เลื่อนสั่งคดีแกนนำ นปช.ชุมนุมก่อความวุ่นวาย, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุต้องรอ อสส.ชี้ขาด คำร้องขอสอบเพิ่ม “อดิศร เพียงเกษ” อ้างหวังให้อัยการร่วมสอบตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 เพราะหวั่นตำรวจทำสำนวนฝ่ายเดียวไม่เป็นธรรม ขณะที่ “วีระ-ณัฐวุฒิ-หมอเหวง” รอรายงานตัวศาลพรุ่งนี้ หลังครบฝากขังผลัดสุดท้าย
วันนี้ (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา นัดฟังคำสั่งคดีที่ นายวีระ มุสิกพงศ์ กับพวกรวม 14 คน ที่เป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ยุยงส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันไม่ใช่ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กรณีกรณีการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.เป็นต้นมาจนรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยวันนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายอดิศร เพียงเกษ อดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำคนเสื้อแดงเดินทางมาพร้อมกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่อัยการยังไม่สามารถสั่งคดีได้ในช่วงเช้าเนื่องจากต้องรอคำสั่งชี้ขาดของนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เรื่องการสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายกายสิทธิ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญากล่าวว่า เหตุที่ต้องรอให้ อสส.เป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากคดีนี้มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตัวอยู่นอกราชอาณาจักรเป็นผู้ต้องหาด้วย คดีจึงเข้าลักษณะที่ อสส.จะเป็นผผู้สั่งการตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ที่ระบุว่า ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้ทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อธิบดีกรมอัยการ (อสส.) หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวน หรือมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนใดก็ได้
นายกายสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วน นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ ผู้ต้องหาร่วมที่พ้นกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เมื่ออัยการยังไม่สามารถสั่งคดีได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งสามก็จะได้รับการปล่อยตัวออกไปก่อน ซึ่งหากอัยการมีความเห็นจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแล้วก็จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวมาฟังคำสั่งในภายหลัง
ด้าน นายอดิศร ผู้ต้องหาร่วมกล่าวว่า ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 20 ให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งในการร้องขอความเป็นธรรมให้สอบสวนเพิ่มเติมเราไม่ต้องการให้การสอบสวนมีแต่ตำรวจ หรืออัยการเพียงฝ่ายเดียว โดยตนเชื่อว่าถ้าการสอบสวนสามารถใช้ช่องทางอัยการร่วมสอบสวนกับพนักงานได้ก็จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมเพราะอัยการก็มีสถานะกึ่งตุลาการด้วย
ขณะที่ นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช.กล่าวเสริมว่า ผู้ต้องหาไม่ไว้วางใจการสอบสวนเพิ่มเติมที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตาม ป.วิอาญา มาตรา 120 การจะพิจารณาคดีสั่งคดี และยื่นฟ้องคดีต่อศาล พนักงานอัยการต้องสอบสวนความผิดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายวีระ นายณัฐวุฒิ และ นพ.เหวง ศาลอาญามีคำสั่งนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.หลังครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้าย เพื่อคืนหลักทรัพย์ประกันและทำการปล่อยตัว
ต่อมาเมื่อเวลา 14.45 น. นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เปิดเผยว่าหลังจากเสนอคำร้องที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ สส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 14 คน ซึ่งเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้อนเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาร่วมกันชุมนุมก่อความวุ่นวายฯ ให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งอนุญาตให้สอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ โดยอัยการจะสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการทันที แต่จะไม่มีพนักงานอัยการลงไปร่วมสอบสวนตามคดีที่ผู้ต้องหาร้องขอ โดยอัยการคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการรวบรวมพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อทำความเห็นและสั่งคดีต่อไป