“จรัญ ภักดีธนากุล” ชี้ เจตนารมณ์กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเยียวยาสถาบันครอบครัว ระบุ ความรุนแรงอาจเกิดจากสภาพจิต รมว.พัฒนาสังคมฯ มีสิทธิสั่งพนักงานปกครอง เสนอศาลเยาวชนฯ คุมตัวผู้กระทำรุนแรงรักษาจิตได้ ตำรวจเข้าระงับเหตุได้ในยามวิกาลไม่ต้องรอหมายศาล ส่วนสื่อห้ามนำเสนอเป็นข่าว หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัวได้ต่อเมื่อเรื่องยังไม่มีการแจ้งความ
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่โรงแรมรอยัลซิตี้ ถ.บรมราชชนนี นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนา เรื่อง “วิธีพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ในส่วนเฉพาะที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาธนบุรี” โดย นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตกรรมการยกร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 กล่าวถึงเจตนารมณ์และสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้คดีในครอบครัว ถือเป็นเรื่องสาธารณะ ที่คนนอกครอบครัวเมื่อเห็นคนในครอบครัวของคนอื่นทำร้ายกันด้วยการใช้ความรุนแรง ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือเยียวยาสถาบันครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้หลังเกิดเหตุ จึงต้องมีการกำหนดโทษสถานเบาไว้ คือ ให้จำคุกได้ไม่เกิน 6 เดือน สำหรับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว และหากภายใน 3 เดือนหลังเกิดเหตุไม่มีผู้ใดแจ้งความให้ถือว่าคดีขาดอายุความ แต่ไม่ตัดสิทธิที่ผู้ถูกกระทำจะไปร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้ออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพด้วยมาตรการต่างๆ แต่กฎหมายฉบับนี้ ยังให้ถือว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันได้ด้วยเพื่อให้โอกาสครอบครัวปรับความเข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้ต่อไปโดยไม่ต้องกลายเป็นผู้มีคดีติดตัว แต่ถ้าคดีความรุนแรงในครอบครัวเกิดมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น กฎหมายไม่ให้มีการยอมความหรือถอนฟ้องกันได้ โดยจะต้องดำเนินคดีอาญาฐานฆ่าคนตายตามกฎหมายอาญาปกติ เนื่องจากกฎหมายนี้ครอบคลุมเฉพาะการทำร้ายร่างกายเล็กน้อยที่เยียวยารักษาและกลับไปอยู่ร่วมกันได้เท่านั้น
นายจรัญ กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดให้ผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ใดซึ่งเป็นคนนอกครอบครัวเมื่อพบเห็น คนในครอบครัวอื่น มีการทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจกันด้วยความรุนแรงเกิดขึ้น มีหน้าที่ต้องแจ้งตำรวจให้ไประงับเหตุ โดยตำรวจสามารถเข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ที่เกิดเหตุ เพื่อสอบถามผู้ลงมือก่อเหตุรุนแรงในบ้านนั้นได้โดยไม่ต้องรอขอหมายศาล แม้ในยามวิกาล รวมถึงให้มีอำนาจส่งผู้ถูกกระทำรุนแรงไปรับการรักษา และต้องรับแจ้งความหากผู้ถูกกระทำรุนแรงต้องการดำเนินคดีผู้ทำร้ายร่างกาย
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดด้วยว่า ถ้าตำรวจมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่ก่อความรุนแรงในครอบครัวแล้วห้ามสื่อมวลชนนำเรื่องในครอบครัวนั้นไปนำเสนอเป็นข่าว หรือเผยแพร่ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัวนี้จะทำได้ต่อเมื่อเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งความหรือยังไม่เกิดเป็นคดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สื่อมวลชนช่วยตีแผ่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบข่าวแล้วเข้าช่วยเหลือได้ทัน
“การใช้ความรุนแรงกับคนในบ้านอาจเกิดจากสาเหตุทางจิต เพราะเมื่อใช้ความรุนแรงเป็นประจำก็เท่ากับเสพติดความรุนแรงลึกลงไปใต้จิตสำนึก กฎหมายจึงให้อำนาจ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรักษาการกฎหมายนี้มอบหมายให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเสนอศาลเยาวชนและครอบครัว ออกคำสั่งให้ผู้กระทำความรุนแรงนั้นไปรักษาทางจิต หรือชดใช้ค่าเสียหาย หรือออกคำสั่งห้ามผู้กระทำความรุนแรงเข้าใกล้ หรือพักอาศัยกับคนในครอบครัวเป็นเวลาตามสมควรได้ด้วย” นายจรัญ กล่าว