xs
xsm
sm
md
lg

ตอบโจทย์...“เฉลิม” เป็นนายกฯใครใหญ่?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ครอบครัว เป็ดเหลิม
ทันที...ที่สื่อหลายสำนักเปิดโผรายชื่อ “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 หลัง 3 พรรคร่วมรัฐบาลถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค เพิกถอนสิทธิ 5 ปี กรรมการบริหารพรรค นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 ต้องพ้นจากตำแหน่ง....

โดย 1 ใน 6 รายชื่อ....ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.สาธารณสุข คือ ชื่อที่หลายคนต้องร้องจ๊าก...พร้อมๆ กับได้นึกถึงเหล่าวีรกรรมที่บรรดาลูกๆ ของ สารวัตรเฉลิม ได้ก่อไว้.....

วันนี้ เวลาผ่านไป แต่สำหรับพฤติกรรมชั่วที่ได้กระทำไว้ ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของประชาชน...โดยมีหลักฐานถูกบันทึกไว้ตามแหล่งข้อมูลของสื่อต่างๆ เกือบทุกสื่อ....

และเพื่อย้ำเตือนความทรงจำ ในวีรกรรมเหล่าลูกๆ ของบุคคลที่มีชื่ออาจเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย ถือว่า น่าสนใจยิ่ง สำหรับการตัดสินใจของเหล่าผู้ทรงเกียรติในสภา...ว่าท่านจะเลือกผู้นำประเทศ มาเพื่อนำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง หรือจะเลือกผู้นำประเทศ มาเพื่อให้ประเทศลุกเป็นไฟ เพื่อนำพาผู้เป็นนาย “ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษหนีคดี กลับสู่มาตุภูมิ....

ความเดิม....เหตุการณ์ที่ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม ทั้ง 3 คน เข้าไปพัวพันในช่วงเวลา นับจากปี 2540-2544 ทำสถิติ “4 ปี-12 คดี” ซึ่งขณะนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่

1) วันที่ 12 เมษายน 2540 เวลา 02.00 น.เศษ

ร.ต.ต.วันเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) ซึ่งติดตาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ไปตรวจราชการที่ จ.ภูเก็ต และได้ไปเที่ยวเอเลี่ยนผับ กับพรรคพวกกลุ่มใหญ่ แล้วก็สร้างวีรกรรมมีเรื่องกับกลุ่มวัยรุ่นเจ้าของพื้นที่ ปรากฏว่า มีคนถูกยิง 2 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ร.ต.ต.วันเฉลิม ตกเป็นหนึ่งในจำเลยในเหตุการณ์นั้นด้วย

2) วันที่ 27 มีนาคม 2541 เวลา 01.45 น.(อีก 16 วันครบ 1 ปี)

ร.ต.ต.วันเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) กับพวก ถูกกล่าวหาว่า ก่อเหตุทะเลาะกับกลุ่มวัยรุ่นของ น.ส.กาญจนา นุ่มน้ำมูล แฟนสาวของลูกชาย นายสิทธิพร ขำอาจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และ นายวินัย หรือ ปาน แซ่ตั้ง หัวคะแนน นายสิทธิพร ที่ฟิวเจอร์ผับ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แต่เนื่องจากไม่มีพยานยืนยันว่า ร.ต.ต.วันเฉลิม ร่วมลงมือ เมื่อเดือนกันยายน 2541 อัยการก็เลยสั่งไม่ฟ้อง

3) วันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 23.00 น.(4 เดือน 4 วัน)

ร.ต.ต.วันเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) ก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกาย นายอัครเดช สุขรังสรรค์ บุตรชาย นายประสาน สุขรังสรรค์ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ในงานเลี้ยงของนายอัครเดช ที่ฉลองการจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ “ทอรัสผับ”

4) วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เวลา 01.30 น.(2 เดือน)

เป็นคิวของพี่ชายคนโต เมื่อ ร.ต.ต.อาจหาญ (ยศขณะนั้น) ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกาย น.ส.ปทิตตา พรรณโอรส นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (เอแบค) อดีตแฟนสาวที่นาซีซัสผับ

5) ย่างสู่ปี 2542

ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น)ตกเป็นผู้ต้องหาอีก โดย 2 ศรีพี่น้องก็เจอข้อหาใช้ใบเกณฑ์ทหาร หรือ ส.ด.43 ปลอม สมัครเข้ารับราชการตำรวจ ครั้นพอมาวันที่ 2 มีนาคม 2542 ทั้งสองประกาศขอลาออกจากราชการ แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 2 วัน คือ วันที่ 4 มีนาคม 2542 สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่อนุมัติให้ลาออก แต่มีคำสั่งให้ ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม ออกจากราชการแทน พร้อมกันนั้น ยังดำเนินคดีอาญา ฐานปลอมแปลงเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม คดียังคงค้างคาอยู่จนถึงทุกวันนี้

