xs
xsm
sm
md
lg

อ้างเป็นสรรพากร ตุ๋นเหยื่อกดเอทีเอ็มขอคืนภาษี ฉกเงินในบัญชี 4 แสน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เหยื่อแก๊ง 18 มงกุฎ ร้องตำรวจกองปราบฯ หลังถูกแก๊งคนร้ายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร หลอกให้กดตู้เอทีเอ็มขอคืนภาษี สุดท้ายถูกโกงเงินในบัญชีกว่า 4 แสนบาท

วันนี้ (25 ก.พ.) เมื่อเวลา 17.30 น. ที่กองปราบปราม นายกิติพงษ์ (นามสมมติ) อายุ 44 ปี อาชีพซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และอดีตพนักงานวางระบบไอที บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อร้องทุกข์ให้ช่วยสืบสวนติดตามจับกุมแก๊งคนร้ายที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรหลอกลวงว่าสามารถคืนเงินภาษีผ่านบัญชีธนาคารได้จึงหลงเชื่อไปทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มแต่ปรากฏว่าต้องสูญเงินไปกว่า 4 แสนบาท

นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 09.30 น.ระหว่างที่กำลังเดินทางไปทำธุระส่วนตัวนั้นก็มีโทรศัพท์จากคนแปลกหน้าโทร.เข้ามาที่โทรศัพท์มือถือ เมื่อรับสายก็มีเสียงผู้หญิงอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของกรมสรรพากรแจ้งว่า ตนมียอดคืนภาษีเป็นเงิน 1.2 หมื่นบาทซึ่งเป็นส่วนที่กรมสรรพากรเก็บเกินไปและได้ส่งเป็นเช็คไปยังที่อยู่ของตนแล้วแต่ปรากฏว่าไม่มีคนรับทำให้เช็คถูกตีกลับมาจึงต้องติดต่อมายังตนเพื่อสอบถามช่องทางที่จะคืนเงินภาษีให้เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องเคลียร์บัญชีให้เสร็จ ซึ่งตนได้บอกไปว่าภาษีเงินได้ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ใช่ยอดเงินนี้ แต่ปลายสายก็รีบตอบกลับทันทีโดยอ้างว่าเป็นคนละส่วนกัน โดยส่วนนี้เป็นยอดรวมทั้งหมดที่เคยเก็บไปซึ่งมีการคำนวณผิดจึงทำเรื่องคืนให้

นายกิติพงษ์กล่าวต่อว่า หลังจากทราบข้อมูลดังกล่าวตนจึงสอบถามไปว่าจะดำเนินการเรื่องเงินภาษีที่จะคืนให้อย่างไรบ้างซึ่งทางปลายสายได้แจ้งว่ามีด้วยกัน 2 ทาง คือ ส่งเช็คให้อีกครั้ง หรือให้คืนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ซึ่งตนเห็นว่าการคืนเงินผ่านเอทีเอ็มจะสะดวกกว่า ปลายสายจึงให้ไปรอที่หน้าตู้เอทีเอ็มที่ใกล้ที่สุดที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารแห่งหนึ่ง หน้าวิลล่า มาร์เก็ต ชั้นใต้ดินอาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ ไม่นานก็มีโทรศัพท์เข้ามา คราวนี้เป็นเสียงผู้หญิงอีกคนหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีกรมสรรพากร โดยช่วงแรกจะแกล้งทำเป็นสอบถามชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน จากนั้นก็จะโอนสายต่อไปอีก โดยบอกว่าเป็นหัวหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงซึ่งจะบอกขั้นตอนการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม

หลังจากนั้น เมื่อสายโอนไปก็มีเสียงผู้หญิงคนที่ 3 น้ำเสียงดูน่าเชื่อถือ บอกให้สอดบัตรเข้าไปก่อนจากนั้นก็ให้กดรหัส และกดปุ่มต่างๆ ตามที่บอก ซึ่งตนก็เลือกเมนูเป็นภาษาไทยแล้วก็กดไปตามที่เธอบอกแต่ก็มีสอบถามในบางรายการที่ไม่เข้าใจ แต่เธอก็กำชับว่าไม่ต้องสนใจว่าที่หน้าจอจะเป็นอย่างไร และแจ้งว่าเมื่อกดเสร็จแล้วจะมีเงินสดไหลออกมา แต่เมื่อทำตามขั้นตอนแล้วก็ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทางปลายสายจึงบอกว่าทางสรรพากรมีระบบออนไลน์กับธนาคารทุกแห่ง และเวลาดำเนินการก็จะเห็นหน้าจอเดียวกันกับที่ตนกำลังกดอยู่ ดังนั้น ปัญหาขัดข้องที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการที่ตนไม่เคยทำทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มมาก่อน พร้อมกับแจ้งถึงขั้นตอนใหม่ซึ่งเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีแทน โดยครั้งนี้มีการสอบถามถึงยอดเงินในบัญชีโดยอ้างว่าเพื่อตรวจสอบว่าตัวเลขตรงกันหรือไม่

“ครั้งที่ 2 ที่กดนั้นผู้หญิงปลายสายบอกให้กดรหัสชุดหนึ่งแล้วต่อท้ายด้วยรหัสเอทีเอ็มของผม ซึ่งตอนนั้นไม่เอะใจแต่ภายหลังคิดได้ว่าเลขชุดดังกล่าวเป็นยอดเงินในบัญชี จากนั้นหญิงคนดังกล่าวก็แจ้งว่าการดำเนินการเรียบร้อยแล้วให้รอครึ่งชั่วโมง แล้วจึงไปกดตู้เอทีเอ็มเพื่อตรวจสอบยอดเงินในบัญชีอีกครั้งเพราะถ้าสอดบัตรเข้าไปอีกครั้งบัตรเอทีเอ็มอาจถูกดูดเข้าเครื่อง แต่ช่วงนั้นต้องรีบไปทำธุระอื่นต่อจึงไม่ได้เอะใจอะไร พอวันรุ่งขึ้นก็ไปตรวจยอดเงินกับตู้เอทีเอ็มปรากฏว่ายอดเงินกว่า 4 แสนบาทเหลืออยู่แค่ 635 บาท จึงรีบแจ้งทางธนาคารตรวจสอบพบว่ามีคนร้ายกดเงินไปจากตู้เอทีเอ็มครั้งละ 20,000 บาท นอกจากนี้ ทางพนักงานธนาคารยังเล่าให้ฟังด้วยว่ามีลูกค้ารายหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 20 ปี ก็ถูกหลอกลักษณะนี้เหมือนกันสูญเงินไปแสนกว่าบาท ตจึงรีบไปแจ้งความที่พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี และเดินทางมากองปราบปรามให้ช่วยสืบสวนอีกทางหนึ่ง” นายกิติพงษ์ กล่าว

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้โดยประสานชุดสืบสวน กก.1 บก.ป. เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการสืบสวนจับกุมคนร้ายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น