xs
xsm
sm
md
lg

“นครบาล” ปลื้ม! นักซิ่งกลัวกล้องมากกว่าหัวปิงปอง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. กำกับดูแลงานจราจร
บช.น.พอใจผลติดตั้งกล้องตรวจจับรถฝ่าไฟแดงได้ผลดี ทำให้ผู้ขับขี่ยวดยานเริ่มปรับพฤติกรรมการขับขี่เคารพกฎจราจรมากขึ้น เตรียมนำผลการประเมินเพิ่มจุดตั้งกล้องเพื่อช่วยลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุและแก้ไขจราจรติดขัด ขณะเดียวกันได้ติดตั้งกล้อง “อิมเมจ โพรเซสซิ่ง” 152 ตัว 77 ทางแยก เพื่อใช้คำนวณการหมุนเวียนของรถ เป็นทางเลือกบอกสภาพการจราจรแต่ละเส้นทางให้ผู้สัญจรหลีกเลี่ยงเส้นทางรถหนาแน่นได้


วันนี้ (2 ก.พ.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น.กำกับดูแลงานจราจร เปิดผลการประเมินโครงการเรดไลท์ คาเมร่า กล้องตรวจจับผู้ฝ่าไฟแดง หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ตามแยกต่างๆ รวม 30 ทางแยก พบว่า ส่วนหนึ่งได้ผลตามคาด ยวดยานพาหนะที่สัญจรไปมาเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ เมื่อเห็นสัญญาณไฟเหลืองก็จะชลอรถและรอติดไฟแดงไม่มีการเร่งเครื่องเพื่อรีบขับให้พ้นสัญญาณไฟ

พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการไปได้ 3 เดือน จะให้กองวิจัยและวางแผนมาประเมินผลเพื่อดูว่าพฤติกรรมผู้ขับขี่เปลี่ยนไปหรือไม่ การเคารพกฎจราจรมากขึ้นหรือไม่ อุบัติเหตุแยกนั้นๆ ลดลงจำนวนเท่าไหร่ การตาย และการสูญเสียลดลงเท่าไหร่ ตลอดจนความพึงพอใจของประชาชนมีมากน้อยเพียงใด เพื่อที่ในอนาคตจะได้ต่อยอดติดตั้งกล้องเพิ่มอีก เพราะการลงทุนจะน้อยลง เนื่องจากมีซอฟต์แวร์อยู่แล้ว

“นอกจากนี้ ในเรื่องการระบายรถและแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นติดขัด มีการจัดซื้อกล้องซีซีทีวี (กล้องวงจรปิด) ติดตั้งตามแยกต่างๆ เพิ่มอีก 77 ทางแยก เป็นกล้องจับภาพระบบดิจิตอล จากเดิมที่กรุงเทพมหานครและตำรวจมีอยู่แล้ว 68 ทางแยก เป็นเครื่องมือช่วยในการควบคุมสั่งการแก้ไขการจราจรติดขัด แก้ปัญหากรณีเกิดอุบัติเหตุ โดยภาพจะออนไลน์ไปที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) ตลอดจนจะมีการติดตั้งป้ายสลักข้อความ 80 ป้ายตามแยกต่างๆ ปรับปรุงหน้าจอใหม่ ขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น บางส่วนจะเอาภาพสดๆ จากกล้องซีซีทีวีขึ้นฉายด้วย” พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว

พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้ง กล้องอิมเมจ โพรเซสซิ่ง อีก 152 ตัว ตาม 77 ทางแยก เป็นกล้องที่ใช้คำนวณปริมาณรถ ความเร็วรถ หรือแม้กระทั่งระยะเวลาในการผ่านทางแยก เพื่อใช้คำนวณการหมุนเวียนของรถ แล้วนำปริมาณรถตามแยกดังกล่าวไปปรับเป็นแผนที่กราฟฟิก ว่า ทางแยกนี้มีความหนาแน่นของรถเป็นอย่างไร แบ่งเป็น สีแดง สีเหลือง สีขาว ตามความหนาแน่นของสภาพการจราจร เป็นการบอกสภาพการจราจรให้ประชาชนรับทราบ เพื่อวางแผนการเดินทาง

“ข้อมูลที่ได้จากกล้องอิมเมจ โพรเซสซิ่ง จะประมวลออกมาเป็นเวลาปัจจุบัน เพื่อแจ้งบอกประชาชน อาจจะเป็นรูปของอินเทอร์เน็ต ป้ายสลักข้อความ หรือทางวิทยุ เพื่อให้วางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีรถหนาแน่น และจะใช้เส้นทางไหนดี รวมทั้งมีการประสานกับ สวทช.กระทรวงวิทย์ คิดค้นเครื่องมือประมวลผล ตลอดจนในอนาคตทางภาคเอกชนอาจนำไปปรับเป็นโปรแกรมแนะเส้นทางการเดินทางในโทรศัพท์มือถือ หรืออย่างในประเทศญี่ปุ่นที่รถรุ่นใหม่จะมีการติดตั้งโปรแกรมเนวิเกเตอร์ในรถ” รอง ผบช.น.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น