“เราเป็นเบอร์ 1 เราต้องรู้จักควบคุมตัวเราเอง เราต้องมีคุณธรรม เราต้องรู้จุดประสงค์และเป้าหมาย เราต้องรู้ว่าเรามาตรงนี้เพื่ออะไร ถ้าเราไม่รู้ว่าเรามาตรงนี้เพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อส่วนร่วม เพื่อประชาชน เราคิดว่าเรามาตรงนี้เพื่ออาศัยกลไกภาครัฐเป็นเครื่องมือของเรา ในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นเครื่องมือของเราในการห้ำหั่นประชาชนที่ไม่ยอมร่วมมือกับเรา หรือต้องการใช้ตรงนี้เป็นฐานทางการเมืองของเรา นั่นแหละครับเป็นจุดหายนะที่กระทรวงยุติธรรมเป็นมา 8 ปี …”
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว ASTVผู้จัดการ เกือบ 2 ชั่วโมงถึง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของกระทรวงตาชั่ง ก่อนจะแจกแจงถึงนโยบายและหลักการบริหาร เมื่อมีโอกาสได้เข้ามานั่งเก้าอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ของกระทรวงยุติธรรม รวมถึงตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหา และความขัดแย้งในกระทรวง โดยเฉพาะ กรณีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ก่อนหน้านี้ “พีระพันธุ์” เคยนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา และยังเป็นผู้พิพากษา ข้าราชการตุลาการ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) ในปี พ.ศ. 2544-2548 โดยผลงานเด่นที่เห็นได้ชัดในยุคนั้นคือผลการสอบสวนการทุจริตค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาล จนทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท
กระทรวงยุติธรรมเกิดใหม่
รมว.ยุติธรรม เริ่มต้นเล่าย้อนไปถึงวัตถุประสงค์การก่อตั้งกระทรวงยุติธรรมในอดีตว่า บรรดานักกฎหมายหรือคนที่เกี่ยวข้องกับวงการยุติธรรม ล้วนเรียก “กระทรวงศาล” แทน “กระทรวงยุติธรรม” เนื่องจากภารกิจหลักๆ ของกระทรวงนี้คือดูแลสถาบันตุลาการและศาล โดยงบประมาณที่ได้มาก็จะให้ศาลทั้งหมดก็จะหางบประมาณให้ศาล และ ภารกิจของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมก็มิได้เป็นอย่างที่กระทรวงยุติธรรมในประเทศอื่นเป็นกัน
จุดเปลี่ยนของกระทรวงยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.2537 ในสมัยรัฐบาลชวน 1 ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการขึ้นมา โดยมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน นายไสว พัฒโน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในฐานะรองประธานของคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ และเขาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เขาได้เสนอให้แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม
“ผมคิดว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยควรจะมีกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นกระทรวงยุติธรรมสมชื่อสักที แล้วก็ในฐานะที่ผมเป็นผู้พิพากษาเก่าผมก็ทราบว่าคนในวงการตุลาการคือท่านผู้เป็นผู้พิพากษาเอง ท่านก็ไม่สบายใจที่ต้องอยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม เพราะว่าท่านมีความรู้สึกว่าการเป็นสถาบันตุลาการต้องมีความรู้สึกเป็นอิสระ การที่มาเป็นหน่วยงานโดยที่มีกระทรวงยุติธรรมกำกับและดูแล มันเหมือนกับว่าในทางปฏิบัติแล้วก็อยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นความคิดตรงนี้มันก็เลยทำให้เกิดความคิดที่ว่าศาลกับกระทรวงน่าจะแยกจากกัน กระทรวงก็ไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร” รมว.กระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นพร้อมกล่าวต่อว่า
“เวลารัฐบาลมีปัญหาและข้อสงสัยก็สามารถถามกฤษฎีกาได้ แต่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเงินเจ้าของภาษีเวลามีข้อกฎหมายที่สงสัยจะไปถามใครได้ ทั้งๆที่จากประสบการณ์ผมที่เป็นผู้พิพากษา คนถูกดำเนินคดี ทั้งๆ ที่ไม่รู้กฎหมายเยอะไปหมด และความเดือดร้อนอย่างหนึ่งของประชาชน ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันนัก แต่ว่าเป็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นที่ยุคทุกสมัย ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี คือความเดือดร้อน จากการไม่รู้กฎหมาย ความเดือดร้อนจากการถูกโกง ความเดือดร้อนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบในเชิงข้อกฎหมาย เพราะว่าต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง คนไทยจำนวนมาก ที่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายพอ ในขณะที่หลักกฎหมายบอกว่าคุณจะอ้างความไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะแบบนี้ที่สร้างความเดือดร้อน ให้กับคนทั่วไปหมด”
ด้วยความที่ตระหนักว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการไม่รู้กฎหมาย ทำให้พีระพันธุ์เสนอแนวคิดต่อ นายไสว ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นว่า กระทรวงยุติธรรมต้องมีหน่วยงานหนึ่งที่คอยดูและประชาชน ในเรื่องขอการแนะนำข้อกฎหมาย และก็ต้องเผยแพร่ข้อกฎหมายให้คนรู้ รวมไปถึงดูแลคุ้มครองประชาชนเวลาถูกภาครัฐรังแก จึงเกิดความคิดในการตั้งกรมคุ้มครองสิทธิ์ขึ้นมา
“จะเห็นว่าเจตนาที่ผ่านมาคือการปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ แล้วให้ศาลออกมาเป็นตัวของตัวเองแล้วให้กระทรวงยุติธรรม “เกิดใหม่” เพราะชื่อกระทรวงมันนานจริง แต่ตัวของมันเพิ่งเกิดใหม่ ในช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมา”
ปัญหา หลัง ยธ.เกิดใหม่
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เล่าต่อว่า ครั้นเมื่อกระทรวงยุติธรรมปรับบทบาทและแยกตัวออกจากสถาบันตุลาการโดยสิ้นเชิง ก็มีการตั้งหน่วยงานใหม่ๆ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมคุ้มครองสิทธิ์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
“ทีนี้เนื่องจากอยู่ดีๆ มันก็ผุดขึ้นมามีชีวิต มันก็เลยทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าบุคลากรที่รู้เรื่องนโยบายความเป็นมาของกระทรวงพึงมีพึงเป็นอย่างนี้ ก็ขาดตอน ปลัดกระทรวงที่ขึ้นมารับช่วงตอนก็ไม่ได้รู้รายละเอียด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมต้องทำหน้าที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย แต่ปรากฏปัจจุบันว่าบุคลากรของกระทรวงยุติธรรมที่จบและมีความรู้กฎหมายมีกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าไปใช้ว่าเป็นนักบริหารงานยุติธรรมและกลายเป็นว่าบางคนอาจจบสายบริหารมา”
ในขณะเดียวกันก็เกิดสถานการณ์ “คนไม่ถูกกับงาน” เพราะการสรรหาบุคลากรที่เข้ามาทำงานกับกระทรวงยุติธรรม เพราะบุคลากรที่มาจากหลากหลายหน่วยงานทั้ง ตำรวจ อัยการ แม้กระทั่งข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีความรู้ด้านการยุติธรรมอย่างแท้จริง ส่วนกระทรวงยุติธรรมเองก็ไม่มีสถาบันที่รับผิดชอบดูแลอบรมบ่มความรู้หรือวิธีปฏิบัติ ให้บุคลากรของกระทรวงยุติธรรมเข้าใจบทบาทของตัวเอง
