“อัยการต่างประเทศ” มั่นใจ ได้ตัว “ราเกซ” กลับมาดำเนินคดียักยอกทรัพย์บีบีซี หลังศาลอุทธรณ์แคนาดา ไม่รับคำร้องราเกซ คัดค้านความเห็น รมว.ยุติธรรม แคนาดา ที่ให้ส่งตัวกลับ ไม่หวั่น “ราเกซ” ใช้สิทธิ์ฎีกา เชื่อศาลแคนาดาสั่งเสร็จก่อนคดีขาดอายุความ ปี 53
วันนี้ (12 มิ.ย.) นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของ นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ที่คัดค้านความเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประเทศแคนาดา ที่เห็นชอบให้ส่งตัวนายราเกซ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับมาดำเนินคดียักยอกทรัพย์บีบีซีในประเทศไทยว่า ล่าสุดที่อัยการไทยได้รับการประสานงานกับอัยการแคนาดา ว่า นายราเกซ เตรียมใช้สิทธิ์ยื่นฎีกาอีกตามขั้นตอนของกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศแคนาดา ซึ่งกำหนดเดิมนายราเกซต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่านายราเกซ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลา โดยอ้างว่าต้องใช้เวลาเอกสารยื่นฎีกา ศาลจึงอนุญาตขยายเวลาให้จนถึงวันที่ 15 มิ.ย.นี้
อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี หากถึงกำหนดแล้วนายราเกซ ยังจะขอขยายเวลาอีกก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลแคนาดา แต่เชื่อว่า หากไม่มีเหตุผลอันสมควรศาลก็คงไม่อนุญาต ส่วนการพิจารณาฎีกาของนายราเกซศาลแคนาดาคงต้องใช้เวลาพอสมควรแต่เชื่อว่าไม่ยาวนานจนกระทบรูปคดีที่จะขาดอายุความไปก่อน ซึ่งคดียกยอกทรัพย์บีบีซีที่ นายราเกซ ตกเป็นผู้ต้องหา มีหลายสำนวน บางสำนวนก็ขาดอายุความไปแล้ว ส่วนที่ยังรอดำเนินคดีได้กำลังจะหมดอายุความปี 2553
“ในการพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณีของ นายราเกซ แม้ว่า แคนาดา จะใช้เวลายาวนานมากเป็นประวัติศาสตร์ที่จะตรวจสอบอย่างละเอียดและให้ความความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก แต่อัยการเชื่อโดยสุจริตใจ ว่า เมื่อทั้งสองประเทศอาศัยความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญาแล้ว แคนาดา ก็จะให้ความสำคัญต่อการใช้เวลาพิจารณา โดยไม่กระทบการดำเนินคดีอาญาของอีกประเทศ จนขาดอายุความด้วย แต่ถ้าเกิดว่าการพิจารณาการส่งตัวช้าจนขาดความอายุความเสียก่อน ทางการแคนาดา คงต้องชี้แจงทุกฝ่ายด้วยเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น” อธิบดีอัยการต่างประเทศ กล่าว
นายศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามกระบวนการทางกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศแคนาดา ต้องดำเนินการ 2 ส่วน คือ กระบวนทางศาล ซึ่งกรณีของ นายราเกซ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำสั่งให้ส่งตัวนายราเกซกลับไทย และกระบวนการทางฝ่ายบริหาร ผ่านทาง รมว.ยุติธรรม โดยเมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว รมว.ยุติธรรม จะพิจารณาอีกครั้งว่าเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งกรณีของ นายราเกซ รมว.ยุติธรรม เห็นชอบตามคำสั่งศาลฎีกา แต่ นายราเกซ ยังได้ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่ง รมว.ยุติธรรม โดยศาลเป็นผู้พิจารณาอีก และหากศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา กระบวนการพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็จะยุติ ซึ่งขณะนี้อัยการไทย ตั้งคณะทำงานอัยการจากสำนักงานอัยการต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางไปรับตัว นายราเกซ แล้ว เนื่องจากการรับตัวก็ต้องมีขั้นตอน การกำหนดตัวบุคคลว่าจะมีตัวแทนหน่วยงานใดบ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอัยการ และตำรวจ ขณะที่จะต้องมีการกำหนดสายการบินที่จะพาผู้ต้องหาส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนด้วยทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ซึ่งนอกจากนี้คณะทำงานจะเตรียมความพร้อมการับตัวกลับแล้ว ยังเตรียมการศึกษาช่องทางเผื่อไว้กรณีที่ศาลฎีกาจะรับฎีกานายราเกซ แล้วอัยการไทยจะดำเนินใดๆ ได้อีกบ้าง
“หากในที่สุดศาลฎีกาแคนาดา ไม่รับฎีกา นายราเกซ ก็มั่นใจว่า ทางการไทยน่าจะได้ตัวนายราเกซ กลับดำเนินคดียักยอกทรัพย์ และข้อหาเป็นผู้จัดการนิติบุคคล ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ก่อนขาดอายุความ แต่หากศาลสั่งรับฎีกานายราเกซ คณะทำงานอัยการก็เตรียมพร้อม และยังเตรียมรับมือกับเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดจากใช้ แทคติก ต่างๆ ของนายราเกซไว้แล้ว เพราะก่อนหน้านี้นายราเกซ มักใช้ลูกไม้เก่าในการขอขยายเวลายื่นเอกสารหรือถ่วงเวลา หรือแทคติกอ้างเหตุป่วย” นายศิริศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายราเกซ ซึ่งได้ฉายาว่าพ่อมดการเงิน ผู้ต้องหายักยอก บีบีซี จำนวน 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ได้หลบหนีออกนอกประเทศ หลังจากบีบีซีล้มละลายเมื่อปี 2538 และ นายราเกซ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแคนาดา จับกุมได้ที่เมืองวิสเลอร์ ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ซึ่งทางการไทยใช้เวลาขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกับทางการแคนาดายาวนาน ประมาณ 12 ปี