“บรรณวิทย์” จี้ ป.ป.ช.เร่งชี้มูล 14 คดีโกงสุวรรณภูมิ หลังยื่นไว้ 2 ปีไม่คืบ ปล่อยปัญหาในสนามบินราคาซัง ไร้คนแก้ไข เล็งฟ้องแพ่ง-อาญาบอร์ดยกชุด ฐานขาดความรับผิดชอบหลังเหตุปิดสนามบิน เอาแต่โยนผิดให้พันธมิตรฯ ทั้งที่บอร์ดมีอำนาจจัดการเต็มที่ เชื่อ มีไอ้โม่งบงการกระทรวงคลังช่วยบอร์ดปกปิดความผิด บิดเบือนผลประกอบการ สั่งจ่ายโบนัสคนละ 1.3 ล้าน ตั้ง กก.ชุดใหม่แบบมัดมืดชก
คลิก!ฟังเสียงการสนทนา==>
ช่วงสนทนาในรายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” วันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา นางสาวเมธาวดี เบญจราชจารุนันท์ สัมภาษณ์ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในประเด็นเงื่อนงำการบริหารงานของบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.และสารพัดปัญหาในสนามบินสุวรรณภูมิ
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า จากการที่ตนเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 2 ปีก่อน พบปัญหาทุกจุดตั้งแต่ก้าวเข้าไปในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น รันเวย์ใช้ยางมะตอยหมดอายุ ห้องน้ำไม่พอ พื้นแตก หลังคาผ้าใบไม่ได้สเปก แอร์ไม่เย็น สายเติมน้ำยาแอร์บนเครื่องบินสั้นเกินไป ปัญหาพวกนี้แก้ไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำไปทั้งหมด 16 เรื่อง อยู่ที่ ป.ป.ช.แล้ว 14 เรื่อง เช่น เรื่องคิงส์เพาเวอร์ที่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องรถเข็นกระเป๋า เรื่องเหล่านี้เราคอยเวลาที่ ป.ป.ช.จะชี้มูล บางเรื่องที่ช้ามากตนก็ไปฟ้องเอง ศาลฯ ก็ให้คอย ป.ป.ช.อีกระยะหนึ่ง จึงขอเรียนไปยัง ป.ป.ช.ให้เร่งพิจารณาเพื่อส่งไปให้ศาลที่เป็นที่พึ่งของเรา
“ตอนนี้พี่น้องก็คอยอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อไหร่จะได้คนผิดมาลงโทษ เมื่อไหร่จะมีการปรับปรุง ซึ่งจนป่านนี้ห้องน้ำก็ยังไม่เพิ่ม ทั้งที่ผ่านมาหลายปี ทุกอย่างยังไม่มีการขับเคลื่อนอะไรเลย” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว
**สารพัดโกงในสุวรรณภูมิ
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวต่อว่า กลุ่มบุคคลที่บริหารงานไม่โปร่งใสใน ทอท.นั้นเริ่มมีมาตั้งรัฐบาลก่อน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนสนามบินเสร็จ เป็นการร่วมด้วยช่วยกัน มีการเร่งรีบ ไม่มีการประกวดราคา ไม่มีการทำตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ เราจะเห็นว่า แอร์ไม่เย็น ไฟไม่สว่างพอ ห้องน้ำจำนวนไม่พอ ทางหนีไฟถูกบัง ทางเลื่อนมี 15 เส้นทาง สร้างไป 8 ไม่ได้สร้าง 7 เพราะเอาพื้นที่ไปทำร้านค้า ที่ร้ายกว่านั้นมีการเบิกเงินค่าทางเลื่อนส่วนที่ไมได้สร้างด้วย เหล่านี้มีหลักฐานฟ้อง เราส่งไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ สนามบินสุวรรณภูมิที่รองรับผู้โดยสารปีละ 40 ล้านคนเศษ ต้องมีทางออก 7 ทาง แต่เปิดเพียง 2 ทาง ซึ่งถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน คนต้องวิ่งออกมาพร้อมๆ กัน อะไรจะเกิดขึ้น เชื่อว่าเรื่องนี้ก็มีอะไรแอบแฝง เป็นเพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้พวกแท็กซี่หรือเปล่า ถ้าอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดแล้วจะออกแบบสร้างมาทำไม
