“ประเสริฐ นาสกุล” อดีต ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจและติดเชื้อ ด้วยวัย 78 ปี ปิดฉากชีวิตเอกบุรุษ 1 ใน 7 คณะตุลาการเสียงข้างน้อย วินิจฉัยชี้ชัด “ทักษิณ” ผิดคดีซุกหุ้น ภาค 1
วันนี้ (9 ก.ค.) มีรายงานว่า นายประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถึงแก่อนิจกรรม ภายหลังเข้ารับการผ่าตัดโรคหัวใจและติดเชื้อ ด้วยวัย 78 ปี โดยจะมีพิธีรดน้ำศพ ในเวลา 17.00 น. ณ ศาลา 12 วัดธาตุทอง วันเดียวกันนี้ และสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 5 วัน
ทั้งนี้ ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายประเสริฐ ไม่เคยใช้รถประจำตำแหน่ง โดยใช้รถแท็กซี่ออกจากบ้านไปทำงานยังศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งผู้ทำงานใกล้ชิดกับนายประเสริฐเคยระบุว่า อย่าว่าแต่รถประจำตำแหน่งที่ไม่เคยนำมาใช้เลย แม้แต่ดินสอที่ใช้ในสำนักงาน ยังไม่เคยเบิกของหลวงออกมาใช้ แต่กลับนำดินสอจากบ้านมาใช้ในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยให้พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นข้อกล่าวหาซุกหุ้น แต่นายประเสริฐ ซึ่งเป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และทราบดีว่า ตุลาการเสียงข้างมาก 8 เสียง วินิจฉัยให้พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด โดยขณะนั้นตุลาการเสียงข้างน้อยมีเพียง 6 เสียง แต่นายประเสริฐก็ยังลงมติวินัจฉัยให้กับเสียงข้างน้อย ทั้งที่รู้ว่าแพ้อยู่แล้ว เพิ่มขึ้นมาเป็น 7 เสียง หลังจากนั้น มีผู้สื่อข่าวหลายสำนักพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นายประเสริฐหลายครั้ง แต่ทว่า เมื่อตามไปที่บ้าน กลับพบว่า นายประเสริฐย้ายบ้านออกจากที่เดิมไปแล้ว
มีผู้เล่าว่า วันหนึ่งที่คลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลศิริราช มีคุณลุงคนหนึ่งนั่งปะปนในหมู่คนไข้ทั่วไป แต่มีผู้สังเกตเห็นว่า คุณลุงคนดังกล่าวหน้าตาคุ้นๆ แต่นึกไม่ออก จนกระทั่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประกาศชื่อ "ประเสริฐ นาสกุล" คุณลุงคนดังกล่าว ก็ลุกไปยังช่องที่เขาประกาศเรียก โดยนายประเสริฐ ไปรับการรักษาเหมือนประชาชนทั่วไป ไปเข้าคิวรอรับการรักษาเหมือนคนไข้อื่น ทั้งที่ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการใช้สิทธิ์แซงคิวคนอื่น และนั่งรอเรียกชื่อร่วมกับผู้ป่วยทั้งปวง
สำหรับ นายประเสริฐ นาสกุล เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2474 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนที่ 2 ของประเทศไทย โดยบทบาทสำคัญของนายประเสริฐ คือเป็นผู้ที่วินิจฉัยความผิดในคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น 1 ในจาก 7 เสียงส่วนน้อยที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในคดีซุกหุ้น 1 เมื่อ พ.ศ.2544
ทั้งนี้ สำหรับตัวอย่างคำวินิจฉัยที่นายประเสริฐเคยวินิจฉัยเตือนสังคม ตั้งแต่ครั้งที่มีการพิจารณาคดี “ซุกหุ้น” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังเสียงข้างมากของตุลาการศาลศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิด ด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 เสียง ซึ่งนายประเสริฐมีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในคดีซุกหุ้น โดยให้แง่คิดเตือนไว้ว่า
“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้น ผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”
นอกจากนี้ นายประเสริฐยังมีคำวินิจฉัยส่วนตนที่น่าสนใจในการให้แง่คิดในเรื่องดังกล่าวว่า
“การที่รัฐธรรมนูญมิได้บังคับให้คู่สมรสผู้ถูกร้องยื่นบัญชีฯ นั้น มาตรา 291 บัญญัติให้ผู้ถูกร้องแต่เพียงผู้เดียวมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ เพราะมีมาตรา 209 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อมิให้รัฐมนตรีมีผลประโยชน์ขัดกันกับการประกอบธุรกิจของครอบครัว โดยมีพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ใช้บังคับ นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ถึงมาตรา 1474 บัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีและภริยา ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี ว่าด้วยการเสียภาษีของสามีและภริยาในปีภาษีหนึ่งๆ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จะปฏิรูปการเมือง ซึ่งผู้ใดเข้ามาทำงานการเมืองแล้ว จะต้องโอนการจัดการหุ้นบริษัทต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด มิใช่เพียงบอกกล่าวหรือโฆษณาให้ชาวบ้านทราบแต่เพียงว่า โอนกิจการให้แก่คู่สมรสหรือบุตรแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ถูกร้องยังอยู่เบื้องหลังการประกอบธุรกิจของคู่สมรสและบุตร...