6) วันที่ 29 พฤษภาคม 2542

ร.ต.ต.วันเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) ตกเป็นผู้ต้องหาอีก คราวนี้ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย น.ส.สวิดา อึงศรีสวัสดิ์ อายุ 20 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ในงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นที่โรงแรมรอยัลการ์เด้นท์ซีวิว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ท้องที่ สภ.อ.บางละมุง

7) วันที่ 11 กรกฎาคม 2542 เวลา 01.30 น.(1 เดือน 13 วัน )

กลุ่มของลูกของ ร.ต.อ.เฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) ก่อเหตุอีก คราวนี้ไปทะเลาะวิวาทกันในผับ “เรดบาร์” ย่านอาร์ซีเอ เขตห้วยขวาง กทม.คราวนี้ฉาวโฉ่ขึ้นเป็นสองเท่า เพราะเมื่อนักข่าวและช่างภาพไทยรัฐไปทำข่าว ร.ต.ต.วันเฉลิม กับพรรคพวกได้พากันยื้อแย่งเอากล้องและฟิล์มไป รวมทั้งแสดงอาการคุกคามด้วยการทุบรถของนักข่าวด้วย เลยถูกกองบรรณาธิการไทยรัฐแจ้งความดำเนินคดี ขณะที่สมาคมนักข่าวฯออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมดังกล่าว แต่ที่สุด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้พ่อ ต้องแสดงบททำเพื่อลูกด้วยการรุดไปขอขมานักข่าวและช่างภาพถึงโรงพิมพ์ไทยรัฐ และขอไม่ให้เอาความ

8) วันที่ 26 กรกฎาคม 2542 (15 วัน )

ถึงคิวน้องคนสุดท้อง นายดวงเฉลิม (ชื่อขณะนั้น) ที่ขณะนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ พาพวกไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มนักเที่ยว ที่หน้า “สปาร์คผับ” ชั้นใต้ดิน โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาฯ มีการยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด แต่โชคดีไม่มีพยานใดกล้ายืนยันหรือมาให้ปากคำซัดทอดถึง นายดวงเฉลิม เลยรอดตัวไป

9) วันที่ 26 กันยายน 2542 เวลา 03.15 น.(2 เดือน เป๊ะ)

นายดวงเฉลิม (ชื่อขณะนั้น) ก่อเรื่องอีก คราวนี้ควบรถเก๋งกับเพื่อน 4-5 คน ไปกดออดที่บ้านของ น.ส.ภัทรวลัย อนันตศิริภัทร อายุ 21 ปี เพื่อนสาวที่ซอยศูนย์วิจัย 4 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ ห้วยขวาง เพื่อขอพบ น.ส.ภัทรวลัย ซึ่งเคยสนิทสนมกันมาก่อน แต่ปรากฏว่า น.ส.ภัทรวลัย ไม่อยู่บ้าน นายดวงเฉลิม เข้าใจว่า สาวเจ้าหลบหน้า เลยอาละวาดกวาดกระถางต้นไม้วางอยู่ริมรั้วตกแตกเสียหาย แม่ของฝ่ายหญิงต้องโทรศัพท์แจ้งตำรวจ เพราะกลัว นายดวงเฉลิม จะทำอะไรมากกว่านั้น ร้อนถึงผู้เป็นพ่อ ร.ต.อ.เฉลิม อีกตามเคย ต้องโทรศัพท์มาเคลียร์ขอไม่ให้เอาเรื่องเด็ก

10) ย่างสู่ปี 2543 วันที่ 26 มกราคม 2543 (4 เดือน เป๊ะ)

ร.ต.ต.วันเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) กับพวกก่อเหตุอีก ด้วยการไปรุมทำร้าย นายเสริมชัย วัฒนเสนีย์ธรรม ลูกชายเจ้าของโรงแรมเรสซิเดนท์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ เหตุเกิดที่ “บริท 99 คลับ” ภายในสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จนบาดเจ็บสาหัส หลังจากเขม่นกันเรื่องสาว หลังเกิดเหตุคราวนั้น ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า ต่อไปนี้จะสั่งห้ามลูกชายเที่ยวผับ และมีเรื่องอีกเด็ดขาด เพราะลูกชายทั้ง 2 คน จะเตรียมตัวลงสมัคร ส.ส.มีเรื่องอื้อฉาวอะไรเกิดขึ้นอีกเดี๋ยวประชาชนจะไม่ยอมรับ สุดท้ายคดีศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 เนื่องจากหลักฐานฝ่ายโจทก์อ่อน หลังจากนั้นมา เรื่องของลูกชายเลยซาๆ ลงไป เนื่องจาก ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม สร้างภาพใหม่ด้วยการลงพื้นที่หาเสียงในเขตฝั่งธนฯ อย่างไรก็ตาม แต่กลับปรากฏว่า เกิดข่าวลือที่แพร่ไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ว่า ลูกชายของ ร.ต.อ.เฉลิมต้องเดินทางไกลเพื่อไปคุมประพฤติอย่างกะทันหัน เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ที่สนุกสนานที่สุดในปีนี้ แม้ ร.ต.อ.เฉลิม จะออกมาชี้แจงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า ไม่จริงว่าที่ลูกชายหายไป เพราะ 2 คนแรก คือ ร.ต.ต.อาจหาญ และ ร.ต.ต.วันเฉลิม กำลังเก็บตัวเพื่อลง ส.ส. ขณะที่นายดวงเฉลิมอยู่ระหว่างการเรียนปริญญาโทอย่างคร่ำเคร่ง กระนั้นก็ดูเหมือนจะไม่สามารถขจัด “ข่าวลือ” ที่ว่านั้นไปได้

