การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ หรือผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมและผู้เสียหายจากกระบวนการยุติธรรมหรือจำเลยในคดีอาญา ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบอยู่นั้น ในแต่ละปีรัฐต้องใช้เงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ในการช่วยเหลือเยียวยา โดยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในปีพ.ศ.2545 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2552 สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ทั้งสิ้น 12,446 ราย เป็นเงิน 1,020,272,718.27 ล้านบาท
ทั้งนี้กฎหมายช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคล ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยที่ตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งการรับรองสิทธิในการได้รับค่าตอบแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้น และปรากฎข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ดังนั้น เพื่อให้การรับรองสิทธิดังกล่าว เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา" ซึ่งปัจจุบันใช้กฎหมายฉบับเดียวกันคือ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แต่ผลจากการศึกษาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า ควรจะแยกการช่วยเหลือระหว่างผู้เสียหายและจำเลย เป็นพระราชบัญญัติคนละฉบับกัน
การช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายในประเทศไทย ใช้หลักสวัสดิการ คือ เป็นการให้การสงเคราะห์หรือช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น เช่นคดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ กรมคุ้มครองสิทธิฯก็ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น แค่ไม่สามารถช่วยเหลืออย่างมหาศาลได้ เพราะไม่ใช่บริษัทประกันภัย
หลักการ“เยียวยาเบื้องต้น” หมายความว่ารัฐจะต้องให้การคุ้มครองประชาชนทั้งในชีวิตและทรัพย์สินได้ หากรัฐไม่สามารถคุ้มครองได้ รัฐก็ควรจะมีการเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้เสียหาย ส่วนกรณีจำเลยในคดีอาญาที่เป็นผู้เสียหายจากกระบวนการยุติธรรม โดยที่เป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้กระทำความผิดนั้น ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐเช่นกัน และ"การช่วยเหลือเหยื่อในคดีอาญา เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ถ้าคดีแพ่งระหว่างเอกชนกับเอกชน หากมีการละเมิด ก็ต้องไปเรียกร้องกันเอง"
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ผอ.สำนักช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาบอกกับเรา ทีมข่าวอาชญากรรม เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ว่า กฎหมายการช่วยเหลือเยียวยาของประเทศไทยก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาตรฐานอยู่ระดับเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้
น.ส.ปิติกาญจน์ บอกว่า การช่วยเหลือผู้เสียหายแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีบาดเจ็บ 1.ค่ารักษาพยาบาล โดยให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท 2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท 3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ เช่นป่วยต้องไปนอนที่โรงพยาบาล วันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีและ 4. ค่าตอบแทนอื่นตามที่คณะกรรมการฯเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ให้จ่าย 1.ค่าตอบแทนตั้งแต่ 30,000 บาท ไม่เกิน 1 แสนบาท 2.ค่าจัดการศพไม่เกิน 20,000 บาท 3.ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท 4. ค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการฯเห็นสมควรแต่ไม่เกิน 30,000 บาท อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงส่วนใหญ่คณะกรรมการฯ จะพิจารณาจ่ายรวมทั้งหมดไม่เกินรายละ 1 แสนบาท อย่างคดีซานติก้าผับ จ่ายรายละ 80,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 45 ราย
ส่วนค่าทดแทนกรณีจำเลยถูกจำคุกในคดีอาญา ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์หรือที่เรียกว่า“แพะ”นั้น ประกอบด้วย 1.ค่ารักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท 2.ค่าฟื้นฟูสมรรถนะร่างกายและจิตใจไม่เกิน 50,000 บาท 3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ไม่เกินวันละ 200 บาทนับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ 4.ค่าตอบแทนอื่นไม่เกิน 30,000 บาทและ 5.ค่าทนายความเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
