ศาลยกคำร้องส่งตัว “วิคเตอร์ บูท” อดีตเคจีบี สายลับของรัสเซีย ค้าอาวุธสงครามรายใหญ่เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปขึ้นศาลสหรัฐฯ ชี้ เป็นคดีการเมือง ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ให้ขังไว้ 72 ชั่วโมง ระหว่างรอคำตอบจากอัยการว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
วันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งยกคำร้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศ เป็นโจทก์ ยื่นคำร้อง ขอส่งตัว นายวิคเตอร์ อนาโตลเจวิช บูท (Viktor Bout) หรือ บอริส (Boris) หรือ วิคเตอร์ บัท (Viktor But หรือ Viktor Budd) หรือ วิคเตอร์ บูลาคิน (Viktor Bulakin) หรือ วาดิม มาโควิช อมินอฟ (Vadim Markovich Aminov) สัญชาติรัสเซีย อดีตเคจีบี ผู้ต้องหาค้าอาวุธสงครามระดับโลก เป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
คดีนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยื่นคำร้องผ่านพนักงานอัยการต่างประเทศ ว่า จำเลยขายอาวุธสงคราม เครื่องบินรบ จรวดขีปนาวุธ จรวดมิสไซส์ ปืนไรเฟิลรายใหญ่ที่สุดของโลก นำไปจำหน่ายให้ ขบวนการฟาร์ช ฝ่ายซ้าย ที่ผลิตยาเสพติดโคเคน และนำเงินจากการจำหน่ายไปซื้ออาวุธจากจำเลยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลโคลอมเบีย และโจมตีพลเมือง และทรัพย์สินของสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯได้รวบรวมหลักฐาน และยื่นฟ้องศาลเซาเทิร์น ดิสตริก เมืองนิวยอร์ก แล้ว ข้อหาร่วมสมรู้ร่วมคิดในการฆ่าผู้อื่นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา, ร่วมสมรู้ร่วมคิดในการจัดหาและใช้อาวุธสงครามต่อต้านอากาศยาน และร่วมสมรู้ร่วมคิดในการสนับสนุนอย่างมีสาระสำคัญให้กับองค์การก่อการร้ายต่างประเทศ ซึ่งละเมิดกฎหมายสหรัฐฯ และเป็นความผิดที่มีโทษเทียบตามกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-3 โดยกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี และคดียังไม่ขาดอายุความตามกฎหมายของสหรัฐฯ รวมทั้งไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหารโดยเฉพาะ ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 และสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา จึงขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวจำเลยกลับไปดำเนินคดียังศาลสหรัฐฯด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่า ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นนักธุรกิจเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อเจรจาขายเครื่องบิน และถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และไทย หลายคนเข้าจับกุม และแจ้งข้อหาก่อการร้าย พาไปค้นห้องพัก ซึ่งพบเพียงของใช้ส่วนตัว พาไปคุมขังที่กองปราบ เกลี้ยกล่อมให้ไปพิจารณาคดีที่สหรัฐฯ แต่พยานไม่ยอม ส่วนข้อกล่าวหาที่สหรัฐ ฯ ระบุว่า ตนเข้าไปประเทศโคลอมเบีย เพื่อพบกับตัวแทนขบวนการฟาร์ช เพื่อเจรจาให้การสนับสนุนเรื่องอาวุธ ไม่เป็นความจริง ขอให้ศาลยกคำร้องด้วย เพราะหากตนถูกส่งตัวไปสหรัฐฯ ก็จะถูกดำเนินคดีอื่น
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีทางการเมือง ซึ่งต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 และสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสืบสวนสอบสวน และรวบรวมข้อเท็จจริงชาวสหรัฐฯ ว่า จำเลยได้ขายอาวุธให้แก่ขบวนการฟาร์ช ซึ่งได้ต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลโคลัมเบียมานานทศวรรษ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นไปตามอุดมการณ์ และเสรีภาพ ดังนั้น การที่จำเลย ถูกแจ้งข้อหาร่วมมือกับขบวนการฟาร์ช จึงเป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์ และมุ่งหวังทางการเมือง ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยได้ร่วมมือกับขบวนการฟาร์ชโจมตี เจ้าหน้าที่ พลเรือน และทรัพย์สินของสหรัฐฯนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ทั้งพยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความ ยืนยันว่า การที่จำเลยค้าอาวุธจำนวนมาก ซึ่งปกติคนเพียงคนเดียวไม่น่าจะทำได้ หากไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากทางการรัสเซีย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยภายใน 72 ชั่วโมง นับจากทราบคำสั่ง เว้นแต่พนักงานอัยการจะแจ้งความจำนงยื่นอุทธรณ์คดีภาย 72 ชั่วโมง ก็ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีภรรยา และบุตรสาวของ นายวิคเตอร์ รวมทั้งญาติพี่น้อง พร้อมเจ้าหน้าที่กงสุลใหญ่สถานทูตรัสเซียประมาณ 20 คน เดินทางมาให้กำลังใจ ส่วนฝ่ายสหรัฐฯมีอุปทูตและเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งมาสังเกตการณ์ และสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมากที่มารายงานข่าวภายหลังทราบคำพิพากษา นายวิคเตอร์ ได้เข้าสวมกอดภรรยา บุตรสาว ซึ่งร้องไห้ดีใจและญาติได้ตะโกนคำว่า วิน วิน ซึ่งหมายถึงชัยชนะ
ด้าน นายเจมส์ เอ็นทวิสเซิล อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวัง และมึนงงกับผลการตัดสินของศาล เพราะคิดว่าข้อเท็จจริงของคดีนี้เข้าหลักเกณฑ์ในการส่งตัวนายวิคเตอร์เป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสหรัฐฯตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน จากนี้จะหารือกับรัฐบาลไทยเพื่อให้อัยการดำเนินการอุทธรณ์คดี อย่างไรก็ตามขอขอบคุณตำรวจ อัยการ และกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่พยายามร่วมกันทำคดีนี้มาตั้งแต่ต้น
ด้าน นายโสภณ เกษมพิบูลย์ไชย พนักงานอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ กล่าวว่า หากกระทรวงการต่างประเทศของไทยสั่งให้ยื่นอุทธรณ์ก็จะต้องยื่นคำร้องภายใน 72 ชม.เพื่อให้ศาลทราบว่าคดีนี้อุทธรณ์จะได้คุมขัง นายวิคเตอร์ ไว้ ระหว่างอุทธรณ์ตามคำสั่งของศาล จากนั้นมีเวลา 30 วันในการเขียนคำอุทธรณ์และจะต้องต่อสู้ทุกประเด็นที่ศาลไม่รับฟัง