อัยการไม่รับลูก กทม.ชี้ คดีรถ-เรือดับเพลิง กทม.ฟ้องแพ่งยกเลิกสัญญา บ.สไตเออร์ ไม่ได้ ต้องรอเจรจาส่งเรื่องเข้าอนุญาโตฯ ตามสัญญา ส่วนเรื่องขอคุ้มครองชั่วคราวระงับจ่ายค่างวด ต้องรอฟ้องคดียกเลิกสัญญาก่อน
วันนี้ (5 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ชั้น 11 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานอัยการคดีตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เรียกประชุมคณะทำงานอัยการ ประกอบด้วย อัยการฝ่ายคดีพิเศษ อัยการฝ่ายคดีแพ่ง และอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณา กรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม.ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ยื่นฟ้องศาลแพ่ง ยกเลิกสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687 ล้านบาทของ กทม.กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียลหาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย พร้อมขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ธนาคารกรุงไทยระงับการจ่ายเงินค่างวด
แหล่งข่าวอัยการกล่าวถึงการประชุมวันนี้ ว่า คณะทำงานมีความเห็นเป็นที่ยุติเกี่ยวกับประเด็นการฟ้องคดีแพ่งเพื่อยกเลิกสัญญาว่า เนื่องจากการลงนามใน AOU ข้อ 4.และสัญญาซื้อขาย ข้อ 13 ระบุไว้ว่า กรณีเกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติตามข้อสัญญา คู่สัญญาจะต้องดำเนินการเจรจาระหว่างผู้แทนแต่ละฝ่าย และหากการเจรจาไม่เป็นผลจะต้องหาข้อยุติโดยการส่งเรื่องไปยังหอการค้านานาชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อดำเนินการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท ดังนั้น คณะทำงานอัยการจึงเห็นว่า ยังไม่สามารถที่จะยื่นฟ้องคดีแพ่ง ยกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว
แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวว่า ในส่วนการจะยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวให้ธนาคารกรุงไทย ระงับการจ่ายค่างวดที่ 5 จำนวน กว่า 700 ล้าน ซึ่งจะครบกำหนดชำระในสัปดาห์หน้า นั้น คณะทำงานอัยการมีความ เห็นว่า การยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว จะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีหลัก คือการขอให้ยกเลิกสัญญาก่อน ดังนั้น เมื่อยังไม่สามารถฟ้องคดีแพ่งยกเลิกสัญญาได้ การยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการชำระค่างวดจึงดำเนินการไม่ได้เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าการขอคุ้มครองชั่วคราวจะสามารถยื่นแยกจากคดีแพ่งโดยยื่นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ เพราะเป็นเรื่องของสัญญาการค้าระหว่างประเทศก็ตาม แต่กฎหมายระบุว่าการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้มีการยื่นฟ้องคดีหลักทางแพ่งเพื่อยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งคณะทำงานได้ทำรายงานความเห็นเสนอ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนที่จะส่งให้ กทม.รับทราบ ขณะเดียวกัน ก็มีหนังสือแจ้งให้ กทม.ทราบเบื้องต้นแล้วเช่นกัน
“หาก กทม.ยังจะยืนยันให้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อยกเลิกสัญญา อัยการก็ต้องกลับไปดูรายละเอียดมติคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้ อีกครั้งว่า มีความเห็นต่อการดำเนินการทางกฎหมายอย่างไร โดยอัยการมีอำนาจที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อร้องขอ กทม.ได้ เวลานี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร กทม.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หาก กทม.ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็จะถูกฟ้องว่าผิดสัญญา แต่จะฟ้องยกเลิกสัญญาก็ยังทำไม่ได้ ซึ่งอัยการทำได้เพียงชี้แจงฐานะคดีให้ กทม.ทราบ แต่ก็ไม่อาจชี้นำได้ว่าจะดำเนินอย่างไร สัญญาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่สัญญาซื้อขายธรรมดา แต่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กทม.อาจจะต้องให้รัฐบาลไทยทำการเจรจากับรัฐบาลประเทศออสเตรีย เพื่อยุติข้อพิพาทน่าจะเป็นทางออกที่ดี” แหล่งข่าวอัยการ กล่าว