การพิจารณาว่า ผู้เสียหายควรมายื่นรับค่าตอบแทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพหรือไม่ ประเด็นสำคัญที่สุด คือ ผู้เสียหาย จะต้องไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำความผิด ซึ่งในหลักฐานการแจ้งความของพนักงานสอบสวนจะระบุว่าผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ เช่น ไปชกต่อยกับเพื่อน ก็ถือว่าสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน ก็ไม่ได้ ยกเว้นไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุลมุนเลย แต่ถูกอีกฝ่ายตีหัว ทำร้ายก็ถือว่าเป็นผู้เสียหาย แต่ตำรวจต้องระบุรายละเอียดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
"สรุป หนึ่งต้องเป็นคดีต่อชีวิต ร่างกายและความผิดเกี่ยวกับเพศ สองไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิด สามมีค่าใช้จ่ายจากการกระทำอาชญากรรมของผู้อื่น เช่นไปโรงพยาบาลแล้ว จ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 บาทแล้ว แต่หมอบอกว่ายังมีค่ารักษาอีก 5,000 บาท คดีข่มขืนมีเข้ามายื่นจำนวนมากพอสมควร โดยคณะกรรมการฯจะพิจารณาจากพฤติการณ์การกระทำผิดตามสำนวนการสอบสวนของตำรวจ หากไม่ชัดเจนก็จะรอคำพิพากษาของศาล เพราะคดีข่มขืนบางครั้งดูยาก จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่า สมัครใจหรือเป็นแฟนกันหรือไม่ ทำไมถึงไปกับคู่กรณีในยามวิกาล แต่สุดท้ายคณะกรรมการฯก็จะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่" ผอ.สำนักช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายในคดีอาญากล่าว
ส่วนกรณีเป็นจำเลยในคดีอาญา มีเงื่อนไขว่า ศาลจะต้องได้รับการพิพากษาคดีถึงที่สุด ว่าจำเลยไม่เป็นผู้กระทำผิด ส่วนกรณีศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้แก่จำเลย ก็จะไม่ได้รับค่าชดเชย เพราะถือว่ายังไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเพียงพอ
อย่างไรก็ตามการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนจำนวนเท่าใดนั้น สุดท้ายขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ"คณะกรรมพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียาหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา"ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการฯ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 17 คน และจะประชุมเพื่อพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 1 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีเข้ามาประมาณ 300-500 คดี ทั้งนี้ โดยมีคณะอนุกรรมการฯ กลั่นกรองเบื้องต้น จำนวน 11 คณะ ทำหน้าที่พิจารณาดูรายละเอียดของแต่ละคดี ก่อนส่งมอบให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา
สำหรับช่องทางที่ประชาชนสามารถมายื่นแจ้งสิทธิได้คือ 1.ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด 2.ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานเชิงรุกคือศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปเยี่ยมหรือแจ้งสิทธิ กรณีเป็นคดีสะเทือนขวัญ อุกฉกรรจ์ อยู่ในความสนใจของประชาชน ใช้หลักฐานประกอบด้วยสำเนาทะเบียนบ้าน กรณีบาดเจ็บต้องมีหลักฐานใบแจ้งความจากสถานีตำรวจ ขณะนี้พบว่าประชาชนจากต่างจังหวัดทั่วประเทศได้ยื่นเรื่องเข้ามามากสุดประมาณ 500-600 รายต่อเดือน และมายื่นที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประมาณ 5-10 ราย
ผอ.สำนักช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาตั้งข้อสังเกตุถึงการหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยา ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืนว่า ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการเยียวยาด้านจิตใจอย่างเป็นจริงเป็นจัง เนื่องจากผลกระทบทางด้านจิตใจค่อนข้างพิสูจน์ยาก ไม่มีใบเสร็จ ซึ่งผู้หญิงที่ถูกข่มขืนส่วนใหญ่จะได้รับค่าเสียหายด้านร่างกาย ประมาณ 30,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง ในอนาคตจึงอยากเห็นผู้หญิงที่โดนกระทำที่รุนแรงอย่างถูกข่มขืน ซึ่งสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ ได้มีกลไกหรือมาตรการต่างๆ เข้ามาเยียวยา เช่นอาจจะประสานเชื่อมโยงกับทางโรงพยาบาลหรือกระทรวงพัฒนาสังคมให้การช่วยเหลือมากขึ้น
สุดท้าย การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ หรือผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมและผู้เสียหายจากกระบวนการยุติธรรมหรือจำเลยในคดีอาญา ยังมีเหยื่อ และญาติเหยื่ออีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ทราบเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดการช่วยเหลือเยียวยาไว้ ในขณะเดียวกัน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ และแจ้งให้บุคคลทั่วไปได้ทราบเรื่อง เพียงแต่ว่า คุณเห็นสำคัญว่า เรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องไกลตัว จึงมักไม่ได้ใส่ใจมากนัก จากนี้ไป อย่าเห็นว่า เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในอนาคต ไม่แน่เสมอว่า เหยื่อในวันนั้น...อาจเป็นคุณ!?!