**ร้องศาลปกครองระงับโบนัสบอร์ดคนละ 1.3 ล้าน
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวต่อว่า หลังจากเรื่องที่ตนทำในนามกรรมาธิการไปอยู่ที่ ป.ป.ช.หมดแล้ว เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้ไปร้องต่อศาลปกครองให้สั่งระงับการจ่ายโบนัสให้กับบอร์ด ทอท.คนละ 1.3 ล้านบาท หลังจากที่ตนได้ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น และพบว่ามีวาระการจ่ายโบนัสให้กับบอร์ดในอัตราดังกล่าว โดยอ้างว่าปี 2551 ทอท. มีกำไร สุทธิ 7,321 ล้านบาทเศษ แต่ถ้าดูให้ดี รายได้ดังกล่าวไม่น่าจะนำมาเป็นกำไร เพราะเป็นรายได้ค่าทดแทนตามคำสั่งศาลแพ่งจำนวน 8,331 ล้านเศษ ซึ่งก็คือเงินที่คิงเพาเวอร์เอาไปวางศาลตามที่มีการฟ้องร้องกัน เงินจำนวนนี้เมื่อมีการประนีประนอมตามคำสั่งศาล ก็เอาเงินนี้กลับมา แต่ถ้ามีการฟ้องร้องกันถึงที่สุดให้รู้ว่าใครผิดใครถูกจะทำอย่างไร ซึ่งถ้าไม่เอายอดนี้มาก็จะขาดทุนแน่นอน
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า ตนได้ซักถามในที่ประชุม เพราะเงินจำนวนนี้ไม่ใช่รายได้ที่เกิดจากการประกอบการ จะเอามาแบ่งกันได้อย่างไร บอร์ดก็บอกว่าเอามาทำบัญชีแบ่งได้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้าประชุมทั้งหมด 300 กว่าคนคัดค้าน แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เพราะเสียงรวมกันได้แค่ 5 แสนกว่าหุ้น ขณะที่กระทรวงคลังถือหุ้นพันล้านหุ้นบอกว่าต้องจ่าย
“ผมก็ถามหาคุณธรรมจริยธรรมของพวกเขาว่ามีความรู้สึกยังไง ก็บอกว่า เขาสั่งมาให้จ่าย ก็ต้องจ่าย สุดท้ายกระทรวงคลังก็ใช้สิทธิ เพราะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บอกว่าจ่ายก็ต้องจ่าย พวกผมในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย ก็เลยไปฟ้องศาลปกครอง ให้คุ้มครองการจ่ายเงินโบนัสให้กับคณะกรรมการการท่าฯ ไว้ก่อน คือไม่ให้มีการจ่าย”
**จี้บอร์ดรับผิดชอบ ไร้แผนสำรองหลังปิดสนามบิน
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาวาระอื่นๆ ตนก็ถามว่า กรณีการปิดสนามบินนั้น ตนกล่าวหาคณะกรรมการ ทอท.ทั้งคณะว่า ไม่ได้มีความรับผิดชอบ และได้ถามว่ามีแผนอะไร หรือทำอะไรไปบ้าง เมื่อมีการปิดสนามบิน ซึ่งเป็นการสั่งปิดโดยรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ (นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์) ซึ่งความจริงไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ที่บอร์ด หลังมีการปิดแล้วบอร์ดจะต้องทำอะไร เพราะเป็นคนมีอำนาจ ไม่ว่าจะรู้มาก่อนหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีการปิด บอร์ดต้องทำอะไรสักอย่าง แต่บอร์ดไม่ยอมตอบ จนกระทั่งจะปิดประชุม ตนได้ถามย้ำ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งประธานบอร์ดได้ให้นายเสรีรัตน์ตอบ
