xs
xsm
sm
md
lg

บช.ก.ส่งชุดสืบสวนปูพรมค้นหาแหล่งผลิตแบงก์ปลอม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


บช.ก.ส่งชุดสืบสวนปราบปรามฯ ลงพื้นที่ตรวจหาแหล่งผลิตแบงก์ปลอมตามแนวชายแดน-เหนือ-อีสาน เบื้องต้นพบเป็นเพียงถ่ายเอกสาร ขณะที่ ศส.บช.น.ระบุยังไม่พบพื้นที่ กทม.เป็นแหล่งผลิตเพราะทำยาก เนื่องจากต้องใช้แท่นพิมพ์ราคาหลายล้านบาทผลิต โรงพิมพ์ไม่กล้ารับงานเสี่ยงถูกจับกุมไม่คุ้ม ส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัดและปริมณฑล ชี้ถ้าผลิตกันจริงคงใช้เครื่องพิมพ์ที่โรงพิมพ์ปลดระวางไม่ใช้แล้วแอบพิมพ์กันเอง

วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก.กล่าวถึงการปราบปรามธนบัตรปลอมที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนของกองบังคับการปราบปราบ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจน้ำ ลงพื้นที่ตรวจสอบหาแหล่งผลิต ตามแนวชายแดน และบริเวณภาคเหนือและอีสานที่คาดว่าเป็นแหล่งผลิต สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่จับกุมได้ยังไม่พบว่าแบงก์ปลอมผลิตจากรายใหญ่ๆ ยังเป็นเพียงการถ่ายเอกสาร ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ระบุว่าเป็นการผลิตจากเครื่องพิมพ์ที่ลักลอบผลิตในห้องแถวนั้น ท่านอาจจะได้รับข้อมูลมาจากส่วนหนึ่งแต่จากการสืบสวนสอบสวนก็ยังไม่พบรายใหญ่ขนาดนั้น ซึ่งตำรวจที่ลงพื้นที่จะพยายามตรวจสอบหาผู้ผลิตมาดำเนินคดีให้ได้

ทางด้าน พ.ต.ท.สุคนธ์ ศรีอรุณ รองผู้กำกับการศูนย์สืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผกก.ศส.บช.น.) กล่าวว่า การผลิตและปลอมแปลงธนบัตรใบละ 1,000 บาท ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในระยะนี้ไม่ปรากฏในพื้นที่ กทม.จะมีก็เฉพาะในต่างจังหวัดและปริมณฑล เพราะการลักลอบผลิตธนบัตรปลอมและนำธนบัตรปลอมใช้ในพื้นที่ กทม.นั้นทำได้ยาก เนื่องจากการผลิตธนบัตรปลอมต้องใช้แท่นพิมพ์ โรงพิมพ์ที่มีเครื่องพิมพ์ราคาหลายล้านบาทมักจะไม่กล้ารับงานพิมพ์แบบนี้ มันเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและไม่คุ้ม นอกเสียจากว่าการผลิตโดยใช้เครื่องพิมพ์นั้นจะเล็ดลอดออกมาได้เพราะมีการรับซื้อเครื่องพิมพ์ชนิดเก่าแก่ที่ทางโรงพิมพ์ปลดระวางไม่ใช้แล้วมาแอบลักลอบพิมพ์กันเองก็เป็นได้ อีกทั้งปัจจัยหลายๆ อย่างไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะนำไปซื้อของในห้าง หรือในร้านสะดวกซื้อ พนักงานที่รับเงินจะระมัดระวังเป็นพิเศษ มีการตรวจสอบธนบัตรที่ได้รับจากลูกค้าอย่างถี่ถ้วน และทำทุกครั้ง โดยเฉพาะธนบัตรใบละ 1,000 บาท และ 500 บาท พวกมิจฉาชีพจึงไม่กล้านำเข้ามาใช้ ส่วนใหญ่จะใช้ในต่างจังหวัดมากกว่า โดยเฉพาะนำไปใช้ซื้อของตามตลาดนัดในเวลากลางคืน และการซื้อของตามร้านโชวห่วยทั่วไป

รอง ผกก.ศส.กล่าวต่อว่า หากมีการลักลอบผลิตแบงก์ปลอมใน กทม.คงไม่รอดการจับกุมไปได้ แต่เท่าที่ตรวจสอบในข้อมูลด้านการสืบสวนขณะนี้ยังไม่มีทั้งการปลอมแปลง ที่ผ่านมาศูนย์สืบสวนฯ ทำการสืบสวนจับกุมผู้ลักลอบผลิตธนบัตรปลอมหรือทำการปลอมแปลงมาดำเนินคดีโดยตลอด เพราะถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการปลอมธนบัตรหรือปลอมแปลงเหรียญกษาปณ์ก็ตาม แต่ระยะหลังไม่ค่อยปรากฏในพื้นที่ กทม.มากนัก มีเพียงการปลอมแปลงแบงก์ดอลลาร์ และเงินสกุลต่างประเทศเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น