11) จนเมื่อ 12 ตุลาคม 2543 ( 8 เดือน 17 วัน )

นายดวงเฉลิม(ชื่อขณะนั้น)ก็ก่อเหตุทะเลาะวิวาทอีกครั้งกับนักศึกษาเอแบค ที่ “คาเฟ่เรคคอร์ด” ซึ่งคราวนี้ดูจะอื้อฉาวกว่าทุกครั้ง เพราะผู้เป็นพ่อกระโดดเข้าร่วมวงถล่มตำรวจ ด้วยการยืนด่ากราดตำรวจ สน.ทองหล่อ และนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ด้วยใบหน้าแดงก่ำ เป็นการร่วมวงด้วยอาการ “เบรกแตก” เลยพลอยตกเป็นจำเลยไปกับลูก ฐานหมิ่นประมาทตำรวจ และเป็นจำเลยสังคมฐานเกรี้ยวกราด หยาบคายเกินเหตุ ช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี 2544 ไม่มีข่าวฉาวของบรรดาบุตรชายสุดที่รักของ ร.ต.อ.เฉลิม เลย เพราะ ร.ต.ต.อาจหาญ กับ ร.ต.ต.วันเฉลิม ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หลังการเลือกตั้งแม้ทั้งสองจะไม่ได้รับเลือก แต่ ร.ต.ต.วันเฉลิม ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา นายบุญชง วีสมหมาย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ในเดือนเมษายน ส่วนนายดวงเฉลิม ได้บวชเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2544 โดยมี “ลุงจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สะพายบาตรนำส่งเข้าโบสถ์ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน พล.อ.ชวลิต ก็ได้ลงนามอนุมัติให้นายดวงเฉลิมเข้าเป็นนายทหารสังกัดสำนักงานเลขานุการ รมว.กลาโหม ของ พล.ต.ศรชัย มนตริวัต เลขานุการ รมว.กลาโหม และในวันที่ 8 มิถุนายน ก็ได้รับการประดับยศ “ร้อยตรี” จากมือของ พล.อ.ชวลิต ร.ต.ดวงเฉลิม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544 หลังจากที่ได้ทำงานในกระทรวงกลาโหม ว่า เดี๋ยวนี้กลางคืนไม่ได้ไปเที่ยวไหนแล้ว ประมาณสี่ทุ่มต้องเข้านอน ไม่อย่างนั้นจะตื่นไปทำงานเช้าไม่ไหว

12) วันที่ 29 ตุลาคม 2544 เวลา 01.30 น.(1 ปี 17 วัน )

ร.ต.ดวงเฉลิม (ยศและชื่อขณะนั้น) ก่อเหตุยิง ด.ต.สุวิชัย รอดวิมุติ ตำรวจกองปราบปราม ตายใน “ทเวนตี้ผับ” โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก และถูกออกหมายจับในวันเดียวกัน เป็นคดีล่าสุดที่ถือว่า “ร้ายแรง” ที่สุดนับตั้งแต่ 3 ศรีพี่น้องตระกูล “อยู่บำรุง” ก่อขึ้นมา

ในวันนี้.. คงต้องไถ่ถามกันอีกครั้งว่า คนในสังคมบ้านเมืองนี้มีความคิดเห็นอย่างไร ในพฤติกรรมตระกูลดังกล่าวที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้สร้างวีรกรรมต่างๆ ให้สังคมได้ปวดเศียรเวียนเกล้ามาโดยตลอด..

และหากโชคร้ายสุดๆ ของประเทศไทย“ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง”ได้นั่งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 บ้านเมืองจะวุ่นวายขนาดไหน ...บรรดาลูกๆ จะทำตัวอย่างไร หวังว่า ประชาชนคนทั้งประเทศ..น่าจะมองออก...

ผลกรรมที่ชั่วช้า ทำไป
ยังไม่ส่งผลใด แก่เจ้า
เหิมเกริมไป่กลัวภัย มาสู่ ตนนา
ตราบเมื่อบาปถึงเข้า จึ่งรู้ รสกรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น