“นายเสรีรัตน์ ก็ตอบว่าได้มีการเตรียมสนามบินสำรองไว้ตามแผน และก็เนื่องจากไม่พร้อม เรื่องน้ำมัน และอะไรหลายๆ อย่าง เลยไม่ได้ใช้ ผมก็ถามว่าแล้วอย่างนั้นจะเรียกว่าสนามบินสำรองได้ยังไง เหมือนเรามียางอะไล่ แต่ถ้ายางอะไล่นั้นแตก เราจะเรียกยางอะไหล่นั้นได้อย่างไร ถ้ามีสนามบินสำรอง เราต้องเตรียมให้พร้อม อย่างเมื่อปีก่อนที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษา ทอท.อยู่ มีเครื่องยางแตกขวางรันเวย์ เครื่องบินต้องไปใช้ดอนเมือง แต่ดอนเมืองไม่มีน้ำมันให้เติม ก็ไปลงอู่ตะเภา ซึ่งตอนนั้นไม่มีเหตุปิดสนามบิน ก็ยังมีแผนรับมือได้ ถามว่าตรงนั้นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็เป็นของคณะกรรมการการท่าฯ โดยตรง”
**ลั่นฟ้องแพ่ง-อาญาบอร์ดไม่รับผิดชอบ
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยพากันวอล์กเอาต์ ได้ไปตกลงกันว่า ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยจะร่วมกันฟ้องกรรมการการท่าฯ ทั้งแพ่งและอาญา เรืองการปิดสนามบินที่บอร์ดไม่รับผิดชอบ เพราะพวกเราเป็นผู้เสียหาย จะฟ้องแทนพี่น้องชาวไทย ขณะนี้กำลังร่างคำฟ้องอยู่ ซึ่งเมื่อบอร์ดการท่าฯ เป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ดำเนินการ ก็จะฟ้องฐานทำผิด ม.157 ไปก่อน หลังจากนั้นจะฟ้องแพ่งต่อไป
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ยังได้ยกตัวอย่างถึงปัญหาเครื่องเติมน้ำยาแอร์ให้กับเครื่องบิน(พีซีแอร์) ซึ่งเมื่อเติมให้เครื่องขนาดใหญ่แล้วแอร์ไม่เย็น รวมถึงสายชาร์จไฟเครื่องบิน (400 เฮิรตซ์) ที่ไปไม่ถึงเครื่อง ต้องใช้โมบายยูนิตออกไปเติม ทำให้เกิดมลภาวะและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เรื่องนี้ กรรมาธิการฯ สนช.เคยสอบแล้วมีความผิดปกติ และคณะกรรมการที่บอร์ดแต่งตั้งขึ้นก็สรุปแล้วเช่นกันว่ามีคนทำผิด แต่ผ่านไป 1 ปีแล้ว บอร์ดยังไม่ยอมทำอะไร ต้องให้ตนไปแจ้งดีเอสไอ และ ป.ป.ช. แล้วบอร์ดทำอะไรกันอยู่
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ย้ำว่า ทุกสิ่งในสนามบินสุวรรณภูมิผิดปกติหมด แต่ไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าต้องมีผู้มีอำนาจมากอยู่เบื้องหลัง ยกตัวอย่าง พีซีแอร์ กับ 400 เฮิตซ์ เราก็ยังอยู่กันไป และจะสร้างเฟส 2 แล้ว ทั้งยังจะให้ย้ายสายการบินจากดอนเมืองมาอีก ทั้งที่แน่นอยู่แล้ว และถ้ามีสนามบินเดียว หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไปใช้ที่ไหน แน่ใจหรือว่าไม่มีเหตุฉุกเฉินอีก แท็กซี่เวย์ รันเวย์ที่ร้าว ก็ต้องซ่อมตลอด จะแก้ไขโดยถาวรอย่างไรก็ยังไม่มีการแถลงให้ประชาชนทราบ
**โยนบาปพันธมิตรฯ เบนความสนใจคดีโกง
ต่อข้อถามว่า การโยนความผิดในการปิดสนามบินไปให้พันธมิตรฯ ถือเป็นการจงใจกลบเกลื่อนประเด็นทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวว่า เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจให้ไปสู่เรื่องนี้ ให้พันธมิตรต้องมาต่อสู้เรื่องที่ตัวองถูกกล่าวหา แทนที่จะไปขุดคุ้ยต่อ แต่ก่อนเรามีรายการรายงานให้พี่น้องทราบถึงความไม่โปร่งใสในสนามบินสุวรรณภูมิทุกวันพุธ วันละโครงการๆ ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจแล้ว แต่เมื่อมีเรื่องอย่างนี้ทำให้เราต้องไปเตรียมการเรื่องอื่น ซึ่งที่จริงพันธมิตรฯ ไม่ได้ปิด เดินไปยังไม่ถึงด้วยซ้ำ และไม่ได้ลงไปในรันเวย์หรือแท็กซี่เวย์ หรือ แล้วถ้าไปถึง เครื่องบินก็ไปลงดอนเมืองได้ มันจึงมีอะไรไม่ชอบมาพากล การปิดสนามบินในหลายประเทศก็มี แต่ทำไมประเทศเราเป็นอย่างนี้
