xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานไทยร้อง ป.ป.ท.ส่องประกันสังคม ข้องใจใช้เงินไม่แจ่ม!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท.
ผู้นำแรงงานนำทีมร้อง ป.ป.ท.ตรวจสอบการทำงานของ สนง.ประกันสังคม เหตุสงสัยนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีความโปร่งใส เพราะที่ผ่านมาไม่เคยแจกแจงผลการดำเนินงานให้เจ้าของเงินประกันตนทราบข้อเท็จจริง ด้าน ป.ป.ท.พร้อมตรวจสอบทุกประเด็นตามที่ยื่นข้อร้องเรียน เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฎต่อสังคม

วันนี้ (13 ก.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมตัวแทนประมาณ 10 คน เข้ายื่นหนังสือกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการลงทุนในกิจการต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกอบด้วยสหพันธ์แรงงานต่างๆ กลุ่มสหภาพแรงงานในเขตพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกันตนได้ติดตามการบริหารงานและตรวจสอบการทำงานของสำนักงานประกันสังคมมาโดยตลอด ขอให้ทาง ป.ป.ท.ตรวจสอบประเด็นการทำงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม รายงานว่า สิ้นปี 2551 มีผู้ประกันตนจำนวน 9,336,651 ราย และนำเงินไปลงทุนจำนวน 588,955 ล้านบาท ซึ่งภารกิจหนึ่งของสำนักงานประกันสังคม นอกจากจะดูแลเรื่องสิทธิผลประโยชน์ของผู้ประกันตนแล้ว ยังต้องบริหารเงินกองทุนให้มีเสถียรภาพ และกำไรเพื่อความอยู่รอดและรองรับการจ่ายเงินกรณีชราภาพของสมาชิกในอนาคต

ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงได้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนภายในระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2549 แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม ไม่เคยรายงานว่าได้นำเงินไปลงทุนในกิจการประเภทใดบ้าง มีผลประกอบการขาดทุนหรือกำไรจำนวนเท่าใด ทำให้ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและตัวแทนสหพันธ์แรงงานต่างๆ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ประกันตนไม่เคยทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเงินดังกล่าวไปลงทุน ในกิจการหรือกองทุนใดบ้าง มีเพียงรายงานถึงในภาพรวมถึงผลกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งอาจหมายความว่าการลงทุนในบางประเภทอาจมีการขาดทุน แต่สำนักงานประกันสังคมไม่ได้หยิบยกมากล่าวให้ผู้ประกันตนรับทราบข้อมูล

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า การนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของเลขาธิการบอร์ดประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ปรึกษาบอร์ดประกันสังคม ถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาตลอดระยะเวลา 18 ปี แต่สิ่งมาปรากฏมาโดยตลอดคือจะถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำในการตัดสินใจ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์และไม่โปร่งใส และจากการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีการขาดทุน เช่น กรณีการลงทุนในหุ้นไทยธนาคาร และคาดว่าจะขาดทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท, การลงทุนในบริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส โฮลดิงส์ ที่บริษัทดังกล่าวประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจนล้มละลายในที่สุด หรือการลงทุนในกองทุนทียูโดม เรสซิเดนท์เชียลคอมเพล็กซ์ (TU-PF) ที่มีผลการดำเนินการขาดทุนในระดับสูงและอีกหลายตัวที่ยังไม่ได้การเปิดเผยเป็นต้น

“การดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม มิได้ชี้แจงว่ามีผลกำไร ขาดทุนเท่าใด และไม่ชี้แจงให้ผู้ประกันตนทราบข้อมูลที่แท้จริง รวมทั้งการลงทุนในกิจการต่างๆ ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งทำให้สมาชิกผู้ประกันตนมีความกังวล ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเป็นเช่นนี้ หากสำนักงานประกันสังคมนำเงินไปลงทุนอย่างไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องก็อาจจะได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับกรณีของกองทุน กบข. จึงขอให้ทาง ป.ป.ท.ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบการด้วย” น.ส.วิไลวรรณกล่าว

นายธาริตกล่าวว่า ป.ป.ท.จะดำเนินการตรวจสอบประเด็นต่างๆ ตามที่ได้รับร้องเรียน เนื่องจากเป็นหน้าที่ของตนและหน่วยงานที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานภาครัฐ ส่วนข้อมูลที่ได้รับก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ป.ป.ท. ซึ่งจะทำงานด้วยความโปร่งใส และถูกต้อง เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคม เนื่องจากสมาชิกของกองทุนประกันสังคมมีเป็นจำนวนมากที่มีข้อสงสัยรวมทั้งไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร การบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ตนจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาภายใน 2 วัน โดยเบื้องต้นมอบหมายให้ พ.ต.ท.เฉลิมชนม์ อุณหเสรี ผอ.สำนักการข่าว สำนักงาน ป.ป.ท.เป็นผู้ประสานงานและจะพิจารณาประเด็นต่างๆ จำนวน 4 ประเด็นว่าครอบคลุมหรือไม่ เพื่อจะได้วางกรอบแนวทางการทำงาน คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายใน 1 เดือนซึ่งจะรายงานให้สื่อมวลชนทราบต่อไป

นายธาริตกล่าวต่อไปว่า การที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และตัวแทนสหพันธ์แรงงานต่างๆ เข้ามาร้องเรียนให้ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบถือเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคม เพราะทุกหน่วยงานควรจะสามารถตรวจสอบได้เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส และถ้าผลการตรวจสอบพบว่าทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับความเสียหายก็จะมีการดำเนินงานตามกฎหมายอย่างแน่นอน
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น