“วรพงษ์” เดินหน้าโครงการเอสเอ็มเอสจับโจร ติวเข้ม สายสืบ สายตรวจทั่วเมืองหลวง เผยได้รับผลสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งอยู่ภูธรภาค 7 ไม่แพ้ปฏิทินโจรแม้แต่น้อย แต่เสียตรงที่ต้องทำเซิร์ฟเวอร์ใหม่
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น. เป็นประธานเปิดโครงการ short massage service (sms) มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลหมายจับและรถยนต์ที่ถูกโจรกรรม โดยมีตำรวจระดับรอง ผบก.ลงไป รวมทั้งฝ่ายสืบสวน ฝ่ายป้องกันปราบปรามและจราจร เข้าร่วมรับฟังการอบรมการใช้
พล.ต.ต.วิบูลย์ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.ได้นำโครงการ sms จาก บช.ภ.7 มาใช้ ซึ่งตำรวจที่ใช้จะต้องนำซิมการ์ดที่ได้รับแจกและลงทะเบียนกับทาง ศทส.บช.น. แล้ว ไปใช้ในการตรวจสอบโดยใช้ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัว 13 หลัก ทะเบียนรถ และตัวถังรถ เพื่อตรวจสอบบุคคลหรือรถต้องสงสัย โดยเมื่อส่งเอสเอ็มเอสไปที่หมายเลข 4514111 จะได้รับคำตอบเป็นข้อความกลับมาภายใน 12 วินาที ซึ่งหากพบข้อมูลว่ามีตามหมายจับจะมีชื่อ นามสกุล ข้อหา วันหมดอายุความ และสน.พื้นที่ แต่หากไม่พบจะมีข้อความว่า “ไม่พบข้อมูลที่ท่านต้องการค้นหา” แต่หากซิมการ์ดไม่ได้ลงทะเบียนไว้จะมีข้อความว่า “ท่านไม่มีสิทธิ์ใช้ระบบ” โดยในส่วนนี้ต้องมีการลงทะเบียนก่อน ในระบบเอไอเอสซึ่งใช้ฐานข้อมูลของอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นอกจากนี้ ซิมการ์ดที่ใช้สามารถติดต่อซิมที่ลงด้วยกันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเป็นการทดลองนำใช้นำร่อง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 15 เมษายนที่ผ่านมา
พล.ต.ต.วิบูลย์กล่าวว่า กรณีนี้เมื่อเราตั้งด่านหรือไปเจอรถก็สามารถตรวจสอบได้เลย หรือรถที่มีการเสียค่าปรับก็ตรวจสอบได้ ส่วนข้อเสียก็คือเราต้องเสียเงินให้กับทางบริษัท โดยในการทำเซริ์ฟเวอร์เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนบาท โดยตามข้อมูลที่ใช้เป็นฐานทั่วประเทศ ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องตรวจสอบด้วยว่า บางครั้งมีการจับแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถอนหมายจับ ในส่วนนี้จึงต้องทำการตรวจสอบอีกครั้งกับทาง สน. คาดหวังว่าเมื่อทำแล้วจะจับผู้ต้องหาได้มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องรถหายที่สถิติสูง ซึ่งทดลองมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา สามารถจับได้ 5 ราย ซึ่งข้อมูลนี้เน้นคดีอาญาเป็นหลัก
สำหรับข้อมูลของ บช.ภ.7 ที่ใช้เอสเอ็มเอส ตั้งแต่มีนาคม 2550 สามารถจับผู้ต้องหาคดีต่างๆได้ 1,105 ราย คดีอุกฉกรรจ์ 68 คดี จักรยานยนต์ 88 คัน และรถยนต์ 3 คัน ซึ่งนอกจากเอสเอ็มเอสแล้ว ยังมีการนำปฏิทินอาชญากรรม หรือปฏิทินโจร ที่ใช้ได้ผลดีจาก บช.ภ.7 มาใช้ในนครบาลและใช้ได้ผลดีเช่นกัน เมื่อปฏิทินถุกแจกจ่ายออกไป สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามปฏิทินได้แล้ว 3 ราย และผู้ต้องหาตามปฏิทินที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้ถูกอายัดตัวอีก 2 ราย รวม 5 ราย