“ผมคิดว่า 8 ปีที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมเป็นกระทรวงที่เกิดมาใหม่ แต่พอเกิดมาปั๊บ เหมือนเด็กประหลาด เกิดปุ๊บแล้วโตเลย แล้วคนที่ต้องมาอยู่ในจิตวิญาณขององค์กร ก็มาจากไหนอีกก็ไม่รู้ มันก็เลยไปกันไม่ถูก” รมว.ยุติธรรมชี้ให้เห็นถึงปัญหา
ศาลไม่ใช่ตรายาง - จุดกำเนิด “ดีเอสไอ”
พีระพันธุ์เล่าต่อว่าในระหว่างที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงยุติธรรมอยู่นั้น ทางคณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า ตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลมาก เพราะว่ามีอำนาจจับกุม สอบสวนแล้วก็ชงคดีตั้งแต่ต้นทั้งนี้จุดตัดสินว่าคดีใดใครจะแพ้จะชนะนั้นขึ้นอยู่กับตำรวจเป็นสำคัญ ดังนั้นถ้าตำรวจจับมือกับอัยการ ศาลก็ไม่ผิดอะไรไปจากตรายางที่ตัดสินคดีตามข้อมูลที่ตำรวจและอัยการส่งขึ้นมา
“คดีจะให้แพ้ ให้ชนะ เริ่มต้นตั้งแต่สำนวนการสอบสวนเลย อัยการก็ถือว่าเป็นด่าน 2 ท้ายสุดถ้าหาก 2 ด่านรวมตัวกันเมื่อไหร่ มาถึงศาล ศาลก็กลายเป็นตรายางเลย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคดีทั่วไปก็พอว่าแต่ถ้าเป็นคดีใหญ่ๆ คดีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประจำหรือฝ่ายการเมืองที่มีตำแหน่งหน้าที่ โดยเฉพาะที่มีบทบาทอำนาจในการกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมไปทำผิดซะเอง หรือถ้าหากว่าเค้าต้องไปสอบสวนพวกเดียวกันเอง สังคมก็จะเริ่มมองด้วยความเคลือบแคลงแล้วว่าจะช่วยกันไหม จะมีการเป่าคดีไหม
“เนื่องจากในต่างประเทศหลายประเทศ เค้าก็จะไม่ปล่อยอำนาจพวกนี้อยู่ในมือของตำรวจหรืออัยการแต่เพียงคนเดียว เค้าจะมีรูปแบบขึ้นมาในการที่จะถ่วงดุล (Check&Balance) อำนาจเหล่านี้ เช่นในสหรัฐอเมริกา เค้าก็มีเอฟบีไอ อังกฤษเค้าก็มีสก็อตแลนด์ ยาร์ด แต่ในประเทศไทยเรายังไม่มี ในจังหวะนั้นเองก็เกิดคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์ แล้วก็มีการวิพากวิจารณ์เยอะแยะกันไปหมด เกี่ยวกับประเด็นการใช้อำนาจของตำรวจ การดำเนินการ ว่าจริงแล้วมีอะไรอยู่เบื้องหลังไหม ปิดปากตัดตอนไหม การสอบสวนจะเป็นอย่างไร ตรงนั้นก็เกิดเป็นประเด็นสอบสวนขึ้นมาว่าเราควรมีหน่วยงานขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่งแล้ว ที่จะมาช่วงถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ก็คือคิดว่าจะตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ” รมว.ยุติธรรมกล่าวถึงจุดกำเนิดของดีเอสไอที่ตนเองเห็นพัฒนาการมาตั้งแต่ต้น
“แต่ไอ้คำว่าคดีพิเศษที่คิดกันในวันนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันมีคดีอะไรก็ต้องสอบเป็นพิเศษไม่ใช่ แต่หมายถึงคดีธรรมดา คดีอะไรก็ได้ ที่เป็นคดีใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีผลกระทบต่อ ผลประโยชน์ส่วนรวมของสาธารณะชน หรือที่ประชาชนให้ความสนใจเพิ่งเล็งอยู่ จะต้องได้รับการสอบสวนเป็นพิเศษ ไม่ใช่คดีพิเศษ เหมือนกันว่ามีระบบการสอบสวนที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง หรือว่าสอบสวนคู่ขนาน เพื่อให้สังคมหรือประชาชนที่เฝ้าดูอยู่เค้ารู้สึกมั่นใจว่า การสอบสวนกระบวนการยุติธรรมเรื่องนี้น่าเชื่อถือ ไม่มีการช่วยเหลือกัน ไม่มีการตุกติก ไม่มีนอกไม่มีใน นี้คือแนวความคิดที่จะให้เกิดเป็นกรมสอบสวนพิเศษ”
จากจุดเริ่มแนวคิดในการตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2539 ทว่า ด้วยความขัดแย้งทางแนวคิดในเรื่องการนำหน่วยงานใหม่นี้ไปอยู่กับ ศาล หรือ กระทรวงยุติธรรม ทำให้กรมนี้ไม่มีโอกาสเกิดเสียทีจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกบังคับใช้ และการเมืองก้าวเข้าสู่ยุคพรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ทิศทางของดีเอสไอ
ต่อมาพีระพันธุ์ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า การที่ตนประกาศตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่งว่า ไม่พอใจดีเอสไอนั้นต้องขยายความว่า ตนไม่ได้ไม่พอใจที่ตัวบุคคล แต่ไม่พอใจการทำงานที่คนในดีเอสไอไม่รู้จักภารกิจของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัญหา
“อย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมก็ต้องพูดอีกครั้งตั้งแต่วันที่ผมให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรกๆ เลยว่า ผมไม่พอใจการทำงาน ผมไม่ได้ไม่พอใจบุคคล แต่ผมไม่พอใจองค์กรที่เค้าไม่รู้ว่าทิศทางเค้าควรจะไปทางไหน ซึ่งอันนี้จะไปโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกเพราะตัวกฎหมายเอง ทำให้เกิดความสับสน แล้วบุคลากรที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่เคยเป็นคนเขียนกฎหมาย ไอ้คนใช้กฎหมายก็ไม่รู้เจตานารมย์ วันนี้ก็ยังเรียกตัวเองไม่ถูก ขณะนี้จะทำอะไรก็ต้องเป็นคดีพิเศษ ชื่อบอกว่ากรมสอบสวนพิเศษ ใช้ภาษาอังกฤษว่า Department of Special Investigation ซึ่งแบบว่ากรมนี้สอบสวน สืบสวนพิเศษที่เพิ่มเติมมากกว่าปกติ ไม่ใช่ไปสอบสวนสืบสวนคดีพิเศษ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องบอก Department of Special case
“เพราะคนที่ร่างกฎหมายเบื้องต้นสับสนตัวเอง ไปเขียนในกฎหมายว่าเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่มีอำนาจพิจารณาสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ แล้วก็ไปเขียนมาตรา 21 ว่า อะไรคือคดีพิเศษ เพราะฉะนั้นจริงๆ บุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป้าหมายขององค์กรนี้ต้องมีความชำนาญการทางด้านสืบสวนสอบสวน ที่เหนือชั้นกว่าตำรวจ คดีเดียวกันตำรวจอาจจะสืบแล้วบอกว่าผิดแค่นี้ แต่ถ้าดีเอสไอไปสืบ โอ้โห ... ไปใหญ่โตเลย อาจขยายผลไปฟอกเงิน ค้าของเถื่อน เป็นอะไรไปเลยจากแค่คดีง่ายๆ นี้ต่างหากที่คือเป้าหมายที่อยากให้ ดีเอสไอเป็น
“ขณะเดียวกันบางคดีที่กลายเป็นว่า ผู้กระทำผิดเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เป็นอัยการที่เกี่ยวข้อง ดีเอสไอก็ต้องลงไปสืบสวน สอบสวน ควบคู่กำกับไปเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการใช้อำนาจในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจในการช่วยเหลือพวกเดียวกันเอง เพราะฉะนั้นภารกิจหน้าที่ของดีเอสไอมันควรจะเป็นแบบนี้ เมื่อเรากำหนดชัดเจนว่ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บ เราจะเห็นว่าคดีที่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอมันไม่ใช่ประเภทเดียวกับพนักงานสอบสวน หรือ สตช. ที่ว่าให้คนมาแจ้งความร้องทุกข์ แล้วก็ดำเนินคดีไปหมดทุกเรื่องมันก็ต้องจำกัด ต้องคัดกรองว่าคดีมีความสำคัญถึงขนาดที่เราต้องใช้บุคลากรระดับนี้ลงไปไหม เมื่อมันเป็นอย่างนี้มันก็จะทำให้เราเห็นว่ามันไม่ต้องมีบุคลากรเยอะแยะมากมาย เว้นแต่ว่าคดีที่มันสลับซับซ้อน มันทวีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับผมคิดว่ามันเท่ากับประจานตัวเองนะ เพราะถ้าเราบอกว่าคดีถ้าไปถูกทิศทาง แปลว่าอำนาจตรวจสอบสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเนี่ย Abused Power ตลอดเวลา ถึงต้องมีสอบสวนพิเศษตลอดเวลา
“เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าทิศทางที่ถูกต้องถ้ามันเป็นอย่างนี้ หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงยุติธรรมมันจะสามารถทำงานเป็นวงจรและช่วยเสริมกับกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ กระทรวงยุติธรรมมันควรจะเป็นกระทรวงที่มาช่วยเสริมและประคองให้ระบบยุติธรรมเดินให้ถูกแข็งของมัน ไม่ใช่มาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจเป็นเหมือนตำรวจแล้วก็มาเป็น สตช.2 อยู่ในขณะนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว
เมื่อถามว่า เท่าที่ได้ติดตามมาพบคดีอะไรบ้างที่ ดีเอสไอทำผิดพลาด นายพีระพันธุ์ก็ตอบว่า
“ไม่ใช่เรื่องอะไรที่ผิดพลาด ไม่มีคดีอะไรที่เค้าทำผิดพลาด แต่ว่าวิธีการรับคดีเข้ามาทำมันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งดีเอสไอ มันก็เลยทำให้มีปริมาณคดีที่ทะลักเข้ามาสู่ความรับผิดชอบดีเอสไอตอนนี้มีปริมาณล้นไปหมด เวลานี้ถาคิดต่อคดี บุคลากรของเค้ามีมีอยู่ประมาณ 700 กว่าคน เท่ากับว่า ใน 1 คดี มีเจ้าหน้าที่ ทีรับผิดชอบอยู่ 7-8 คน แต่ว่าไม่ใช่อย่างนี้นะ นี้ผมแค่เปรียบเทียบให้ฟัง เพราะว่ามันเป็นคดีขี้หมูรา ขี้หมาแห้งเยอะไปหมด ซึ่งไม่น่าจะจัดชั้นเป็นคดีที่อยู่ในคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ”
พร้อมกันนั้น รมว.ยุติธรรมได้กล่าวยืนยันด้วยว่า การที่มีการอ้างว่าบางคดีดีเอสไอจำเป็นต้องยุ่งเพราะมิฉะนั้นอาจถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ว่าไม่เป็นความจริง อย่างเช่น กรณีแป๊ะเจี๊ยะ
“ไม่โดนครับ เพราะไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ของเค้า ผมขอยกตัวอย่าง คดีแป๊ะเจี๊ยะ ถ้าถามว่าดีเอสไอไม่ทำ แล้วคนอื่นต้องทำไมถ้าไปกล่าวโทษ ตำรวจก็ทำไปซิ ถ้ามีการทุจริตต่อหน้าที่ หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็ทำไปซิ ไม่ได้แปลว่าดีเอสไอไม่ทำแล้วคนอื่นจะทำไม่ได้
“แต่ถามว่าคดีความผิดไหม ผิด ข้อหาแป๊ะเจี๊ยะ ท่านเป็นครูเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ถือว่าผิดกฎหมายโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ไม่ชอบ ก็เป็นความผิดธรรมดา แต่ถ้าหากมันเป็นลักษณะความผิดที่ว่า ไปตรวจพบว่ามันเป็นเครือข่าย มีขบวนการจัดตั้งขึ้นมาเที่ยวข่มขู่ผู้ปกครอง เรียกเงินตรงนี้ขึ้นมาทุกโรงเรียนแล้วก็เอาอำนาจตรงนี้ไปข่มขู่ครูโรงเรียนต่างๆ ให้บีบเอา คนๆ นี้เข้าโรงเรียน จะเข้าข่ายการกระทำผิดเป็นเครือข่ายอาชญกรรม อย่างนี้ต้องให้ดีเอสไอดูแล แต่ถ้าพอลงไปสืบสวนดูแล้ว ที่โรงเรียน A ผู้ปกครองที่โรงเรียน A มาร้องเรียน เราต้องไปสอบให้เค้าเป็นพิเศษ พิเศษอย่างไง ใครก็สอบได้แค่ตรงนี้ อ่ะแล้วถ้าเกิดว่าไปตรงนี้มีปัญหาอีก แล้วทำไมคุณไม่สอบโรงเรียน B อ่ะ ทำไมคุณต้องเลือกโรงเรียน A เป็นกรณีพิเศษ ดีไม่ดีจะถูกกล่าวหาว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ ไม่ชอบไปกลั่นแกล้งเค้าอีก แต่ว่าไม่ได้เสียหายถ้าคุณทำมา เราก็เอาหลักฐานข้อมูลส่งต่อไปหน่วยงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้เค้าทำต่อไปซิ แล้วเราก็กำกับดูแลว่าเค้าทำไหม เห็นไมครับเราก็ไม่ต้องเสียเวลา เสียบุคลากร” รมว.ยุติธรรมอดีตผู้พิพากษายกตัวอย่าง
รื้อดีเอสไอ
นอกจากปัญหาในเรื่องการปฏิบัติงานของบุคลากรแล้ว นายพีระพันธุ์ยังยืนยันด้วยว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นยังมีข้อบกพร่องอีกมากในสองประเด็นใหญ่คือ หนึ่ง ขาดความชัดเจนในภารกิจและหน้าที่ว่าเป็น “การสอบสวนพิเศษ” หรือ “สอบสวนคดีพิเศษ” กันแน่ และ สอง คือวิธีการใช้อำนาจ
“คุณควรจะใช้อำนาจหน้าที่ของคุณแบบไหน อย่างไร ภารกิจหน้าที่คุณคือหน่วยสอบสวน หรือหน่วยปราบปราม ถ้าดูชื่อดูอะไรก็แล้วแต่คุณคือหน่วยสอบสวน ก็ต้องถามว่าเพราะฉะนั้นก็จัดซื้ออุปกรณ์ครุภัณฑ์ มันเข้าถูกทิศทางไหม มันไปหมดเยอะแยะไปหมด” รมว.ยุติธรรมกล่าว พร้อมระบุว่า ปัจจุบันเท่าที่ตนทราบ ดีเอสไอมีอาวุธยุทโธปกรณ์เทียบเท่าระดับกองทัพย่อยๆ เลยทีเดียวซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข
“เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่ารูปแบบของกฎหมายเวลานี้ที่ผมเห็นมันต้องปรับปรุงแน่นอน คนของเราที่รับโอนมา วันนี้ที่รับโอนมาแล้วมีการฝึกอบรมคนของเราไหม เวลานี้เชื่อไหม ว่าคนอยากจะโอนเข้ามาอยู่ดีเอสไอเต็มไปหมด ผมมาอยู่ตรงนี้ยังไม่น่าเชื่อเลยว่าคนจะขอโอนกันมาเยอะแยะ แม้กระทั่งพยาบาลยังขอโอนมาอยู่ดีเอสไอเลย เพราะอะไร พอเข้ามาปั๊บ เป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนมีเงินเพิ่มแล้ว 3 หมื่น เป็นพนักงานสอบสวนพิเศษมีเงินเพิ่มอีก 4 หมื่น ท้ายสุดกลายเป็นว่าคนที่มาอยู่นี้ไม่ได้อยากมาทำงานแต่อยากได้เงินเพิ่ม”
ชี้ต้องคัดคนคุณภาพ
ในเรื่องของแผนการจัดการกับบุคลากรของดีเอสไอ รมว.ยุติธรรมชี้ให้เห็นว่า ดีเอสไอต้องยกระดับตัวเองด้วยการพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการทำงานสูง ดังนั้นตนจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงตั้งแต่การรับคน การฝึกอบรม รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพของคนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สมศักดิ์ศรีของชื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“ถ้าหากกฎหมายปล่อยให้ทำแบบนี้ ผมว่านี้คือทิศทางที่ผิด แล้วเข้ามาแล้วก็ต้องฝึกอบรมคน ให้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายมากขึ้น และที่สำคัญเมื่อคุณจะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจทางกฎหมายเยอะ คุณเป็นหน่วยงานตรวจสอบ แล้วดีไหมดีคุณต้องตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน แปลว่าความรู้ทางกฎหมายคุณต้องแม่นยำ เปรียบเสมือนนักบิน ถ้าไม่ผ่านการตรวจร่างกายประจำปี เค้าก็ไม่ให้บินถึงแม้คุณจะมีใบอนุญาต เพราะอะไร เค้าบอกว่าคุณต้องดูแลชีวิตของผู้โดยสารเยอะ นี้เหมือนกันครับ อำนาจที่คุณมีอยู่ คุณดูแลอกระทรวงยุติธรรม ดูแลชีวิต ดูแลสิทธิเสรีภาพของคนทั้งประเทศ แล้วไม่มีการทดสอบความรู้คุณอีกเลยรึไร เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในอำนาจตำแหน่งนี้ผมคิดว่าจะต้องมีการกำหนดตรวจสอบให้ชัดเจน ว่าจะต้องมีการทดสอบความรู้ หรือทดสอบคุณธรรมเป็นระยะเวลา กี่ปี เช่น เป็นระยะเวลา 3 ปี ครั้ง 2 ปีครั้ง ใครไม่ผ่านก็ต้องลดบทบาทไปทำหน้าที่อื่น ถ้าความรู้ไม่ถึงขั้นก็ทำแบบนี้ไม่ได้ มันถึงจะเป็นการสอบสวนพิเศษ
