ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต “สุขุม เชิดชื่น” อดีต ส.ว.กทม. ฐานจ้างวานฆ่า พญ.นิชรี มะกรสาร แพทย์จุฬาฯ ขัดแย้งบริหารโรงเรียนโรจนเสรีอนุสรณ์
วันที่ (26 มิ.ย.) เวลา 09.40 น.ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธนศักดิ์ หรือใหม่ ยิ้มดี อายุ 32 ปี, นายสราวุธ หรือตั๊ก ไชยสิงห์ อายุ 31 ปี, นายชัชพัฒน์ หรือเซ้ง กิตตธนากร (เสียชีวิตศาลสั่งจำหน่ายคดี) นายวิเชียร หรือม่อน กิตติธนากร อายุ 44 ปี และนายสุขุม เชิดชื่น อดีต สมาชิกวุฒิสภา อายุ 47 ปี จำเลยที่1-5 ในความผิดฐานจ้าง วาน ใช้ และร่วมกันฆ่า พ.ญ.นิชรี มะกรสาร วิสัญญีแพทย์ รพ.จุฬา โดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ,กระทำผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม
ตามโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 25 ตุลาคม 2539 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1,2 และ4 ร่วมกันฆ่าผู้ตาย ด้วยค่าจ้างจำนวน 500,000 บาท กระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม 2539 เวลา 05.30 น. จำเลยที่ 1,2 และ 4 ร่วมกันใช้อาวุธปืนสั้นออโตเมติกไม่มีทะเบียนขนาด 11 มม. พร้อมเครื่องกระสุนจำนวน 18 นัดของจำเลยที่ 3 ที่นำมาให้เพื่อกระทำผิด ไปใช้ยิง พ.ญ.นิชรีจำนวน 5 นัด จนถึงแก่ความตายขณะเดินทางออกจากบ้านพักย่านห้วยขวาง เนื่องมาจากจำเลยที่ 5 มีความขัดแย้งกับผู้ตายในเรื่องการบริหารโรงเรียนโรจนเสรีอนุสรณ์ โดยผู้ตายปลดจำเลยที่ 5 ออกจากตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน กระทั่งเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันทั้งในทางแพ่งและทางอาญาหลายคดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่แม่ผู้ตายถูกจำเลยที่ 5 หลอกลวงให้มอบเงินจำนวน 200 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินอ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เนื้อที่ 100 ไร่ เพื่อทำสนามกอล์ฟทั้งที่ผู้ตายและบิดาคัดค้าน รวมทั้งเรื่องการขัดธุรกิจบริษัท มิลเลียน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งค้าขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสอง และรับทวงหนี้ จำเลยที่ 1 ,2 และ 4 ในการรับสารภาพชั้นสอบสวนแต่กลับคำให้การในชั้นพิจารณาคดี ส่วนจำเลยที่ 5 ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 สรุปว่า จำเลยที่ 1,2 และ 4 กระทำผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน พิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 , 2 และ 4 แต่คำให้การ ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ จึงเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1,2 และ4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานจ้างวานใช้ให้ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 อนุ 4 ประกอบมาตรา 84 เสมือนเป็นตัวการในการฆ่า พิพากษาลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ต่อมาจำเลยที่ 1 , 2 , 4 และ 5 อุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานซึ่งจำเลยที่ 4 ชักชวนมาทำหน้าที่ดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 และ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ซึ่งแม้จะเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย แต่ไม่ถูกดำเนินคดี ดังนั้นศาลจำต้องรับฟังคำเบิกความพยานปากนี้ด้วยความระมัดระวัง เห็นว่าพยานโจทก์ปากดังกล่าวเบิกความถึงรายละเอียดตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2547 ที่ชักชวนให้ไปดูบ้านผู้ตาย โดยมีจำเลยที่ 1 และ 2 ติดตามไปด้วยแต่ไม่พบรถผู้ตาย จึงนัดหมายลงมืออีกครั้ง เวลา 05.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งพบรถยนต์ผู้ตายอยู่ในบ้าน จำเลยที่ 1 จึงลงมือยิง แล้ว จำเลยที่ 2 ขับรถหลบหนี ซึ่งแม้พยานไม่ได้ยื่นยันว่าจำเลยที่ 1 , 2 และ 4 เป็นคนยิงผู้ตาย แต่ระหว่างยืนดูต้นทางที่บริเวณปากซอยทวีมิตร 9 ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นติดต่อกัน 4 นัด และต่อมาได้ยินอีก 1 นัด ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 , 2 และ 4 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงมือยิงผู้ตาย มีจำเลยที่ 2 ขับรถหลบหนี อีกทั้งจำเลยยังพาไปชี้จุดเกิดเหตุ ไปขอขมาภาพผู้ตายต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และสื่อมวลชน แม้ภายหลังจำเลยที่ 1, 2, และ 4 จะกลับคำให้การภายหลัง อ้างว่าถูกทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพนั้น จากผลตรวจร่างกายไม่พบว่ามีบาดแผลถูกทำร้ายแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าคำให้การในชั้นสอบสวนที่ให้การหลังเกิดเหตุทันทีเป็นจริงยิ่งกว่า รับฟังได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1, 2 และ 4 กระทำผิดตามฟ้องจริง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นตามม. 289 (4) ป.อาญา นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ที่ 1, 2 และ 4 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 5 กระทำผิดฐานเป็นผู้จ้างวานฆ่าหรือไม่นั้น โจทก์มีพนักงานสอบสวนชั้นผู้ใหญ่เบิกความสอดคล้องต้องกัน ว่าหลังเกิดเหตุได้สอบปากคำครอบครัวของผู้ตายให้การถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 มีความขัดแย้งทางธุรกิจกับนางฉลวย และผู้ตายกำลังตรวจสอบเรื่องการซื้อขายที่ดิน อ.แก่งกระจาย จ.เพชรบุรี มูลค่า หลายร้อยล้าน จนมีเรื่องฟ้องร้องในคดีแพ่งหลายคดี ประกอบกับได้ความจาก จ.ส.อ.เมตตาหรือกรุณา เต็มชำนาญ คนสนิทจำเลยที่ 5 และนายมงคล หรือหมง นกทอง ที่จำเลยที่ 5 เคยติดต่อว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตายครั้งแรก เบิกความ ยืนยันว่า จำเลยที่ 5 เคยใช้จ้างวานให้ไปฆ่าผู้ตายภายในงานเลี้ยงครบรอบ 50 ปี โรงเรียนโรจนเสรีอนุสรณ์ ที่โรงแรมเอเซีย แต่ไม่นายมงคล ไม่ได้ลงมือ ขณะที่ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเคยพูดกับเพื่อนร่วมงานว่าหากเป็นอะไรไป เชื่อว่าน่าจะเกิดจากฝีมือของจำเลยที่ 5 ซึ่งก่อนเกิดเหตุผู้ตายไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นขึ้นรถของผู้ตาย จึงเชื่อว่าการที่ครอบครัวผู้ตายมีเรื่องฟ้องร้องกับจำเลยที่ 5 ดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าจะกระทบต่อประโยชน์ชื่อเสียงและสถานะทางสังคมของจำเลยที่ 5 จึงเกิดความขุ่นเคืองและว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 , 2 และ 4 ฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวการกระทำผิด พิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 5 สถานเดียว