... การเอาประโยชน์โดยใช้ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัท แล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแก่คนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และกลุ่มบริษัทเพื่อขยายกิจการ และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม มีการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ การปล่อยข่าวลือ การอำพราง การใช้ข้อมูลภายใน..
...ผู้ถูกร้องจะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจ และชัดถ้อยชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ จนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โอนลอยหุ้น และใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน นั้น “เป็นการประกอบธุรกิจตามปกติ ธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้น” ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภ และความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องอ้างว่า เลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 และมอบการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากทางรัฐ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (2)) บุตรและเครือญาติ ดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 โอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สิน ในกรณีดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา-ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับไทย)
และผู้ถูกร้องเข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะผู้ถูกร้องเสนอโครงการต่างๆ เป็นที่ถูกใจได้นั้น มากมายมหาศาล แต่จำนวนประชาชนดังกล่าวมิได้มากกว่าจำนวนคนที่ทราบว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคสอง เพราะประชาชนสิบเอ็ดล้านกว่าคนนั้น ไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของผู้ถูกร้องและคู่สมรสดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียงสองคนของผู้ถูกร้องและคู่สมรส เพราะเป็นคนละเรื่องกัน...
...ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินทองมากมมาย ไม่ทุจริต ผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง โดยโอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้าแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร
ปัญหาบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขด้วยการลด ละ และเลิก “ความเห็นแก่ตัว” เป็นอันดับแรก...”
ทางด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการถึงแก่อนิจกรรมของนายประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่า นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ให้ตนได้พูดถึงนายประเสริฐ เพราะเป็นนักกฎหมายดีเด่น ที่มีความสามารถควรนำมาเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ ลูกหาได้อย่างดีเยี่ยม โดยนายประเสริฐ ไม่มีประวัติด่างพร้อยใด ๆ เป็นคนที่ทุ่มเทกับการทำงานให้กับประชาชนมาโดยตลอด และที่ผ่านมาเป็นผู้ที่มั่นคงให้หลักนิติ มีความยุติธรรม อีกทั้งยังเคยเป็นอาจารย์บรรยายแนวทางจริยธรรมให้กับนักเรียนนิติรุ่นใหม่ ๆ ที่ถือเป็นตัวอย่างด้านจริยธรรมที่มีคุณภาพคนหนึ่ง และเมื่อมาเป็นตุลาการก็ได้รับจากการโหวตให้เป็น
นายจรัญ กล่าวต่อไปว่า ตนได้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนที่นายประเสริฐเคยวินิจฉัยเตือนสังคม ตั้งแต่ครั้งที่มีการพิจารณาคดี “ซุกหุ้น” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังเสียงข้างมากของตุลาการศาลศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิด ด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 เสียง ซึ่งนายประเสริฐมีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในคดีซุกหุ้น ซึ่งพบว่ามีคุณภาพมาตรฐาน ยึดหมั่นในประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม เป็นที่ชื่นชมของนักกฎหมายรุ่นหลัง ซึ่งนิสัยส่วนตัวเป็นคนอัทธยาศัยดี รักความสันโดด อยู่ในปรัชญาพอเพียง ไม่เคยขวนขวายในตำแหน่งใด ๆ โดยการทำงานแต่ละอย่างมีคนเชิญให้นายประเสริฐไปทำทั้งสิ้น จึงเป็นสิ่งที่น่ายกย่องเอาเป็นแบบอย่างให้นักกฎหมายทั่วไป