“วันนี้มันควรจะมีสถาบันสอบสวนพิเศษ ที่ให้ความรู้บุคลากรอย่างจริงจังเหมือนกับโรงเรียนเสนาธิการทหาร อะไรอย่างนี้ ถ้าคุณยังไม่ผ่าน คุณก็ยังทำหน้าที่พนักงานสืบสวนไม่ได้ และเมื่อไม่ผ่านไปแล้วคุณยังใช้อำนาจหน้าที่อยู่ตลอดเวลาก็ต้องมีการตรวจสอบความรู้ ความสามารถของคุณ คุณธรรมของคุณว่าผ่านไหม คนที่มีอำนาจแบบนี้คุณต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ ไม่ใช่มาแล้วมีแต่ความสุข อำนาจก็มีเงินก็เยอะ ใครก็มาซิ แต่ทำงานรึเปล่า”
ทั้งนี้เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการปรับปรุง นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งในการปรับปรุงเชิงการบริหารและในเชิงระเบียบ กฎกระทรวง หรือกฎหมาย ซึ่งตนจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
ไม่ปฏิเสธตำรวจ แต่ต้องไม่เป็น สตช.2
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนกล่าวว่าทุกวันนี้ดีเอสไอถูกครอบงำด้วย “ตำรวจ” เนื่องจากบุคลากรกว่าร้อยละ 80 ของดีเอสไอเป็นตำรวจและมีการนำเอาวัฒนธรรมของตำรวจมาใช้ในองค์กรดีเอสไอ นายพีระพันธุ์ตอบว่า ตนเองไม่ได้รังเกียจ ทหาร หรือ ตำรวจ เพราะในงานด้านการสืบสวนสอบสวนตำรวจมีความเชี่ยวชาญที่สุด
“ต้องยอมรับอย่างนี้ครับว่าถ้าเราพูดถึงดีเอสไอ ดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนเป็นหลัก ต้องยอมรับว่าในจุดเริ่มต้นถ้าคุณไม่เอาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วย คนเริ่มต้นเค้าก็ไม่ได้คิดผิด ใครจะมีความชำนาญเรื่องสืบสวนสอบสวนเท่ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประเด็นคือว่าเมื่อเค้าเข้ามากระทรวงยุติธรรมต้องล้างสมองเค้าใหม่ว่าคุณอย่าเอาความคิดแบบตำรวจมาทำงาน คุณอย่าเอารูปแบบของตำรวจมาทำงาน คุณเอาแค่ฝีมือการสอบสวนสืบสวนมา และต้องตั้งสถาบัน และให้คนเหล่านั้นเป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิธีการสืบสวนสอบสวน ให้คนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งจะต้องมีการสอบคัดเลือกจากคนทั่วไป มีการสอบคัดเลือกเข้ามา เหมือนสอบเป็นผู้พิพากษา อัยการ”
“พอมันขาดไปมันก็เกิดอย่างที่ถามผมมาได้ กลายเป็นสร้างกองทัพของตัวเอง สร้างอิทธิพล กำลังของตัวเองขึ้นมา จริงหรือเท็จไม่ทราบแต่คนสงสัยรู้สึกแบบนั้น วันนี้ผมก็เรียนท่านอธิบดีไปว่าหน้าที่ของพวกเราก็คือว่าแก้ความรู้สึกแบบนี้ให้ได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อยอมรับว่าตำรวจมีความเชี่ยวชาญทางการสอบสวนสืบสวน แต่ในขณะเดียวกัน ความน่าเชื่อถือของสังคมกลับไปอยู่ที่ผู้พิพากษา อย่างเช่นนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ แล้ว รมว.ยุติธรรมจะสร้างความลงตัวให้องค์กรดีเอสไอได้อย่างไร นายพีระพันธุ์ตอบว่า
“อันดับแรกเราต้องทำระบบให้ดีก่อน คำว่าระบบในที่นี้หมายถึงรูปแบบการบริหาร กรอบของการใช้อำนาจ ต้องชัดเจน ขนาดเดียวกันกฎหมายต้องเขียนให้ชัดเจน ในเรื่องการบริหารและจัดการ รูปแบบวิธีการสืบสวน สอบสวนการใช้อำนาจ เมือเป็นอย่างนั้น เราต้องมีระบบเทรนนิง ใครที่เข้ามาปั๊บไม่ใช่คุณมาเป็นอธิบดีก็ได้ คุณต้องผ่านการฝึก ต้องตรวจสอบความรู้กันใหม่ หมายถึง ตั้งแต่อธิบดีลงมาต้องมีการรีเช็คความรู้กันใหม่ เพราะตัวคุณเป็นตัวตัดสินกฎหมายสุดยอดแล้ว คุณจะไม่รู้กฎหมายได้อย่างไร
“สมัยก่อนเมื่อเวลาผมสอบผู้พิพากษา วันนี้ก็ยังเหมือนเดิม ผมยังทดสอบอยู่เลยว่าทางด้านจิตใจของผมนี้ผ่านไหม ไม่ใช่ผ่านแค่ความรู้ ก็ต้องเอาแพทย์ทางด้านจิตเวช มานั่งสัมภาษณ์ด้วยเลย ไม่ใช่สัมภาษณ์ธรรมดา เพราะเค้าบอกว่าคนที่จะนั่งบังลังค์ อำนาจล้นมือ คุณให้คุณให้โทษ คุณเอาเค้าเข้าคุกก็ได้ ตัดสินประหารชีวิตเค้าก็ได้ จิตใจคุณต้องเที่ยงธรรมและมีคุณธรรม เพราะฉะนั้นการจะสอบผู้พิพากษาต้องมีการสอบจิตเวชด้วย ต่อไปตรงนี้ก็อาจจะต้องเอาไปใช้เหมือนกัน”
กรณีเกาเหลา “ทวี สอดส่อง”
ต่อมาเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาดีเอสไอเป็นองค์กรที่เป็นที่ทราบกันดีว่าตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง รวมไปถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนปัจจุบัน ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งในสมัยพรรคพลังประชาชน ที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และด้วยกรณีเช่นนี้จะทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัว พ.ต.อ.ทวี หรือไม่
“ผมเรียนอย่างนี้ คนที่เป็นรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจควบคุมอะไร เหมือนภาชนะ เจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานเหมือนน้ำ ถ้าคุณเอาภาชนะที่ทำเป็นหน้าเป็นยักษ์ไป คุณก็เอาน้ำใส่ เค้าก็เป็นยักษ์ ถ้าเราทำภาชนะที่จะให้เค้าอยู่ให้เป็นโถทองคำเค้าก็ต้องเป็นโถทองคำ ตราบใดที่เราเป็นโถทองคำเพราะฉะนั้นก็คือว่า เราเบอร์ 1 เราต้องรู้จักควบคุมตัวเราเอง เราต้องมีคุณธรรม เราต้องรู้จุดประสงค์และเป้าหมาย เราต้องรู้ว่าเรามาตรงนี้เพื่ออะไร ถ้าเราไม่รู้ว่าเรามาตรงนี้เพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อส่วนร่วม เพื่อประชาชน เราคิดว่าเรามาตรงนี้เพื่ออาศัยกลไกภาครัฐเป็นเครื่องมือของเรา ในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นเครื่องมือของเราในการห้ำหันประชาชนที่ไม่ยอมร่วมมือกับเรา หรือต้องการใช้ตรงนี้เป็นฐานทางการเมืองของเรา นั่นแหละครับเป็นจุดหายนะที่กระทรวงยุติธรรมเป็นมา 8 ปี
“ใครจะเชื่อว่าจริงไม่จริงผมไม่ทราบ แต่ผมเชื่อของผมแบบนั้นและผมก็จะไม่ทำแบบนั้น และเมื่อเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่า เมื่อข้างล่างเค้าเห็นว่าหัวไม่เป็น ไม่มีใครกล้าหรอกครับ วันนี้ผมไม่เคยคุยเรื่องส่วนตัวกับท่านอธิบดีดีเอสไอ และทุกกรมผมก็ไม่เคยคุยเรื่องส่วนตัว ผมคุยแต่เรื่องงานและถามทุกคนดูได้ ที่มาคุยกันเนี๊ย ผมมีแต่มอบงานกลับไปทุกคน และงานต้องอออก ถ้างานไม่ออกคุณมีปัญหา แต่ถ้างานออกคุณทำงานไป และงานต้องอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง ไม่ใช่ใช้อำนาจหน้าที่ไปรังแกคน” นายพีระพันธุ์ชี้แจง
ยึดหลัก อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต พิจารณาปรับย้าย
“เพราะฉะนั้น อย่าไปใช้ชื่อท่านทวี ผมไม่ชอบที่จะไปไบแอส (อคติ) เจาะจงกับใครคนใดคนหนึ่ง ผมเล็งหลักเกณฑ์กลาง อย่าว่าแต่อธิบดีดีเอสไอ อธิบดีคุมประพฤติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีหรือหัวหน้าหน่วยงาน สำนักงานอะไรก็แล้วแต่ ผมจะมีหลักเกณฑ์อยู่ในการทำงาน คือ หนึ่ง อดีต สอง ปัจจุบัน และ สาม อนาคต