สำหรับกฎหมายที่เพิ่งออกห้ามยึดสนามบินนั้น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า ตนทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนที่จะเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะเราไม่มีกฎหมายรองรับ ก็เลยทำกฎหมายนี้ออก มันมาพ้องกันพอดี แต่ว่าไม่ใช่เพราะเกิดเหตุปิดสนามบิน จึงต้องทำกฎหมายนี้ออกมา แต่เป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้สนามบินสุวรณภูมิ โดยให้เจ้าหน้าที่การท่าฯ มีอำนาจในการจับกุม ตนผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลสุรยุทธ์ แล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวอีกว่า การออกกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างเหตุจากการปิดสนามบินของพันธมิตรฯ ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ตนยังไม่รู้ว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร แต่ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฉบับเดิมที่ตนทำไว้ ให้อำนาจในการจับกุมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของการท่าฯ เพราะว่าในดอนเมือง รปภ.มีอำนาจในการจับกุมได้ แต่จะเกี่ยวกับการปิดสนามบินหรือไม่นั้น ตามปกติมันต้องมีแผนสำรองอยู่แล้ว และกว่าจะไปปิดได้มันไม่ง่าย พันธมิตรฯ ก็เข้าไปไม่ถึง อยู่แต่ด้านนอก มันมีระบบที่วางไว้อย่างดีอยู่แล้ว
**มัดมือชกตั้ง 14 กรรมการ
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวถึงการประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ยังมีพิรุธเรื่องรายชื่อคณะกรรมการ ทอท.ชุดใหม่ ที่ไม่บรรจุในวาระ จนเกิดการวอล์กเอาต์ โดยประธานเพิ่งแจ้งว่ามีวาระการแต่งตั้งกรรมการ 14 คน ก่อนที่จะถึงเวลาปิดประชุมแล้ว ตนได้แย้งว่ามันผิดระเบียบ เพราะวาระการประชุมต้องแจ้งล่วงหน้า 14 วัน แต่ผู้แทนกระทรวงการคลังก็ให้นักกฎหมายชี้แจงว่ามันมีช่องว่างที่ทำได้ ถ้าในที่ประชุมผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้ไขบรรจุอะไรก็ได้ หรือแก้ระเบียบยังได้เลย หลังจากนั้นกระทรวงการคลังก็ได้ใช้เสียงพันล้านหุ้นลงมติให้บรรจุวาระแต่งตั้งกรรมการเลยแล้วเดินแจกกระดาษรายชื่อกรรมการ
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถเข้าเป็นกรรมการถึง 4 คน เขาก็เลือกมาให้เลย ยกมือเองเลย เราไม่มีโอกาสไปศึกษาเลยว่าใครเป็นอะไรอย่างไร เมื่อเห็นว่าขัด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ เราก็วอล์กเอาต์จนเหลือตัวแทนกระทรวงคลังอยู่ในห้องประชุมคนเดียว พวกเราก็ไปฟ้องศาลปกครอง.ในวันจันทร์ เพื่อขอคุ้มครอง 2 ประเด็น คือ การจ่ายโบนัสให้กรรมการคนละ 1.3 ล้านบาท และการตั้งกรรมการ ที่ไม่มีตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่ด้วย เพราะเขาตั้งเองทั้ง 14 คน ซึ่งบางคนก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร บางคนก็เปลี่ยนชื่อมา 2 ครั้ง บางคนโดนตั้งกรรมารสอบสวนอยู่ แต่เราก็ไม่มีสิทธิทำอะไรได้ เพราะกระทรวงการคลังยกมือทีเดียวได้เลย
