xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” ติวเข้มเสริมวิชาทำคดีเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“วีรพงษ์ รามางกรู” ชี้คดีทุจริตโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรผู้ได้รับประโยชน์คือผู้มีอภิสิทธิ์ในการประมูลราคา เชื่อไม่มีทางปราบปรามหมด แนะรัฐบาลยกเลิกโครงการเท่านั้น การทุจริตจะหมดตาม พร้อมมองการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินการเหมือนแมวไล่จับหนูที่หนูจะอยู่หน้าแมวเสมอ

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่สถาบันวิทยาการตลาดทุน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดการสัมมนาเทคนิคการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ โดยใช้ความรู้ด้านบัญชี ภาษีอากร และการเงิน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ และบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้พิพากษา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้แทนธนาคารพาณิชย์

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการคดีพิเศษ กล่าวในการบรรยายเรื่องอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศว่า ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ เพราะการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และความจำเป็นในการเปิดประเทศ เปิดตลาดการค้าเสรี ซึ่งจะต้องดำเนินไปถึงจุดสูงสุดและตกลงมาเป็นวัฏจักร จึงเป็นการเปิดโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงการหาผลประโยชน์จากการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน จนเกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ส่วนตลาดสินค้าและบริการ จะเห็นได้ว่าโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรหรือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นโครงการที่ไม่ว่าจะตรวจสอบการทุจริตที่ใดก็เจอแน่นอน คนที่ได้รับผลประโยชน์คือคนที่ได้รับอภิสิทธิ์ในการประมูลราคาสินค้า เช่น โครงการรับจำนำมันสัมปะหลังที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการทุจริตเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเปิดช่องให้ทำ ไม่ว่าจะปราบปรามอย่างไรก็ไม่หมด ซึ่งจะหมดต่อเมื่อรัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลส่วนมากตั้งใจและข้าราชการทุกคนก็รู้ ส่วนตลาดทุนมักเกิดปัญหาจากการสำแดงราคา เช่น กรณีการขายเบียร์จีนที่ จ.เชียงราย ทั้งที่มีการเสียภาษีจำนวนมากแต่กลับมีราคาถูกกว่าเบียร์ของไทย

นายวีรพงษ์กล่าวอีกว่า ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแม้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตลาดเงินตลาดทุนก็ยังตามไม่ทัน พนักงานสอบสวนดำเนินการเหมือนแมวไล่จับหนูที่หนูจะอยู่หน้าแมวเสมอ บางครั้งเจ้าหน้าที่ที่ต้องเก็บภาษีก็เกิดความเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจ นอกจากนี้ยังมีความพยายามหลบเลี่ยงโดยการตั้งตัวแทนและการยักย้ายถ่ายเท ซึ่งเรื่องการเมืองเป็นอีกปัจจัยของปัญหา โดยพรรคการเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนาต้องการเงินทุนในการทำกิจกรรมทางการเมือง

ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจพัฒนารุดหน้า แต่ทางการเมืองไม่พัฒนาก็จะยังเกิดปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยากของพนักงานสอบสวน แต่จะต้องไม่ไหลตามน้ำ ยึดถือหลักการ เจตนารมณ์ นักวิชาชีพ แม้บางครั้งอาจจะต้านไม่ไหวแต่ก็ไม่ควรให้ความร่วมมือ เพราะหากให้ความร่วมมือข้าราชการเองที่จะได้รับเคราะห์ในตอนจบ

นายวีรพงษ์กล่าวด้วยว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ผู้มีชื่อเสียงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ บ่อยครั้งที่มีการสร้างกระแสผ่านสื่อมวลชน และสามารถชี้นำการทำสำนวนคดีได้ ซึ่งประเด็นของการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจะต้องนำมาพิจารณา คือ 1.ความสำคัญของคดีเศรษฐกิจ 2.ความยุ่งยากสลับซับซ้อนของธุรกิจทางการเงิน ภาษีอากร มาตรฐานบัญชี 3.โลกาภิวัตน์ทำให้ชีวิตเรายุ่งยากมากขึ้น 4.กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ตามไม่ทัน ขาดการฝึกอบรมทำความเข้าใจ 5.การเมือง และ 6.กระแส

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวยอมรับว่า การสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อน พนักงานสอบสวนจึงมักนำเรื่องง่ายขึ้นมาทำก่อน จะเห็นได้จากคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงคดีที่ต้องติดตามยึดทรัพย์สิน ที่ทำได้เพียงมีคำพิพากษาเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องมีความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยการทำงานจะต้องให้มีประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวน และต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความยุติธรรม
 นายวีระพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะกรรมการคดีพิเศษ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ
กำลังโหลดความคิดเห็น