“วันนี้ผมมานั่งและดูแลเค้าอยู่ อย่าออกนอกลู่นอกทาง ถ้าออกนอกลู่นอกทางท่านมีปัญหากับผมแน่ อดีตก็ต้องตรวจสอบ ถ้าอดีตใครทำอะไรผิดไว้ก็ต้องรับโทษในสิ่งที่ผิด แต่ว่าปัจจุบันต้องเดินให้ตรงๆ แต่ไม่ได้แปลว่าเมื่อเดินตรงแล้ว อดีตจะลบล้าง ก็ต้องตรวจสอบว่าใครเคยทำอะไรที่ผิดพลาดไว้ขนาดไหน ผิดวินัย ผิดกฎหมาย แล้วก็ไม่ใช่จะตรวจสอบแต่อธิบดีดีเอสไอ แล้วถ้าเราทำอย่างนั้นคือเราไม่เคารพตัวเอง เท่ากับว่าเราเองนั้นแหละ ที่กำลังใช้อำนาจหน้าที่ของเราไปกลั่นแกล้งคน เท่ากับเรามีไบแอสกับอธิบดีคนนี้คนเดียว ในขณะที่คนอื่นอาจจะเหมือนกันเพียงแต่ว่าสื่อไม่สนใจ สื่อไม่ได้เพ่งเล็งไม่ได้เป็นข่าว ผมไม่เป็นอย่างนั้น ผมวางหลักเกณฑ์ในวิถีชีวิตผมเป็นแบบไหนผมก็เดินของผมแบบนั้น โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นกระทรวงยุติธรรม ถ้าเรายังให้ความเป็นธรรมยุติธรรมกับคนในกระทรวงยุติธรรมกับพวกเราไม่ได้ แล้วผมจะไปนั่งเพื่อเอาความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร”
เมื่อถามว่าหากมีการโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ แล้วใครมีแนวโน้มว่าจะมาทำหน้าที่แทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมตอบอย่างยิ้มๆ ว่า ตนอาจจะทำหน้าที่แทนเองก็ได้
“ถ้าจะมีก็ต้องมีผมนี้แหละ ผมจะย้ายลงไปเป็นอธิบดีเอง ไม่เชื่อไปดูซิ ตอนนี้มีห้องทำงานของผมที่ดีเอสไอ แต่ว่าไม่ใช่ห้องทำงานของผมที่ดีเอสไอที่เดียวนะ ทุกกรม คือผมบอกทุกกรมไปแล้ว และหลายกรมก็รายงานไปแล้วว่าเรียบร้อย ผมบอกว่าทุกกรมต้องมีโต๊ะที่ผมทำงานไม่ต้องเป็นห้อง ตั้งตรงไหนก็ได้ ผมไปเมื่อไหร่ต้องมีโต๊ะทำงานและพร้อมที่จะมารายงานผมทุกเรื่อง เพราะผมไม่ชอบนั่งทำงานอยู่ที่ห้อง แล้วผมชอบทำงานด้วยตัวเอง เมื่อผมจัดทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ผมไม่นั่งแล้ว ทีนี้ผมจะเป็นสัญจรแล้ว วันดีคืนดีผมก็ไปโผล่ที่ดีเอสไอ แล้วก็มีห้องให้ผมทำงาน เรียกอธิบดีมารายงานมาฟังความคืบหน้าทุกเรื่อง วันดีคืนดีผมก็จะไปโผล่ที่กรมคุมประพฤติ วันดีคืนดีผมก็ไปโผล่ที่กรมราชทันฑ์ มันเรื่องของผมแล้ว แล้วแต่ว่าวันนี้ผมตื่นเช้ามาแล้วผมจะไปไหน แต่เมื่อผมไปต้องมีที่ให้ผมอยู่ และพร้อมรายงานผมตลอดทุกเรื่อง”
ถาม-ตอบ ความคืบหน้าคดีสำคัญ
เอเอสทีวีผู้จัดการ – กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้มีการรื้อฟื้นเพื่อให้มีการสืบสวนใหม่ใน 4 คดี ประกอบไปด้วย คดีเพชรซาอุฯ คดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีสังหารชิปปิ้งหมู และคดีสังหารชาวต่างชาติ ที่โรงเรียนสแตมฟอร์ด อ.หัวหิน ในส่วนของท่าน ทราบมาว่าได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาด้วย
พีระพันธุ์ - คืออย่างนี้นะครับ ที่ผ่านมามันไม่มีใคร มีคนที่เป็นหน่วยงานอำนาจหน้าที่ หลายหน่วยงาน แต่มันขาดการประสานทำงานเป็นทีม และแต่ละทีม แต่ละหน่วยงานที่มีปัญหา เมื่อเกิดปัญหาก็ขาดการที่จะบูรณาการ การแก้ไขปัญหานั้น มันจึงทำให้ดูเหมือนกับไม่ได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นมันจึงไม่ได้รับการปรับปรุงและแก้ไข และไม่ได้ดำเนินการ ที่จะเดินหน้าอย่างจริงจังและอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราทำวันนี้คือเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาบูรณาการ เช่น กระทรวงไอซีที มีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี และอุปกรณ์อะไรเยอะ แต่ขาดคนทำงาน เราก็เอากลาโหม ซึ่งมีคนทำงานเยอะและมีกำลังอยู่ แต่ไม่มีอำนาจเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เราก็เอามาบูรณาการด้วยกันซะ ให้กระทรวงไอซีที ตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ กระทรวงไอซีที ก็มีบุคลากรที่สามารถทำงานได้ทันที จะเอากี่ร้อยกี่พันคน โดยไม่ต้องไปจ้างงานและเสียงบประมาณใหม่ แค่จัดอบรมความรู้เพิ่ม กระทรวงไอซีที มีเทคโนโลยีในการตรวจจับ แต่ไม่มีความชำนาญในการสืบสวนลงไปลึก กระทรวงยุติธรรมมีเราก็เอาตรงนี้ไปช่วยเสริม ต่างคนต่างส่งข้อมูลประสานงานกัน มันก็เกิดความสำเร็จ
เอเอสทีวีผู้จัดการ - คิดว่าท่านคงได้ดูแฟ้มคดีต่างๆ 4-5 คดีนี้ หรือติดตามข่าว น่าจะมีความคืบหน้า ทั้งคดีทนายสมชาย (นีละไพจิตร) คดีสังหารอุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย
พีระพันธุ์ - ผมไม่ต้องดู แต่ผมสอบเอาซึ่งเขาคงรายงานเท็จไม่ได้อยู่แล้ว โดย คดีทนายสมชายก็คืบหน้าไปกว่า 90% ขณะนี้มันเหลือขบวนการแต่เพียงว่าจะพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเองว่า มันบ่งชี้ถึงตัวบุคคลได้ ว่าเป็นคุณสมชาย ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นกระบวนการซึ่งเราอาจจะต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันกำลังยุ่งวุ่นวายอยู่ ซึ่งกำลังเร่งในส่วนนี้ ในคดีที่เกี่ยวกับนักการทูตหรือว่านักธุรกิจชาวซาอุ ก็เหมือนกัน เดินหน้าไปเกือบหมด แต่ว่าไปติดขัดในรายละเอียดบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่จะต้องนำไปสู่สิ่งที่ต้องใช้พิสูจน์ในศาล ซึ่งตรงนี้ผมก็เร่งไปให้เค้าทำได้ดีที่สุด มากที่สุด ถ้าหากว่าคดีมันจะขาดอายุความก็ต้องเอาเท่าที่มีอยู่ฟ้องให้ได้ แต่จะไม่ใช่ไม่ฟ้องเพราะขาดอายุความ
เอเอสทีวีผู้จัดการ - คิดว่าจะส่งฟ้องได้ในยุคของท่านไหมครับ เพราะว่า คดีฆ่าอุปทูตซาอุฯ ปีหน้า (2553) ก็จะหมดอายุความแล้ว
พีระพันธุ์ - ผมก็มั่นใจว่ารัฐบาลผมน่าจะอยู่ได้จนครบวาระ ก็ต้องจบในยุคผมนี้แหละ
เอเอสทีวีผู้จัดการ - จะมีความขัดแย้งกับดีเอสไอไหม เนื่องจากตอนนี้ดีเอสไอก็สืบคดีนี้อยู่ด้วย
พีระพันธุ์ - ไม่ขัดหรอกครับ ผมชอบทำงานร่วมกันผมไม่เคยคิดว่าเราทำแล้วคนอื่นยุ่งไม่ได้ หรือคนอื่นทำแล้วเรายุ่งไม่ได้ ถ้าอยู่ในกรอบที่เราทำงานได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรี ก็ให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มาช่วยเร่งสืบสานเรื่องนี้ ผมว่ามันเป็นการดีนะ ผมชอบนะ เพราะว่ามีคนมาช่วยผมทำงาน เมื่อวานก็เพิ่งคุยกับท่านนายกรัฐมนตรี ว่ามาช่วยกันทำอย่างไร เหมือนๆ กับคดีซาติก้าผับ เดี๋ยวคอยดูผมออกมาซิครับจะมีหลายเรื่องที่ยังไม่เคยเป็นข่าว
ปฏิเสธ “อัศวิน” มาดีเอสไอ
เอเอสทีวีผู้จัดการ - ถามถึงความคิดเห็นส่วนตัวของท่าน คิดอย่างไรต่อ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกมาช่วยงาน ใน 4-5 คดีนี้ ท่านคิดว่าท่านอัศวินจะทำได้ไหม ท่านเชื่อความสามารถของอัศวินไหม
พีระพันธุ์ - ถ้าคุณอัศวินไม่มีฝีมือ คงโตไม่ได้ในระดับนี้หรอก
เอเอสทีวีผู้จัดการ - แนวโน้มเป็นไปได้ไหมที่จะมานั่งเก้าอี้ดีเอสไอ
พีระพันธุ์ - ไม่มีครับ ไม่ทราบเลย ถ้างั้นต่อไปผมเรียกใครมาทำอะไรก็กลายเป็นว่าต้องมาทำดีเอสไอกันหมดทุกคน
เอเอสทีวีผู้จัดการ - หลายคนมองว่าท่านอัศวินต้องมาดีเอสไอ
พีระพันธุ์ - ต้องถามว่ามองเพราะอะไร เพราะผมเห็นท่านอัศวินเองก็บอก ก็ให้สัมภาษณ์ว่าท่านไม่มาเพราะท่านอยากเกษียณในตำแหน่งตำรวจ คือส่วนใหญ่เป็นเพราะสื่อมวลชนไปคาดเดาไปคิดเอง อย่างท่านทวี (สอดส่อง) เมื่อวานผมก็เพิ่งคุยกับท่าน บอกว่าชักสงสัยแล้วว่าท่านทะเลาะกับสื่อมวลชนรึเปล่า คือผมก็ไม่ได้คิดอะไรกับท่านนะ แต่เห็นสื่อมวลชนจะย้ายท่านทุกวัน ผมไม่เคยคิดไม่เคยพูดแม้กับท่านแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่เรียกมาให้ไปทำงาน
เอเอสทีวีผู้จัดการ - ในส่วนของดีเอสไอ มันจะมีความขัดแย้งภายใน คิดว่าท่านคงรับทราบ
พีระพันธุ์ -ไม่เกี่ยวกับผม ตราบใดที่ไม่กระทบเรื่องงาน ผมบอกแล้ว คนทุกคนมันอยู่ด้วยกัน มันชอบกันได้ มันเกลียดกันได้ แต่ไม่เกี่ยวกับงาน เมื่อไหร่ที่คุณเอาเรื่องส่วนตัว มากระทบกับงานนั้นมันถึงจะเป็นเรื่องของผม
เอเอสทีวีผู้จัดการ - เคยมีบางคดี สมมติเจ้าหน้าที่กำลังจะไปจับผู้ต้องหา แต่ในฝ่ายตรงข้ามอยู่ในดีเอสไอเหมือนกัน แต่ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนจึงจับไม่ได้
พีระพันธุ์ -ถ้าอย่างนั้นถือเป็นเรื่องของผม อันนี้ที่ผมบอกไงครับว่ามันจะต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ การทำงานที่ดีขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันมีหลายเรื่อง ซึ่งกลไกการทำงานรู้แบบกติกา มันมีช่องโหว่อยู่ มันทำให้เกิดหลายปัญหาและนี่คือหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้น
เอเอสทีวีผู้จัดการ - ท่านทราบใช่ไหมเรื่องนี้
พีระพันธุ์ - ทราบ แม้กระทั่งเอาคนมาร้องเรียนมาเป็นแหล่งข่าว แต่กินเงินเดือน ผมว่ามันก็ไม่ถูกเหมือนกัน อย่างนี้ผมอยากได้เงินเดือนผมก็แจ้งทำบัตรสนเท่ห์ไปสักใบ แล้วก็รู้จักกับคนข้างในแล้วก็ตั้งผมขึ้นกินเงินเดือน เป็นแหล่งข่าว ผมก็กินเงินเดือนฟรีโดยไม่ต้องมีงานทำ อย่างนี้มันไม่ได้มันต้องมีหลักเกณฑ์ที่ดีขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือ ที่ซื้อมา มันต้องมีบอกว่าไปทำอะไรมาบ้าง อยู่ที่ไหนใช้งานอะไรมาบ้าง คุ้มค่า ไม่คุ้มค่า มากเกินไปไหม
กรณี ‘ทักษิณ’ ขออภัยโทษ
เอเอสทีวีผู้จัดการ - สมมุติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำหนังสือให้ท่านขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะท่านเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งทางกฎหมาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สามารถทำเรื่องขออภัยโทษได้
พีระพันธุ์ - ทุกคนมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ เราจะห้ามคนขอพระราชทานอภัยโทษไม่ได้เพราะเขามีสิทธิตามกฎหมาย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาขอได้ไหม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเค้าขอแล้วเค้าจะได้รับในสิ่งที่เขาขอรึเปล่า อันนี้มันมีหลักเกณฑ์ ว่า 1.คนที่เข้าเงื่อนไข ที่จะขอขอได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้แล้ว 2.เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ในการขอ เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับหรือไหม และสุดท้าย ถ้าเข้าเงื่อนไข ส่งขึ้นไปแล้วก็แล้วแต่พระราชวินิจฉัย ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีใครตอบได้
เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ไม่มีคำถามที่ตอบยากเลย เพราะว่าผมเป็นแค่แมสเซนเจอร์ ซึ่งทุกอย่างมันมีกฎเกณฑ์กติกาวางไว้อยู่ ถ้าใครเค้าเข้าเงื่อนไข แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มันไม่ใช่มายื่นตรงที่ผมนะ การจะขอพระราชทานอภัยโทษ มันต้องไปขอที่กรมราชทันฑ์ ซึ่งจุดเริ่มต้นมันอยู่ตรงนั้น และทางกรมราชทันฑ์ก็จะพิจารณาในเบื้องต้น เมื่อเค้าพิจารณาเบื้องต้นมา ถึงผม ก่อนส่งออกจากกระทรวง ผมก็ต้องดูว่าเข้ากับเงื่อนไขไหม ถ้าเข้าผมก็ต้องส่งถ้าผมไม่ส่งผมมีสิทธิ์โดนฟ้องตามกฎหมาย หาว่าไปดึงเรื่องเข้า ถ้าเค้ามีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข แต่ถ้าเค้าไม่เข้า ก็หมายความว่า คนที่ส่งมาทุจริตต่อหน้าที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นระบบของมันอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย
ผมทำงานอย่างนี้นะครับ ผมทำงานโดนไม่ดูชื่อคน ผู้เป็นผู้พิพากษามาก่อน ผมก็ไม่เคยดู คู่ความ คนเราเนี๊ย กว่าจะโตมาขนาดนี้มันต้องมีคนรู้จัก มันต้องมีเพื่อนฝูง พวกพ้อง แต่เราต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องงาน กับเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อไหร่คนที่อยู่ในวงการกระบวนการยุติธรรมเอาชื่อมาเกี่ยว คุณจะมีความลำเอียงไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ถ้าบังเอิญเป็นคนที่คุณรู้จักก็ดี เป็นคนที่คุณมีส่วนได้เสีย เพราะฉะนั้นวิธีการทำงานของผมเนี๊ย เราดูที่เนื้อหาของเรื่อง ว่าเรื่องนี้มันคือเรื่องอะไร หลักเกณฑ์เรื่องนี้มันมีอยู่แล้วครับ ทุกเรื่อง เมื่อเข้าหลักเกณฑ์อย่างนี้เราก็ต้องเดินไปทางนั้น ไม่ต้องไปสนใจ
สมมุติว่าเรามีใครสักคนขอมา เราไม่ชอบ ไม่อยากให้มันเลยโว้ย ธรรมชาติของคน ทั้งท่านและผมหนีไม่พ้นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นถ้าเราสกัดอะไรได้ออกไปจากตัว เราก็สกัดมันออกซะในตอนทำงาน เราอย่าไปดูนี้เป็นชื่อใคร ดูว่าเหตุผล หลักเกณฑ์ พฤติกรรม กับหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ไปกันได้ไหม ไปกันได้ก็ต้องไป ถ้าไปไม่ได้แล้วคุณให้เค้าไปก็แปลว่าคุณผิด เค้าไปได้คุณไม่ให้เค้า คุณก็ผิดอีก เพราะฉะนั้นเราอย่าไปดูว่าคนนี้เป็นใคร ใครขอ ใครอะไร เราดูว่าสิ่งที่เค้าทำ เข้าหลักเกณฑ์เข้าเงื่อนไขไหม
“กรมคุ้มครองสิทธิ์” ใกล้ชิดประชาชน
ส่วนนโยบายบริหารกระทรวงยุติธรรมในยุคใหม่นั้นนายพีระพันธุ์ตั้งใจไว้ว่า หน่วยงานหลายๆ ส่วน ในกระทรวงยุติธรรมต้องมีการปรับบทบาท เนื่องจากการติดตามการทำงานของกระทรวงยุติธรรม โดยก่อนที่เขายังเป็นฝ่ายค้าน เขาเห็นว่ามีหลายส่วนที่ยังทำหน้าที่ให้สมกับเป็นกระทรวงยุติธรรมของประชาชนไม่ดีพอ อย่างเช่นหน่วยงานสำคัญที่ควรปรับบทบาทหน้าที่ให้ช่วยเหลือประชาชน อย่าง กรมคุ้มครองสิทธิ์
“ต้องเอามานั่งคิดว่าทำอย่างไรจะเผยแพร่ลงไป บทบาทขององค์กรนี้ต้องไม่อยู่กับที่ ต้องลงลึกลงไป ผมก็มอบนโยบายท่านอธิบดีไปแล้ว กรมคุ้มครองสิทธิ์ต้องมีหน่วยงานยุติธรรมเคลื่อนที่เหมือนที่อื่นเค้ามีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพราะนี้คือความเดือดร้อนของคน ชาวบ้านเค้าไม่มีปัญญาหรอก แต่เค้าถูกรังแกถูกกลั่นแกล้ง กระทรวงยุติธรรมต้องลงไปหาเค้า ในชุมชน ในหมู่บ้าน ว่ามีข้อกฎหมายอะไรจะถามเราไหม เราให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ ต้องลงไปชุมชนเพราะนั้นคือหน้าที่ เอาข้อมูลเอากฎหมายไปเผยแพร่เค้า แล้วก็อย่างนั่งอยู่ที่กรม อาจจะต้องมีบูทที่อยู่ตามศูนย์การค้า ให้ลงไปรุกคนอีกระดับหนึ่ง เวลาที่มีคดีเกิดขึ้นต้องหัดนั่งดูหนังสือพิมพ์
“ตรงนี้ก็ยังคงบกพร่องอยู่ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่แท้จริง เพราะอะไร ถ้าหากการเผยแพร่กฎหมายเป็นไปตามเป้าหมายภารกิจที่ถูกต้องแล้ว วันนี้สถิติคนรู้กฎหมายต้องมากขึ้น เอาง่ายๆ วันนี้มีกี่คนที่รู้ว่าในประเทศมีพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เวลาที่คุณไปทำสัญญาบัตรเครดิต แล้วมีข้อตกลงในสัญญาที่เอาเปรียบกันเกินกว่าเหตุ คุณสามารถหยิบยกขึ้นมาฟ้องศาล แล้วให้ศาลปรับแก้เงื่อนไขข้อตกลงนั้นได้ แล้วมีกี่คนที่รู้ กฎหมายข้อนี้ออกมาเกือบ 10 ปีแล้ว อันนี้ผมเป็นคนออกเอง เขียนกฎหมายฉบับนี้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีกี่คนที่รู้ ทำไมกระทรวงยุติธรรมจึงไม่ช่วยเผยแพร่กฎหมายเหล่านี้ วิธีการเผยแพร่กฎหมายเหล่านี้ ทำแบบวิชาการคนไม่สนใจหรอก”
“อย่างวันก่อนผมกำชับเขาเลยว่า ไปเลยที่วันก่อนมีคนยิงกันแล้วลูกหลงโดนคน แล้วมีคนตาย อย่างนี้กรมคุ้มครองสิทธิ์ต้องไปหาเค้าก่อนเลย ไม่ต้องรอให้เค้ามาหาไปพร้อมแบบฟอร์ม ไม่ใช่บอกว่าต้องไปกรอกแบบฟอร์มแบบนี้ซิ กี่คนจะรู้ว่าต้องมีการกรอกแบบฟอร์มอะไร มันต้องรุกลงไปหาประชาชน ประชาชนจะได้รู้สึกว่าสมกับที่ต้องมีกระทรวงยุติธรรมเวลาเราเดือดร้อน” รมว.ยุติธรรมเปิดเผย
ตั้ง “ตำรวจศาล” ตะครุบ จนท.รัฐทำผิด
นอกจากนี้ ในการพัฒนากระทรวงยุติธรรมให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น รมว.ยุติธรรม ยังเผยด้วยว่าจะต้องทำให้การบังคับคดีในคดีอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะฝากงานไว้กับตำรวจ ซึ่งไม่ค่อยได้ผล
“ผมคิดว่าทำอย่างไรจะให้มีการบังคับคดีอาญา มีการบังคับการสำเร็จตามกฎหมาย ก่อนและหลังคำพิพากษา เช่นคดีบางเรื่อง กำลังตามจับคนร้ายอยู่ ปรากฏว่าคนร้ายหนีไปแล้ว เคยมีใครรับผิดชอบแล้วคิดว่าการตามจับคนร้ายเป็นเรื่องใหญ่ไหม กลายเป็นงานฝากที่ตำรวจ พอเป็นงานฝากตำรวจ ตำรวจเน้นงานอะไร เน้นงานสืบสวนสอบสวน ไอ้งานตามจับผู้ร้ายจึงกลายเป็นงานเล็ก เราก็สงสัยว่าเมื่อไหร่จะจับได้สักที เวลาศาลพิพากษาเสร็จ ผู้ต้องหาหนีไม่มาฟังคำพิพากษา เคยมีใครไปตามจับอย่างจริงจังไหม หรือเวลาที่ศาลพิพากษาในคดีอาญา พิพากษาปรับ เคยมีใครไปตามเก็บค่าปรับไหม ถ้าเป็นคดีแพ่งก็ยึดทรัพย์เค้ามีโจทย์ ซึ่งเป็นคนมีส่วนได้เสีย เค้าเป็นคนนำสืบ เป็นคนนำเจ้าพนักงานไปจับ ไปจับไปยึดแล้วไปนำมาขายทอดตลาด แล้วคดีอาญาใครล่ะ ปรากฏว่ามีคดีอาญาจำนวนมากที่ไม่มีการปรับตามคำพิพากษา
“รวมไปถึงเช่นเมื่อมีหน่วยงานภาครัฐจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้วไม่ทำตามหน้าที่ เช่น ท่านไปขออนุญาตขอก่อสร้าง 30 วันก็แล้ว 40 วันก็แล้ว ทำไมใบอนุญาตไม่ออก วันนี้ก็บอกให้ไปฟ้องศาลปกครองทำไมต้องให้ฟ้อง ทำไมเราไม่มีหน่วยงานที่มาบอกแล้วหน่วยงานภาครัฐไม่ไปบอกซะเอง ว่าทำไมคุณยังไม่ออกใบอนุญาตให้เค้า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าที่ผ่านมาเรามีแต่หน่วยงานภาครัฐที่ไปไล่ตะครุบประชาชนที่ทำผิดกฎหมาย แต่ไม่เคยมีหน่วยงานภาครัฐไปไล่ตะครุบหน่วยงานภาครัฐที่ทำผิดกฎหมายซะเอง”
ด้วยเหตุนี้นายพีระพันธุ์จึงมีนโยบายในการศึกษาและจัดตั้งหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายกับ ตำรวจศาล (U.S. Marshals) ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นสำนักงานหรือเป็นกรม โดยยืนยันว่าหน่วยงานนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยครบถ้วนสมบูรณ์
สร้างอนาคตให้คนคุก
ในประเด็นต่อมา นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนคิดว่ากระทรวงยุติธรรมยังต้องดูแลคนผิด และเยียวยาให้คนกลุ่มนี้กลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข ซึ่งตนพบว่านักโทษจำนวนไม่น้อยมีความตั้งใจที่จะหาความรู้ โดยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเรียนกฎหมาย ซึ่งน่าจะเป็นกำลังสำคัญให้กระทรวงยุติธรรมได้ในอนาคต
“ผมคิดว่ากระทรวงยุติธรรมต้องทำคืออะไร เราไปตามจับคนผิดมา กระทรวงยุติธรรมในวันนี้มีหน้าที่ดูแลคนผิดด้วยนะ ก็คือ เรามีกรมพินิจ เรามีกรมคุมความประพฤติ หน้าที่ก็คือว่าเมื่อศาลพิพากษาแล้ว เราต้องเอาคนเหล่านี้มาจองตำไว้ในคุก ถามว่าทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้เค้าออกจากคุกแล้วปรับปรุงตัวกลายเป็นคนดี คนอยากเป็นคนดียังมีอยู่ ผมเชื่อ คนอยากกลับไปอยู่ในสังคมได้อีก และนั่นก็เป็นนโยบายของรัฐบาล
“ประเด็นก็คือว่า เราจะต้องมีแนวความคิด มีนโยบายต่อไปอีกเช่น ทำอย่างไรเมื่อคนคุกพ้นโทษ จะต้องมีงานให้เค้าทำ กระทรวงแรงงานประสานงานกันได้ไหม คนเหล่านี้ต้องมีชนักติดหลัง มีประวัติอีกว่าเป็นคนคุก ต้องคำพิพากษามา ไปหางาน หาคนทำงานรับงานยาก เราก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เค้า ซึ่งผมก็เริ่มคุย กับท่านรัฐมนตรีแรงงานแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งเวลาที่เค้าอยู่ในคุกเนี่ย ทำยังไงอย่าให้เวลามันหมดไปวันๆ บางคนมีลูกเมีย บางคนมีพ่อแม่ ทำอย่างไรจะสร้างงานในคุกแล้วส่งไปให้ทางบ้านเค้าได้ อันนี้ก็เป็นนโยบายอีกอันนึงที่ผมมอบให้แล้วนำไปให้คิด
“บางคนเรียนหนังสือ บางคนอยากตั้งต้นชีวิตใหม่ อยู่ในคุกตั้งใจเรียนหนังสือ ที่ผมไปพบจบกฎหมาย พอจบกฎหมายออกมา จะไปสอบขออนุญาตเป็นทนายความ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อก็บอกติดคุกมา สอบไม่ได้ แล้วกระทรวงยุติธรรมทำอะไร อุตสาห์ให้เค้าเรียนหนังสือ ในขณะที่กระทรวงยุติธรรมต้องการนักกฎหมาย
“อย่างที่ผมบอกการเผยแพร่กฎหมายประชาชน ทำไมกระทรวงยุติธรรมต้องไปรอหน่วยงานที่เค้าดูแลกฎหมาย ทำไมกระทรวงยุติธรรมไม่สร้างใบอนุญาตหรือจ้างคนเหล่านี้ ที่ผ่านการอบรมอีกชั้นนึง ผ่านการสกรีนเรื่องคุณธรรมแล้ว ก็เอาคนเหล่านั้นแหละครับ เข้ามาเป็นคนของกระทรวงยุติธรรมให้เค้ามีความรู้สึกว่า ถ้าเค้าเป็นคนดี เค้าเรียนมีความรู้ มีคุณธรรมกลับตัวเป็นคนดี เค้าจะเริ่มอนาคตได้ใหม่กับกระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่กระทรวงยุติธรรมเอาเค้ามาขังไว้ในคุก แต่กระทรวงยุติธรรมสามารถสร้างอนาคตให้คุณได้ใหม่ถ้าคุณต้องการมีอนาคตที่ดี อันนี้ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ผมคิดว่าจะต้องทำให้คนคุกเหล่านี้
