แต่กลับใช้ช่องทางศาลดำเนินการกับผู้อื่น ด้วยการหมกเม็ดมอบอำนาจให้นอมินีฟ้องคดีแทน
คดีนี้ นายพิชา ป้อมค่าย ทนายความ อ้างเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสุริยะใส กตะศิลา, บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยเดย์ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คัดค้านและประณามการว่าโจทก์อยู่เบื้องหลังความพยายามแก้ไข้รัฐธรรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
ศาลพิเคราะห์พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประเด็นแรกว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายพิชา ป้อมค่าย เป็นผู้ดำเนินคดีแทนจริงหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ไม่ได้มาเบิกความยืนยันว่าผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ นายพิชา ป้อมค่าย ดำเนินคดีแทน โจทก์คงมี นายพิชา ผู้รับมอบอำนาจ เป็นพยานปากเดียว เบิกความว่าพยานเป็นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ แต่นายพิชา เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งแปดว่าหนังสือมอบอำนาจทำและลงลายมือชื่อที่อาคารชินวัตร ถ.วิภาวดีรังสิต แต่ที่จะทำที่บริษัทอะไร ชั้นอะไร จำไม่ได้ ทำให้น่าสงสัยว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจริงหรือไม่
นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีบุคคลที่รู้เห็นการลงลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุน ประกอบกับเป็นสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับ ทั้งนี้ นายพิชาตอบค้านว่าหนังสือมอบอำนาจทำต้นฉบับไว้ 2 ฉบับ มีข้อความตรงกับกับเอกสารมอบอำนาจต้นฉบับอีกฉบับหนึ่งนั้นพยานเป็นผู้เก็บไว้ไม่ได้ส่งเป็นพยานต่อศาล จึงยิ่งเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนให้น่าสงสัยยิ่งขึ้นว่า โจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจจริงหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายพิชาดำเนินคดีแทนตามนายพิชา ป้อมค่าย จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ส่วนประเด็นเรื่องคดีโจทก์มีมูลหรือไม่ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายกฟ้อง
นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ให้ความเห็นไว้ว่าตามปกติการมอบอำนาจฟ้องคดีเป็นสิทธิที่สามารถทำได้และมีกฎหมายรองรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ที่ศาลไม่รับฟ้องในคดีเพราะประเด็นเรื่องผู้รับมอบอำนาจกระทำโดยชอบหรือไม่นั้น ตามปกติในกระบวนพิจารณาคดีหากเป็นคดีที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้อง และเบิกความแทนทนายความฝ่ายจำเลยมักจะต่อสู้โดยพยายามซักค้านเกี่ยวกับ วัน เวลา และสถานที่ลงลายมือชื่อในทำหนังสือมอบอำนาจว่าเกิดขึ้นที่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเป็นกรณีที่โจทก์นั้นไม่ได้อยู่ในประเทศ ซึ่งการพิจารณาเรื่องวันเวลาก็ถือเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการลงลายมือชื่อนั้นเกิดขึ้นจริงก่อนฟ้องไม่ใช่ดำเนินการหลังการฟ้อง หรือมีการปลอมแปลงรายมือชื่อที่ถือเป็นการกระทำซึ่งผิดกฎหมาย
นายเจษฎากล่าวอีกว่า การมอบอำนาจยื่นฟ้องคดีลักษณะนี้ โดยปกติในชั้นพิจารณาของศาลผู้รับมอบอำนาจถือเป็นพยานที่จะยืนยันว่าการลงลายมือชื่อมอบอำนาจนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเป็นผู้ที่รู้เห็นว่าการลงลายมือชื่อเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ดังนั้น หากมีปัญหาว่าผู้มอบอำนาจนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการเพียงแต่ได้รับมอบเอกสาร และในชั้นพิจารณาไม่สามารถตอบคำถามเรื่องวันเวลาและสถานที่ทำหนังสือมอบอำนาจ ที่ทนายจำเลยพยายามหักล้างก็ย่อมจะทำให้เกิดข้อพิรุธสงสัยจนทำให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะสงสัยว่าการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่ผู้เสียหายตัวอยู่ต่างประเทศก็สามารถลงรายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายยื่นฟ้องคดี รวมทั้งดำเนินการในชั้นศาลแทนได้ แต่จะต้องมีหนังสือรับรองจากนักกฎหมายหรือองค์กรกฎหมายในต่างประเทศ หรือโนตารี่ (Notary) หนังสือมอบอำนาจนั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริงหรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้นถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแต่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
การปลอมแปลงลายมือชื่อแม้จะไม่มีโทษถึงตาย แต่คนปลอมก็อาจติดคุกได้ ดังนั้น จึงฝากเตือนไปยังทนายหน้าหอทั้งหลายว่าการจะรับใช้ใคร ควรต้องคำนึงหลักกฎหมาย และจรรยาบรรณของวิชาชีพทนายความ โดยเฉพาะการรับมอบอำนาจเป็นตัวแทนฟ้องร้องให้คนเหลี่ยมจัด เพราะสุดท้ายท่านอาจต้องกลายผู้รับมอบอำนาจในการรับโทษทางอาญาเสียเอง