อัยการเตรียมประชุมพิจารณาหนังสือ กทม.ขอให้ฟ้องยกเลิกสัญญาซื้อขายรถเรือดับเพลิง กับ บ.สไตเออร์ วันที่ 5 ก.พ.บ่ายสอง พรุ่งนี้ (5 ก.พ.)
จากกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อขอยกเลิกสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687 ล้านบาทของ กทม.กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียลหาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ธนาคารกรุงไทย ระงับการจ่ายเงินค่างวดนั้น
ล่าสุด วันนี้ (4 ก.พ.) นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานอัยการคดีตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กล่าวว่า อัยการได้รับหนังสือดังกล่าวของ กทม.แล้ว และได้เรียกประชุมคณะทำงานอัยการเพื่อพิจารณารายละเอียดในวันที่ 5 ก.พ.นี้ เวลา 14.00 น.ที่สำนักงานคดีพิเศษ ชั้น 11 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก
แหล่งข่าวระดับสูงในคณะทำงาน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ คณะทำงานเคยประชุมพิจารณาหนังสือของ กทม.พร้อมส่งความเห็นให้กับ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาแล้ว โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า กทม.ยังไม่ควรฟ้องยกเลิกสัญญาซื้อขายกับ บ.สไตเออร์ฯ เพราะเป็นการกระทำที่ข้ามขั้นตอน เนื่องจากในสัญญาซื้อขาย ระบุว่า หากเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย จะต้องตั้งผู้แทนมาเจรจา และส่งเรื่องไปที่หอการค้าปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาคณะหนึ่งทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทก่อน
“หาก กทม.จะให้อัยการยื่นฟ้องเพื่อยกเลิกสัญญาซึ่งเป็นคดีแพ่งนั้น ในคดีอาญาอาจจะดำเนินคดีกับ นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขาย หรือ AOU ได้เพียงคนเดียว ส่วน นายสมัคร สุนทรเวช และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.รวมทั้งข้าราชการคนอื่นๆ อาจไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ลงนาม ซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้ เพราะคดีนี้เป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง ดังนั้น ควรรอผลทางคดีอาญาก่อนแล้วค่อยดำเนินคดีแพ่ง เพราะหากยื่นฟ้องไปแล้วศาลไม่เห็นด้วยจะเกิดผลเสียอย่างร้ายแรง แล้ว กทม.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว
แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะทำงานยังเห็นว่า คดีนี้ยังอยู่ระหว่างคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการ ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยอัยการได้พิจารณาสำนวนของ ป.ป.ช.แล้วเห็นว่ามีข้อไม่สมบูรณ์รวม 10 ประเด็น จึงได้แจ้งกลับไปให้ ป.ป.ช.สอบสวนเพิ่มเติม ซึ่ง ป.ป.ช.เองก็เห็นด้วยกับอัยการโดยกำลังดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมให้สำนวนสมบูรณ์ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมในที่ 5 ก.พ.นี้ หากคณะทำงานได้ข้อสรุปอย่างไร ก็จะทำหนังสือตอบกลับทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเสนอแนะของอัยการ ไปให้ กทม.ในฐานะตัวความรับทราบสถานะคดี และพิจารณาตัดสินใจ ถ้า กทม.ยืนยันจะให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาล อัยการก็พร้อม แต่หากเกิดความเสียหาย กทม.ก็ต้องรับผิดชอบ