xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่ปล่อย 3 แกนนำตัวเอ้ ชี้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินชอบด้วย กม.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ 3 แกนนำ นปช.ที่ถูกคุมตัว
ศาลยกคำร้องปล่อยตัว “วีระ-ณัฐวุฒิ-นพ.เหวง” 3 แกนนำ นปช. ระบุนายกรัฐมนตรีประชุม ครม.ที่เกี่ยวข้อง ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินวันที่ 12 เม.ย.ถูกต้องตาม กม. ไม่ต้องขอความเห็นชอบ ครม.อีก ด้านทนายเตรียมอุทธรณ์สัปดาห์หน้าขอเรียกศาลเรียกรายงานประชุม ครม.ตรวจสอบ เหตุเลขาฯ ครม.ให้การปากเปล่า ให้จับตาครบ 30 วัน ปล่อยแล้วจับแกนนำใหม่ อ้างสอบเพิ่มเติม

วันนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ที่นายคารม พลทะกลาง ทนายความ กลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ 3 แกนนำ นปช.ซึ่งถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีปลุกระดมมวลชนโดยวีธีการใด เพื่อให้ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 ขอปล่อยตัว ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เนื่องจากถูกคุมขังโดยมิชอบ เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่ได้ดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ภายใน 3 วันตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 5

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจับกุมผู้ต้องหาทั้งสาม เมื่อวันที่ 16 เมษายน ตามมาตรา 11 และ 12 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้ขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายใน 3 วัน ดังนั้น ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 5 การที่เจ้าพนักงานควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามไว้ จึงเป็นคุมขังมิชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัว ตาม ป.อาญา มาตรา 90 อย่างไรก็ตาม ยังได้ความจากนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการ ครม.ที่ผู้ร้องอ้างเป็นพยานระบุว่า เหตุที่นายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสามเป็นแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจาการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล บ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และศาลากลางจังหวัดต่างๆ และเมื่อวันที่ 11 เมษายน ผู้ชุมนุมได้ไปปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช พัทยา โดยนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงลำพัง โดยไม่ขอความเห็นชอบ ครม. ต่อมา พ.ร.ก.ดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฝ่ายผู้ร้องมีนายคารม ทนายความเบิกความเพียงปากเดียวไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ซึ่งได้ความจากนายสุรชัย เลขาฯ ครม.ยืนยันว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่กระทรงงมหาดไทย นายกรัฐมนตรีได้ปรึกษา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีมติเห็นชอบแล้ว และเมื่อวันที่ 17 เมษายน มีการประชุม ครม.วาระปกติที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบให้ความเห็นชอบและสนับสนุนการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวแล้ว ถือเป็นการผ่านความเห็นชอบของ ครม.ตามมาตรา 8 วรรคสอง ของกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและประชุม ครม. พ.ศ.2548 ที่ระบุว่า กรณีมีเห็นจำเป็นที่จะต้องรักษาผล ความลับของชาติ หรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาร่วมกับ ครม.ที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินการได้ และให้แจ้งเรื่องให้ครม.ทราบในการประชุมครั้งต่อไป

ศาลเห็นว่า ในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายกรัฐมนตรีได้ปรึกษากับ ครม.ก่อนจึงค่อยประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และต่อมาวันที่ 17 เมษายน ได้รายงานให้ ครม.ทราบแล้ว ถือว่านายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยความเห็นชอบของ ครม.ถูกต้องแล้ว ไม่ได้เป็นการประกาศโดยอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงลำพัง ที่จะต้องขอความเห็นชอบ ครม.ภายใน 3 วัน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 5 ดังนั้ นประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุดลงแต่อย่างได้ การที่เจ้าพนักงานควบคุมตัวผู้ต้องหาจึงไม่ใช่เป็นการจับคุมคุมขังโดยไม่ชอบ คำร้องไม่มีมูล ให้ยกคำร้อง

ภายหลังนายคารมกล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้ใช้กระบวนการตามกฎหมายอย่างเต็มที่แล้ว และเคารพคำสั่งศาล แต่คดีนี่จะต้องมีการพิสูจน์กันต่อไปในชั้นศาลอุทธรณ์ และฎีกา ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการประชุมครม.เกี่ยวกับเรื่องที่มีความร้ายแรง ประชุมกันแค่ 4-5 คน ได้ตามกฤษฎีกาตีความ แต่ขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งระบุไว้ต้องประชุม ครม.จำนวน 1 ใน 3 ของ ครม.ทั้งหมดที่มีอยู่ โดยจะยื่นอุทธรณ์ภายในวันจันทร์หรืออังคารหน้า พร้อมขอให้ศาลอุทธรณ์มีหมายเรียกเอกสารการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน มาตรวจสอบว่ามีการนำเรื่องประกาศ พ.ร.ก.เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ทราบหรือไม่ เพราะนายสุรชัย เพียงให้การด้วยวาจาไม่ได้แสดงเอกสาร ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานที่ตนมี

นายคารมกล่าวว่า ถึงตอนนี้ก็คงจะต้องรอดูต่อไปว่านายอภิสิทธิ์จะประกาศยกเลิก พ.ร.ก.เมื่อใด หรือจะใช้ต่อไปจนครบกำหนด 3 เดือน และจะคุมขังแกนนำไว้จนครบกำหนด 1 เดือน ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจหรือไม่ โดยขอให้จับตาดูว่าเมื่อครบกำหนด 1 เดือนแล้วเจ้าพนักงานจะปล่อยตัว 3 แกนนำ นปช.หรือไม่ หรือว่าจะปล่อยตัวแล้วจับกุมคุมขังต่ออีก 1 เดือน ซึ่งคงหมดสิทธิประกันตัวเพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะอ้างว่ามีข้อสงสัยที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งหากไม่กระทำด้วยความตรงไปตรงมา ความสมานฉันท์ที่นายกรัฐมนตรีประกาศคงไม่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น