xs
xsm
sm
md
lg

“พีระพันธุ์” พร้อมส่งเรื่องทุจริตนมโรงเรียนให้ ป.ป.ช.ฟัน ครม.แม้ว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
รมว.ยุติธรรม ยันพร้อมส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ฟันเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทุจริตนมโรงเรียนสมัย ครม.ทักษิณ หลัง ป.ป.ท.สรุปผลสอบข้อเท็จจริง พร้อมยัน ป.ป.ท.เข้าไปทำคดีตามหน้าที่ และคดีไม่เกี่ยวกับการเมือง พบต้นต่อ ครม.ปี 48 เป็นต้นเหตุแท้จริงที่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมายฐานสนับสนุนให้เกิดการสมยอมราคา ในโครงการนมโรงเรียน

วันนี้ (3 มี.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการสรุปผลสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตนมโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มีการเสนอให้เอาผิดคณะรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำหนดนโยบายจำกัดบริษัทจัดซื้อนมโรงเรียนเป็นโซนนิ่ง ว่า ได้รับรายงานด้วยวาจาจากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการป.ป.ท. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการ หากได้รับผลสอบสวนทั้งหมด ตนก็จะนำส่งป.ป.ช.ตามระเบียบ เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว เป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงซึ่งถือเป็นอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช.
        
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า แม้คดีดังกล่าวจะเกี่ยวพันถึงกลุ่มการเมืองที่เป็นขั้วอำนาจเก่า แต่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวหรือสั่งการให้ ป.ป.ท.เข้าไปทำคดี แต่ ป.ป.ท.ทำตามหน้าที่ จึงยืนยันได้ว่า คดีนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยถึงผลการตรวจสอบมติ ครม.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อนมโรงเรียนว่า จากการตรวจสอบพบว่ามติ ครม.26 พ.ย.45 เป็นเพียงการอนุมัติหลักการเพื่อบริหารจัดการ การจัดซื้อนมโรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดการปริมาณน้ำนมดิบในท้องตลาดเท่านั้น หลังจากนั้น นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นได้ออกระเบียบให้มีการจัดแบ่งพื้นที่จำหน่ายนม (โซนนิ่ง) โดยไม่มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ต่อมาพบว่า การแบ่งโซนนิ่งจัดซื้อนมโรงเรียนมีปัญหาการฮั้วประมูลสมยอมราคากัน โดยที่โรงเรียนยังได้รับนมคุณภาพต่ำ ขณะที่ราคาเทียบเท่าราคากลาง
         
ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดือนมีนาคม 2548 จึงมีมติห้ามแบ่งพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาด แต่กระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้น ไม่สนใจมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และยังคงการผูกขาดตลาดจัดซื้อนมโรงเรียนอยู่ จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2548 กระทรวงเกษตรฯเป็นผู้เสนอวาระเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กลับไปเห็นชอบกับการแบ่งพื้นที่จำหน่ายนม ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรี พฤศจิกายน 2548 จึงหมิ่นเหม่ที่จะผิดกฎหมายฐานสนับสนุนให้เกิดการสมยอมราคา ต่อมา ปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ผ่าน พ.ร.บ.โคนม และใช้กฎหมายดังกล่าวจำกัดสิทธิและกำหนดโซนนิ่งการจำหน่ายนมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น