**เชื่อมีไอ้โม่งบงการ
ส่วนคำถามว่าเหตุใดกระทรวงการคลังให้ความร่วมมือในการบิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งเรื่องผลการดำเนินงานและการตั้งกรรมการบริษัท พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวว่า ก็ยังสงสัยอยู่ เพราะมีการแถลงข่าวว่าได้กำไร 7 พันกว่าล้าน ทั้งที่เป็นค่าทดแทนตามคำสั่งศาล แต่เอามาแบ่งกัน และถ้าย้อนไปปี 50 ก็ขาดทุน แต่ก็ปันผลไปเรียบร้อยแล้ว โดยปี 50 อ้างว่าได้กำไร 1.08 พันล้านบาท มาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกจากวิธีส่วนได้ส่วนเสียเป็นวิธีราคาทุน ได้กำไร 100.09 ล้าน ส่วนที่ 2 กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.8 พันล้านบาท แต่กำไรสุทธิ 1 พันล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนก็คือขาดทุน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้เราเอาสนามบินสุวรณภูมิให้คนเช่าน่าจะดีกว่า คิดปีละกี่หมื่นล้านก็ได้ ไม่ต้องมาแบกภาระขาดทุน
นอกจากนี้ อีกเรื่องคือรถลีมูซีน ซึ่งที่ดอนเมืองนั้นมีการให้สัมปทาน ต้องใส่ซองและมาเปิดแข่งกันใครให้การท่าฯ มากกว่าก็รับไป การท่าก็รับเงินเลย แต่พอมาสุวรรณภูมิสนามบินใหญ่ขึ้นกลับเปลี่ยนเป็นการจ้าง โดยไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือกระทรวงคมนาคม แต่อนุมัติโดยคณะกรรมการ ซึ่งต้องเช่ารถแคมรีคันละ 5 ล้าน จ่ายค่าคนขับ ค่าน้ำมัน ค่าคนขายตั๋วคิวอีก แล้วก็ยังทำกันอยู่ได้ต่อไป
**อ้างปิดสนามบินทำขาดทุนฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ ทอท.อ้างว่า ผลประกอบการตกต่ำ มาจากการปิดสนามบินของพันธมิตรฯ นั้น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า อำนาจในการปิดสนามบินอยู่ที่คณะกรรมการ ทอท. แต่หากปิดไป 6-7 วันแล้วขาดทุนย่อยยับ ในปี 2550 ไม่ได้ปิด ทำไมยังขาดทุน แล้วปี 2551 นั้น งบดุลฯ ปิดไปตั้งแต่ก่อนที่จะปิดสนามบินแล้ว ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารในสหรัฐที่ถือหุ้นใน ทอท.5รายใหญ่ เพิ่งขายหุ้นออกไปจนหมด ทั้งที่เราก็เปิดสนามบินแล้ว ถ้าคิดว่าเปิดแล้วจะมีกำไร เขาจะขายหรือ เพราะฉะนั้น การขาดทุนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการประกอบการของท่าน ลองนึกดูว่าถ้าต่างชาติมาเห็นการบริหารอย่างนี้ เห็นประตูเหลือแค่ 2 อัน ก็ผิดปกติแล้ว การอผ่าน ตม. ศุลกากร ต้องใช้เวลานานมาก ทั้งที่มันน่าจะไม้เกิน 7 นาที ทั้งที่ศุลกากร ตม.เขาก็บอกว่าพร้อม นอกจากช่องที่มีอยู่สามารรถเปิดได้เต็มที่แล้วยังสามารถขยายได้อีก แต่ที่ไม่ทำเพราะเป็นพื้นที่ร้านค้า
“ทุกวันนี้ ถ้าเครื่องจัมโบ้เจ็ตลงพร้อมกัน 3 ลำ เวลา 5 ทุ่ม กว่าจะออกจากสนามบินได้หมดต้องรอถึงตี 3 เรื่องแบบนี้ทำไมไม่แก้ แล้วจะมาย้ายสนามบินไปมา ทั้งที่มีเรื่องอื่นให้ทำเยอะแยะไม่ทำ ถ้าเกิดย้ายไปหมดแล้วรันเวย์เสีย เพราะใช้ยางมะตอยหมดอายุ ต้องรื้อใหม่หมดจึงจะแก้ถาวรย่างถาวร จะแก้ปัญหาอย่างไร แล้ว วันนี้สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งตามผังจะมีอีก 1 อาคารสำหรับผู้โดยสารในประเทศ แต่ยังไม่ได้สร้าง และตัดออกไปก่อน”
