กระทรวงยุติธรรมตั้งสำนักงานบังคับคดีอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย เน้นจับกุมผู้ต้องหลบหนีคดีค้างเก่ากว่า 2 แสนคดี ทำเหมือนหน่วยงานยูเอส มาร์แชล ของสหรัฐฯ ชี้หน่วยงานนี้จะสืบแหล่งกบดานตามจับผู้ต้องหาในต่างประเทศได้ ปัดไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อจับ “นช.แม้ว” โดยเฉพาะ
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 14.00 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมแถลงข่าวกรณี ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงยุติธรรม จัดตั้งสำนักงานบังคับคดีอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำหน้าที่ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับยูเอส มาร์แชล ซึ่งจากข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2545 - 30 ก.ย.2551 มีหมายจับคงค้าง จำนวน 262,325 คดี สามารถดำเนินการจับกุมแล้วเสร็จ 299,431 คดี รวมทั้งบังคับกฎหมายอาญาให้เป็นไปอย่างเสมอภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การบังคับกฎหมายอาญาอย่างเสมอภาค ให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม และกระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างสมบูรณ์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในวันนี้ ให้จัดตั้งสำนักงานบังคับอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย เหมือนกับหน่วยยูเอส มาร์แชลของสหรัฐฯ ทำหน้าที่ติดตามจับกุมผู้หลบหนีหมายจับ คุ้มครองพยานรวมถึงสมาชิกในครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดอาญา การบังคับโทษปรับ
“การเรียกเงินคืนจากผู้กระทำผิดหรือหน่วยงานรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหาย การบังคับคดีอาญาให้เป็นไปตามคำสั่งศาล การขนย้ายผู้ต้องขังคดีสำคัญ การคุ้มกันป้องกันเหตุร้าย การตรวจสอบปัญหาการทำบัตรประชาชนปลอมของชาวต่างด้าว หลัง ครม.ได้รับรายงานว่า มีการออกบัตรประชาชนปลอมกว่า 6 พันราย การกำกับหน่วยงานรัฐให้บังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ อำนาจของสำนักงานบังคับอาญาฯ เพียงบังคับตามกฎหมายอาญา ไม่ได้สอบสวนทำสำนวนเหมือนพนักงานสอบสวน” รมว.ยุติธรรม กล่าว
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า ด้านการเตรียมพร้อมตั้งหน่วยงาน เบื้องต้นจะรับโอนและบรรจุกำลังเจ้าหน้าที่ 160 คน โดยไม่เน้นว่าเป็นตำรวจหรือทหาร ต้องคัดคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรอง หรือจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ สามารถขอโอนมาได้ถ้ามีประสบการณ์ จากนั้นจะเดินทางไปพบ รมว.ยุติธรรม สหรัฐฯ เพื่อขอความร่วมมือให้สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI และหน่วยงานยูเอสมาร์แชล ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมของไทย จัดทำหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ของจัดตั้งสำนักงานบังคับอาญาฯ
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อไปว่า จากนั้นจะเร่งออกกฎหมายของหน่วยงานโดยเฉพาะ ส่วนการทำงานขณะนี้ก็ให้เจ้าพนักงานอาศัยอำนาจตามกฎหมายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปก่อนโดยอาจมีการประสานกับทหารในการจัดชุดเฉพาะกิจในการออกปฎิบัติหน้าที่
ส่วนในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวตั้งขึ้น เพื่อติดตามตัวอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยเฉพาะหรือไม่นั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า หน่วยงานดังกล่าวสามารถจับได้ แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการตั้งสำนักงานบังคับอาญาฯ เพราะการติดตามจับผู้ต้องหาในต่างแดนมีหลายหน่วยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งตำรวจ อัยการ กระทรวงการต่างประเทศ ที่ผ่านมามีคดีอัยการไม่ทราบที่อยู่ผู้ต้องหาซึ่งหลบหนีในต่างประเทศ ขอให้ตำรวจไปติดตาม ตำรวจก็ไม่สามารถสืบแหล่งที่อยู่ผู้ต้องหาในต่างประเทศได้ ดังนั้น เมื่อมีหน่วยงานนี้เข้ามาจะช่วยทำหน้าที่สืบที่อยู่ของผู้ต้องหาในต่างประเทศ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป