xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนสั่งคดี “ประชัย” ปล่อยกู้หมื่นล้านผิด พรบ.หลักทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์
เลื่อนสั่งคดี “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์-4 อดีตกรรมการทีพีไอ” ทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ โอนเงินบริษัทปล่อยกู้ 13,000 ล้านบาทไม่ชอบ เหตุอัยการพิจารณาหลักฐานไม่เสร็จ นัดสั่งคดีอีกรอบ 6 มี.ค.นี้ อัยการระบุเบื้องต้นพบยอดเงินปล่อยกู้น่าสงสัย 2,000 ล้านบาท เงินหายระหว่างโอน 16 ล้าน

วันนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 นัดสั่งคดีที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ, นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์, นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์, นายชัยณรงค์ แต้ไพสิฐพงษ์ และนายประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ อดีตกรรมการบริษัท ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1-5 ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 312, 313, 315 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กรณีถ่ายเทเงินจากบริษัทด้วยการปล่อยกู้เงินจำนวน 13,000 ล้านบาทให้กับบริษัทในกลุ่มของตนเอง ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลา นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้เลื่อนนัดการสั่งคดีออกไปอีก 1 เดือน 15 วัน โดยอัยการแจ้งให้ผู้ต้องหาฟังคำสั่งในวันที่ 6 มี.ค.นี้ 10.00 น. เนื่องจากคณะทำงานอัยการ ยังพิจารณาสำนวนหลักฐานไม่แล้วเสร็จ

อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เปิดเผยว่า สำนวนคดีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปยอดเงินที่ระบุว่ามีการกระทำผิดในการปล่อยกู้ไว้เป็นจำนวนมากในหลายบริษัท ซึ่งขณะนี้คณะทำงานอัยการได้พิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการเงินแล้วได้สรุปยอดเงินจำนวนหนึ่งที่พบว่า ทีพีไอ โอนเข้าบัญชีกับบริษัท โรงงานฝ้าย สระบุรี จำกัด จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทโรงงานฝ้าย ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวสั่งจ่ายเข้าบัญชีอื่นอีกหลายบริษัทแต่สุดท้ายพบว่า 90-99% ของยอดเงิน 2,000 ล้านบาทนั้นได้ถูกส่งกลับเข้าบัญชีทีพีไออีก โดยมียอดเงินที่หายไประหว่างการโอนเข้าบัญชีบริษัทต่างๆ ประมาณ 16 ล้านบาท คณะทำงานจึงต้องพิจารณาที่มาที่ไปของเงินดังกล่าวว่าใช้ไปเพื่อประโยชน์อะไร จำนวนเงินที่ขาดหายไปตกอยู่กับส่วนใด และการกระทำลักษณะดังกล่าวต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการกระทำมีลักษณะสลับซับซ้อนโดยการพิจารณามีเอกสารจำนวนมากที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดดังนั้นอัยการจึงต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะตรวจดูหลักฐาน ขณะเดียวกันก็ยังมียอดเงินอื่นอีกในสำนวนที่คณะทำงานต้องพิจารณาว่ามีลักษณะการกระทำที่เหมือนกันหรือไม่ อย่างไรก็ดีคณะทำงานพยายามที่จะพิจารณาสำนวนเพื่อสรุปความเห็นให้เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น