**มาเฟียคุมสุวรรณภูมิ
ส่วนคำถามที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่มีการดึงมาเฟียสนามบินกลับมาที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะ ผู้มีอิทธิพลคือผู้ที่ประกอบธุรกิจในนั้น ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ หรือส่วนอื่นๆ เช่น กรณีการตรวจสอบเรื่องรถลีมูซีน พล.อ.เพิ่มศักดิ์ วงศ์สาโรจน์ ประธานอนุกนนมการฯ ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เคยปลอมตัวลงไปหาข้อมูล เกือบจะถูกพวกแท็กซี่ทำร้ายเอา ต้องโทรศัพท์เรียกให้ตนไปช่วย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.เพิ่มศักดิ์เพิ่งไปให้การ ป.ป.ช.เรื่องนี้ เพราะแทนที่การท่าฯ จะได้ค่าสัมปทานกลับไปเสียเงิน แล้ว 2 บริษัทที่ได้งานนี้ไปก็ถือหุ้นไขว้กันอีก
**นักการเมือง-นอมินี? บงการโกงสุวรรณภูมิ
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมดนี้ คิดว่ากระทรวงคลังเป็นเพียงผู้รับคำสั่ง โดยคนสั่งการ ต้องอยู่เหนือข้าราชการประจำ น่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจมากๆ ที่ข้าราชการประจำกลัว แต่ไม่รู้ว่าใคร เป็นนักการเมือง หรือนอมินีนักการเมืองก็ไม่รู้ แต่ดูง่ายๆ เรื่องการย้ายสนามบิน ไม่มีสาระสำคัญเลยในการย้าย และประโยชน์ที่ได้มองเห็นน้อยมาก มีแต่ผลเสียมากกว่า แต่จะมีบางคนได้ เพราะคนที่ใช้สนามบินสุวรรณภูมิตอนนี้มีประมาณ 39 ล้านคน ถ้าให้มีสนามบินเดียวจำนวนผู้โดยสารก็เพิ่มขึ้น กิจกรรมทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นหมด คงขายของกันจนเป็นลมไปเลย
ส่วนนายเสรีรัตน์ ซึ่งมีญาติเป็นหัวหน้ากลุ่ม นปก.นั้น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ มองว่า จากที่ตนเคยเป็นที่ปรึกษา ทอท.คิดว่า ผู้อำนวยการท่าอากาศยานฯ หรือกรรมการผู้จัดการใหญ่ทำอะไรไม่ได้มาก อำนาจทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการเท่านั้น ส่วนกรรมาการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่ทำตามนโยบายของคณะกรรมการการท่าฯ อย่างชัดเจน ถ้าคณะกรรมการแข็ง รับประกันทุกอย่างจบ แต่กรณีการปิดสนามบิน ไม่ทราบว่ากรรมการสั่งหรือเปล่า แต่กรรมการต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าไม่ได้สั่งปิด ก็ต้องสั่งหาสนามบินสำรอง และให้รีบเปิด ถ้าไม่ได้สั่งปิดก็ต้องรีบสั่งเปิด เพราะว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ที่รับผิดชอบสนามบิสุวรรณภูมิทั้งหมด
“แล้วเรื่องการชุมนุม ท่านคุยกับรัฐบาลอย่างไร หรือท่านมาคุยกับพันธมิตรฯ หรือเปล่า แต่บอร์ดไม่ได้มาทำอะไรเลยสักอย่างเดียว การประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 17 ก.พ.นี้ ผมจะไปทวงถามอีก ผมจะใช้ความเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ในฐานะผู้เสียหาย ไปฟ้องศาลปกครองก่อน และจะฟ้องศาลแพ่ง และศาลอาญาต่อไป”พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าว