xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกคำร้อง “นช.แม้ว” ขอยื้อยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน นัดตรวจพยานปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ศาลฎีกา ยกคำร้อง"แม้ว" ขออนุญาตขยายเวลาคัดค้านยึดทรัพย์ 76,621 ล้านบาทอีก 30 วัน เพราะเห็นว่าให้เวลามาพอสมควรแล้ว นัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง 26 , 27 ,30 มีนาคม ปีหน้า

วันนี้ ( 25 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดี พร้อมองค์คณะ 9 คน นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดกระบวนพิจารณาในคดีหมายเลขดำที่ 14 / 2551 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยวันนี้ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถือครองทรัพย์สิน ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำคัดค้านออกไปอีก 30 วัน หลังจากที่ศาลเคยมีคำอนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำคัดค้านมาแล้ว ศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า ก่อนหน้านี้ศาลอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาขยายเวลายื่นคำให้การได้จนถึงวันที่ 20 ม.ค.2552 ส่วนบุคคลซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถือครองทรัพย์สินรายอื่น ให้ยื่นภายใน 3 ม.ค.2552 ซึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ประกอบกับในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาและบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นำพยานหลักฐานยื่นคัดค้านเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินแล้ว คำร้องของผู้ร้องยังไม่มีเหตุเพียงพอจึงให้ยกคำร้อง และให้นัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 26 , 27 และ 30 มี.ค. 2552 ในเวลา 10.00 น. โดยให้คู่ความยื่นบัญชีพยาน เสนอต่อศาลก่อนวันนัดตรวจสอบพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน

ภายหลัง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ผู้รับผิดชอบสำนวนคดี กล่าวว่า ในส่วนของโจทก์ เตรียมพยานบุคคลเสนอให้ศาลไต่สวนประมาณ 100 คน อย่างไรก็ดี ในส่วนที่มีบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ยื่นคำคัดค้านนั้น ขณะนี้อัยการยังไม่ได้รับสำเนาจากศาล จึงไม่ทราบรายละเอียดคำคัดค้านอย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียึดทรัพย์นั้น ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช.จะรับหน้าที่พิจารณาสำนวนนั้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน และ คตส.มีความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบุคคลในตระกูลชินวัตร เป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร 16 บัญชี จำนวน 69,000 ล้านบาท ไว้ และส่งสำนวนหลักฐานให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี ซึ่งครั้งแรกคณะทำงานอัยการที่ อัยการสูงสุดตั้งขึ้นให้พิจารณาสำนวนคดี คตส.นั้น เคยมีความเห็นว่าควรจะร้องขอยึดทรัพย์ 69,000 ล้านบาทที่ถูกอายัด เงินที่เหลืออีกกว่าหมื่นล้านบาทนั้นยังไม่มีหลักฐานถึงแหล่งของเงินว่าอยู่ที่ใด ดังนั้น เมื่อ คตส.พ้นการทำหน้าที่ไปเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.จึงได้เข้ามาทำหน้าที่แทน คตส. และมีการตั้งคณะกรรมการ่วมอัยการ-ป.ป.ช.ดังกล่าว

สำหรับบัญชีเงินฝาก 16 บัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตรที่ถูกอายัดไว้ในชั้น คตส.มีดังนี้ ธ.กสิกรไทย 36 ล้านบาท, ธ.กรุงเทพ 18,156 ล้านบาท, ธ.กรุงศรีอยุธยา 2,125 ล้านบาท, ธ.ทหารไทย 10 ล้านบาท, ธ.ไทยพาณิชย์ 39,634 ล้านบาท, ธ.ธนชาต 1,476 ล้านบาท, ธ.นครหลวงไทย 1 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 500 ล้านบาท, ธ.ยูโอบี รัตนสิน 492 ล้านบาท, ธ.ออมสิน 15,748 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 200 ล้านบาท, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท, บลจ.กสิกรไทย 208 ล้านบาท, บลจ.ไทยพาณิชย์ 2,237 ล้านบาท, บลจ.แอสเซทพลัส 172 ล้านบาท และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน 2,722 ล้านบาท

สำหรับ คำร้องที่อสส.ยื่น คำร้องต่อศาลฎีกานักการเมืองให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามคำร้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดแจ้งว่า คตส.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบไต่สวนและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2544-มีนาคม 2548 ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น โดยที่บริษัท ชินคอร์ป เป็นบริษัทได้รับสัมปทานกิจการโทรคมนาจากรัฐ ซึ่งเป็นการฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญา ม.119 และ 122

**เอื้อประโยชน์ชินและบริษัทในเครือ**

และในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของผู้ถูกล่าวหากระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก คือ

1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 – 50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัท เอไอเอส

**แก้ไขสัญญามือถือ**

2.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 6 ) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (PREPAID CARD) ให้กับบริษัท เอไอเอส ซึ่งจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 6 )ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทเอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ทศท ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นแบบก้าวหน้าในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543-30 กันยายน 2548 และในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548-30 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

3.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (ROAMING) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท เอไอเอส การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นมีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ทศท. และบริษัท กสท.ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท กลายเป็น บริษัท เอไอเอส จะได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งบริษัท ชินคอร์ป ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส ดังนั้นผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับดังกล่าวจึงตกกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯที่ผู้ถูกกล่าวหาถือในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น จนกระทั้งได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์

**แก้ไขสัมปทานดาวเทียม**
4.กรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียม IP STAR, การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทคม และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเช่าช่อสัญญาณต่างประเทศ อันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ชินแซท

**ปล่อยกู้พม่าซื้อสินค้าชินฯ**
5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซท โดยเฉพาะ ซึ่งครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงค์ให้วงเงินก็ 3,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า แล้วต่อมาได้สั่งการเห็นชอบเพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชินแซท ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวกมีผลประโยชน์ถือหุ้นอยู่ ในการให้ได้รับงานจ้างพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่า

**แก้กฎหมายเอื้อบริษัทครอบครัว**
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาลในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.เป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ที่เป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ป ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมสามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับให้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2549 โดยปรากฏว่าในวันที่ 23 มกราคม 2549 ก็ได้มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯจำนวน จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อ นายพานทองแท้, น.ส.พินทองทา บุตรชาย และบุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว และ นายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทน ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880932.05 บาท ซึ่งตั้งแต่ 2546 – 2548 บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงินจำนวน ทั้งหมด 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ม.80

โดยในชั้นไต่สวน คตส.อาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 5 และ ข้อ 8 มีคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯให้กับกลุ่มเทมาเส็ก และเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ได้รับในช่วงปี พ.ศ.2546-2548 รวม 15 คำสั่ง รวมเป็นเงิน 73,667,987,902.60 บาท พร้อมดอกผล ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วน โดยคดีนี้ผู้ร้องมี นายแก้วสรร อติโพธิ, นายสัก กอแสงเรือง และบุคคลอื่นเป็นพยาน ในการไต่สวนพบหลักฐานการปกปิดอำพรางการถือหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปฯ กับพวก และมีพยานเอกสารซึ่ง คตส.ได้รวบรวมไว้ในชั้นไต่สวน โดยขอให้ศาลมีสั่งยึดอายัดเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาพร้อมดอกผลไว้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ท้ายคำร้องอัยการสูงสุดขอให้ศาลออกหมายเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ มาพิจารณาพิพากษายึดทรัพย์สิน เป็นเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880932.05 บาท และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 6,898,722,129 รวมเป็นที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น