xs
xsm
sm
md
lg

“พีระพันธุ์” ดันเครือข่ายยุติธรรมร่วมปกป้องเบื้องสูง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
“พีระพันธุ์” ชี้องคมนตรีเทียบเท่าคนธรรมดา หากมีใครหมิ่นประมาทก็ต่างจากสถาบันเบื้องสูง พร้อมผลักดันตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมเป็นเครือข่ายยุติธรรมสังกัดกรมบังคับคดีอาญา เน้นคุมภารกิจหลักปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้าน “ปณิธาน” ชี้ความอยุติธรรมเป็นปัญหาความมั่นคงสมัยใหม่ ระบุไทยตกเป็นเป้าสนใจของกลุ่มก่อการร้าย

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์บนเวทีคนเสื้อแดงที่จัดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ เมื่อเย็นวานนี้ โดยมีการเปิดเผยว่าได้มีระดับองคมนตรี และมีบุคคลทางด้านกระบวนการทางศาล วางแผนโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเป็นการอ้างว่า พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นผู้เปิดเผยใน พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบนั้นว่า องคมนตรีถือเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมาย หากมีใครกล่าวหมิ่นประมาท ก็เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป ซึ่งต่างจากสถาบันเบื้องสูง แม้ว่าในต่างประเทศจะใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท แต่ในประเทศไทยถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ตามมาตรา 112 และยังบัญญัติไว้ด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่มีมานาน

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์กล่าวภายหลังการเปิดการสัมมนาเรื่องกระทรวงยุติธรรมกับความคาดหวังของประชาชน ว่าความเดือดร้อนของประชาชนในด้านกฎหมายเกิดขึ้นทุกสภาวะ ในช่วงเศรษฐกิจดีจะมีการโกงกันมาก แม้แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็ต้องให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนดูแลตัวเอง ซึ่งในต่างประเทศกระทรวงยุติธรรมถือเป็นกระทรวงอันดับ 1 แต่สำหรับประเทศไทยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการสถาปนากระทรวงมาได้ 117 ปีก็ตาม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมต้องดูแลความเป็นธรรมให้แก่สังคม โดยที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุประชาชนไม่รู้ว่าจะแจ้งใครได้

ดังนั้นจึงตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรมขึ้น เพื่อให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และต่อไปจะพัฒนาให้มีระบบแจ้งข่าว เมื่อเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้ถึงที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เครือข่ายยุติธรรมจะจัดตั้งขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จากนั้นจะเร่งผลักดันให้อยู่ภายใต้สังกัดกรมบังคับคดีอาญา ซึ่งศึกษารูปแบบมาจากยูเอสมาแชล เพื่อให้มีภารกิจหลักในด้านการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้าน นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเมืองกับการสร้างความยุติธรรมว่า การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบกฎหมาย ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในระดับชุมชุม แต่ได้พัฒนาเป็นปัญหาความมั่นคงสมัยใหม่ จำเป็นต้องจัดการปัญหาด้วยระบบใหม่ เนื่องจากโครงสร้างเก่าที่อ่อนแอไม่สามารถแก้ปัญหาเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายสากลได้ โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายที่จะใช้ข้ออ้างเรื่องความไม่เป็นธรรมมาเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติการข้ามชาติ โดยคนในกลุ่มก่อการร้ายหลายคนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งทั่วโลกมีระเบิดพลีชีพเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยสถานการณ์ความรุนแรงของประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน จึงจัดเป็นพื้นที่อันตรายในลำดับที่ 5 ของโลก ดังนั้น คนในพื้นที่จึงรู้สึกผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจับคนร้ายมาดำเนินคดีไม่ได้ เป้าหมายคือต้องคุ้มครองประชาชนให้ได้ ใช้แนวทางการเมืองและทหารผสมกัน เปิดพื้นที่ให้ระบบเศรษฐกิจเข้าไปพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างเป็นระบบ

“เราจำเป็นต้องให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ เพื่อไม่ให้ใช้วิธีในการเรียกร้อง เรื่องการก่อการร้ายในไทยยังไม่พบมาก แต่ประเทศไทยได้รับความสนใจจากกลุ่มก่อการร้ายมากขึ้น จึงหาทางสกัดก่อนจะเกิดปัญหาใหญ่” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธานกล่าวอีกว่า อาชญากรรมข้ามชาติมีเครือข่ายโยงใยไปทั่วโลก เงินจากการค้ายาเสพติดไหลเข้าสู่กระบวนการก่อร้าย แกนนำก่อการร้ายในภาคใต้กว่า 100 คน จบปริญญาโท มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การต่อสู้ในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเด็กวัยรุ่นในภาคใต้ใช้เงินสด 5-6 แสนบาท ซื้อรถยนต์ 2 คัน จ่ายโดยไม่มีหลักฐานว่าได้เงินมาจากที่ไหน จากนั้นก็นำรถยนต์ไปบรรจุระเบิด นำมาจอดตามโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ

นอกจากนี้ เครือข่ายก่อการร้ายยังเชื่อมโยงกับขบวนการค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ กรณีชาวโรฮิงยา ประเทศไทยได้รับผลกระทบแต่กลับตกเป็นจำเลยในเวทีโลก ต้องชี้แจงถึงหลักมนุษยธรรมในการดำเนินคดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวผูกโยงกันทั้งหมด จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น