“นักโทษที่จบนิเทศศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมต้องการเผยแพร่ความรู้ ก็เอามาช่วยกันทำซิ จ้างงานเค้าซิ ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปในประเทศ ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการดูแลตัวเอง มีส่วนร่วมในการดูแลความยุติธรรม เราอยู่บ้านเราเคยมีความรู้สึกไหม ว่าเฮ้ยไอ้นี้มันทำแบบนี้ได้ไง ใช้อิทธิพลกลั่นแกล้ง ปลูกบ้านกินเนื้อที่ หรือว่าไปต่างจังหวัดเจอ กกต.ทุจริต ทำไมกระทรวงยุติธรรมไม่สร้างเครือข่ายในระบบอาสาสมัคร ซึ่งเค้าไม่ต้องการเงิน กระทรวงยุติธรรมก็ไม่ต้องเสียเงิน แต่ให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการเป็นหูเป็นตา แล้วเราก็มีหน่วยงานอย่าง ยูเอส มาร์แชล เป็นคนรับเรื่อง เช่น อ่อที่นี้ทุจริต ส่ง ยูเอสมาร์แชล ลงไป หาว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร จริงเท็จว่ากัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ประชาชนก็จะรู้สึกอุ่นใจและรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล และสังคม”
ออก กม. รับรองสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางในการพัฒนาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีปัญหามาตลอดโดยเฉพาะกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในประเด็นนี้ รมว.ยุติธรรม ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่ตนจะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะการออกกฎหมายเพื่อรองรับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพราะ หน่วยงานนี้เป็นอนาคตของการสืบสวนสอบสวน
“ประหลาดมาก ผมต้องพัฒนาแน่นอน ผมเรียนแบบนี้เลยครับที่ผมบอกว่าประหลาดมากเพราะอะไร ในกระทรวงยุติธรรมมีอยู่ 12 กรม ไม่นับอัยการ ... สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานเดียวที่ไม่มีกฎหมายรองรับ มันเป็นไปได้อย่างไร ผมก็งงว่า 8 ปีที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรม ทำอะไรอยู่ ไม่ออกกฎหมายให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีคนมาบอกผมว่าไม่เป็นไรมีกฎกระทรวงแล้ว ผมจึงตอบกลับไปว่าถ้าอย่างนั้นกรมอื่น ผมก็ยกเลิกกฎหมายแล้วเอาใช้กฎกระทรวงเหมือนกันเอาไหม นี่คือความถูกต้องเป็นธรรม ทำไมกรมอื่น คุณบอกว่าคุณต้องมีกฎหมาย พอมาถึงสถาบันฯ คุณบอกไม่ต้องเพราะมีกฎกระทรวงผมก็บอกไป ว่าถ้างั้นผมก็จะยกเลิกกฎกระทรวงอื่นเอาไหม แล้วก็ไม่ต้องห่วง ผมไม่อาศัยใคร ผมเขียนกฎหมายเองได้ ผมเรียนท่าน พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ไปแล้ว ว่าสถาบันคุณหญิงต้องมีกฎหมาย คุณหญิงก็บอกผมว่า ท่านพยายามทำมานานแล้วแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะไม่มีคนเขียนเสนอให้ ผมบอกไม่เป็นไรเดี๋ยวผมเขียนเอง เอาข้อมูลมาเดี๋ยวผมเขียนเอง เพราะฉะนั้นอีกไม่นานจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
“ที่ผมเรียนอย่างนี้เพราะอะไรครับ เพราะว่าโลกมันเจริญก้าวหน้าไปเยอะ กลไกในการพิสูจน์หลักฐาน มันไม่เหมือนเดิม ในขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ หรือเครื่องมือในการพิสูจน์ ด้วยสารเคมีด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์มันไปไกล และต่างประเทศเค้าก็ใช้กันไปเยอะ ไม่ว่าที่พวกเราจะรู้จักกัน เช่น การพิสูจน์ ด้วย ดีเอ็นเอ หรือ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในขนาดที่เค้าไปไกลกันแล้ว แต่ทำไมบ้านเรากลับทิ้งเรื่องนี้ไว้ข้างหลัง ทั้งๆ ที่มันสามารถเริ่มต้นพัฒนาไปได้ แล้วเรากลับไม่ให้อำนาจหน้าที่ กระทรวงยุติธรรมกลับไม่เห็นความสำคัญของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่เราให้ความสำคัญกับดีเอสไอ
“ลองไปดูเอฟบีไอซิครับ ผมบอกแล้วดีเอสไอผมเป็นต้นคิด ผมเอามาจากเอฟบีไอ เอฟบีไอ ยังมีสถาบันวิทยาศาสตร์ เป็นห้องแล็บของเค้า อยู่ในองค์กรเค้า เพราะอะไร เวลาที่คุณไปพิสูจน์ ยันกับ ตำรวจ คุณต้องมีคนของคุณเอง แล้วทำไมของเราเกิดไม่ทำ แล้วทำไมผมเรียนว่าผมต้องส่งเสริม เพราะอะไรจาก คดีซานติก้าผับ ผมได้ประโยชน์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาหลายเรื่อง บางเรื่องสามารถพิสูจน์ได้ แม้ไม่เจอด้วยตา จับด้วยมือ แต่รู้ว่าอยู่ตรงนั้น ที่สำคัญอยู่ที่ว่ากระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานที่สำคัญๆ อยู่หลายหน่วย แต่ไม่เคยทำงานรวมกันเป็นทีม เพราะฉะนั้นเมื่อผมมา ผมให้ทำรูปแบบใหม่เริ่มที่ซานติก้าผับ และ คดีหมิ่นในหลวง แต่ละคนมีความสามารถตรงไหน เอามารายงานผมบนโต๊ะประชุมพร้อมกันหมด” นายพีระพันธุ์กล่าว
ประสานรอยร้าวกับ ตร.
เมื่อถามว่านอกจากประเด็นกฎหมายแล้ว ทราบว่าสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังมีความไม่ลงรอยกันกับ ดีเอสไอที่เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกัน รวมไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย รมว.ยุติธรรมให้ความเห็นว่า
“ผมไม่ทราบนะครับ แต่ผมเรียนแล้วว่า ผมไม่มองที่ตัวบุคคล ผมมองที่ตัวองค์กร คือองค์กรในกระทรวงยุติธรรมต้องทำงานร่วมกันได้ แล้วตอนนี้ผมจับมาทำงานรวมกันหมด แม้แต่คดีซานติก้าพับที่ผมนั่งสอบสวนกันอยู่ ผมก็เอาดีเอสไอ เอาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เอาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เอากรมคุ้มครองสิทธิ์มานั่งทำงานร่วมกัน ก็ไม่เห็นมีปัญหา ก็เห็นทำงานร่วมกันได้ ผมนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะไม่เห็นมีอะไรเลย เห็นแต่มีรายงานความคืบหน้าให้ผมทุกอาทิตย์
“ประเด็นมันจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าองค์กรนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ มันอยู่ที่ว่ามันมีปัญหาอย่างอื่นที่ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงจะสร้างรูปแบบวิธีการทำงานให้ไปด้วยกันให้ได้ เรื่องใครไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัวหรือว่าใครมีอะไรส่วนตัว คุณต้องเอาวางไว้ข้างนอก งานต้องเดิน สถาบันต้องไปด้วยกัน เพราะวิธีการก็คือวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้น เพราะมันไม่มีกฎหมายรองรับว่ามันต้องทำงานร่วมกันอย่างไร
“เมื่อมีกฎหมายมารองรับก็ต้องประสานกันว่า ต่อไปดีเอสไอ กับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต้องทำงานควบคู่กันแบบไหน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สามารถขอความร่วมมือกับ ดีเอสไอ ได้ ดีเอสไอ สามารถขอความร่วมมือกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ใครจะมามันก็ต้องทำตามกฎหมาย คุณไม่ทำคุณผิดกฎหมายเอง แล้วโดยเฉพาะถ้าพูดถึงความถูกต้องตามความเป็นจริง ที่ผมเรียนแล้วว่า ดีเอสไอ กรมสอบสวนพิเศษ ไม่ใช่เป็นสาขาของ สตช. แต่คุณเป็นองค์การที่ต้องตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของสตช.”
เว็บไซต์ :
กระทรวงยุติธรรม