ป.ป.ท.ไม่ญาติดีกับ กบข.แต่เดินหน้ายื่นขอเข้าตรวจสอบการลงทุน-บริหารงาน กบข.ต่อปลัดกระทรวงการคลังอีกครั้ง พร้อมปฏิเสธไม่เข้าเป็นอนุกรรมการ ร่วมตรวจกับ กบข.ปล่อยให้ภายในดูกันเอง หาก กบข.ยังบ่ายเบี่ยงไม่ให้ ป.ป.ท.เอกซเรย์จะทำรายงานเสนอ “พีระพันธุ์” ช่วยทำหนังสือถึง รมว.คลัง พิจารณาออกคำสั่งให้ กบข.ยินยอมต่อไป
ความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้ตรวจสอบการลงทุนและบริหารงานของ กบข.ในปี 2551 เนื่องจากปรากฏว่า ผลตอบแทนสมาชิกติดลบและได้ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า การบริหารงานของกบข.ขาดทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (17 มี.ค.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า วันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ไปยื่นหนังสือต่อ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อขอเข้าตรวจสอบการลงทุนของ กบข.โดยยืนยัน คือ 1.ป.ป.ท.จะเข้าตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ 2.ขอปฏิเสธไม่เข้าร่วม กรณีที่ประชุมบอร์ด กบข.เชิญ ป.ป.ท.เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ ตรวจสอบ เพราะเห็นว่าเป็นการตรวจสอบภายในกันเอง สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้หากการประชุมของบอร์ด กบข.ในวันที่ 20 มี.ค.ไม่เห็นชอบให้ ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบ ตนจะทำรายงานเสนอ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม เพื่อทำหนังสือถึงรมว.คลัง พิจารณาออกคำสั่งให้ กบข.ยินยอมให้ ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเช้ามีสมาชิก กบข.กว่า 300 คนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล และนายกร จาติกวณิช รมว.คลัง เตรียมตั้งคณะกรรมการอิสระจากภายนอกเข้าตรวจสอบการบริการกองทุน กบข. นายธาริต กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับการทำงานของ ป.ป.ท. ส่วนการมายื่นหนังสือของสมาชิก กบข.นั้น เห็นว่า เป็นสิทธิที่สามารถทำได้
เลขาฯ ป.ป.ท.กล่าวอีกว่า สำหรับความพร้อมของ ป.ป.ท.ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ จะเสนอ รมว.ยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจาก 7 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วิทยาลัยตลาดทุน (ก.ล.ต.) กระทรวงการคลัง นักวิชาการอิสระ กบข.และ ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบการอย่างเป็นทางการ ส่วนคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานคู่ขนาน หรือรวมกับคณะกรรมการอิสระของ รมว.คลัง คงต้องรอนโยบายจาก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม
“การตรวจสอบ กบข.ที่เป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน โดยปกติจะใช้วิธีประสานงานกัน ดูจะเหมาะสมกว่าการเอากฎหมายไปบังคับ เพราะ ป.ป.ท.ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นการเข้าตรวจสอบการบริหารงานส่วนจะโปร่งใสหรือไม่ต้องรอผลของคณะกรรมการ” นายธาริต กล่าว
ส่วนกรณีที่รองผู้ว่าการ สตง.ในฐานะกรรมการ กบข.ยังสงสัยอำนาจการตรวจสอบ ของ ป.ป.ท.นั้น นายธาริต กล่าวว่า รมว.ยุติธรรม ได้ยืนยันอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.ชัดเจน อีกทั้งหน่วยงาน ป.ป.ท.ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในภาครัฐ การที่หน่วยงานภาครัฐตรวจสอบกันเป็นสิ่งที่ดี รัฐบาลจึงตั้งขึ้นมา ขอยืนยันว่า ไม่ใช่การจับผิด เป็นการทำความจริงให้ปรากฏ