xs
xsm
sm
md
lg

สตช.แจ้งจับบริษัทฮั้วประมูลจัดซื้อ จยย.สายตรวจ 1.2 พันล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งกองปราบปรามจับกุมบริษัทที่ชนะการประมูลจัดซื้อรถ จยย.มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ให้กับตำรวจ แต่ตรวจสอบแล้วได้ชัยชนะมาจากการฮั้วประมูล

วันนี้ (28 พ.ย.) ที่กองปราบปราม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.วารินทร์ แก้วชมภู ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร.ผู้รับมอบอำนาจจากสำนักงาน ผบ.ตร.เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ป.ให้ดำเนินคดีต่อบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด ในข้อหาฉ้อโกง หลังพบว่าบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจ ขนาด 200 ซีซี จำนวน 19,147 คัน พร้อมอุปกรณ์ ในราคากลางคันละ 65,000 บาท งบประมาณ 1,244,555,000 ล้านบาท เมื่อปี 2550 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่อเค้าไม่โปร่งใส

โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นนายตำรวจระดับสูงเพื่อตรวจสอบโครงการจัดหารถจักรยานยนต์สายตรวจ พบว่ามีความไม่โปร่งใสในการเปิดซองประมูล และมีผู้กระทำผิดหลายส่วน ซึ่งในส่วนของข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องได้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการแล้ว

ส่วนกรณีของบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลนั้น มีความผิดในฐานะนิติบุคคลผู้มีส่วนในการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการแจ้งเอกสารอันเป็นเท็จหรือใบประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้กับเจ้าหน้าที่ประมูล จึงจำเป็นต้องแยกออกมาดำเนินคดีอีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวน บก.ป.จะเรียกผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคำให้การก่อนหน้านี้ที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งขึ้น โดยทางพนักงานสอบสวน บก.ป.จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำและพิจารณาดำเนินคดีต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบพิรุธในโครงการจัดซื้อรถจักรยาน ยนต์สายตรวจในวงเงินงบประมาณ 1.2 พันล้านบาท เมื่อปี 2550 เพื่อแจกจ่ายให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ รวม 1,447 สถานี ซึ่งพบพิรุธหลายประการของโครงการดังกล่าว เช่น บริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาในการประมูล โดยมีบริษัท ไทเกอร์ มอเตอร์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย มีศูนย์บริการและซ่อมบำรุงไม่ครบ 76 จังหวัด ตามเงื่อนไขการประมูล การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการหลอกลวงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งเรื่องการกำหนดเสป็คขนาดเครื่องยนต์ต้อง 200 ซีซี เท่านั้น ซึ่งบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดซีซี ดังกล่าวนั้น มีเพียง ยี่ห้อไทเกอร์และฮอนด้า เท่านั้น ส่วนเจ้าอื่นไม่มีการผลิตออกจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทดังกล่าว 15 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับรถจักรยานยนต์ครบจำนวน อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังให้เวลาบริษัทดังกล่าวมอบรถถึง 655 วัน ซึ่งล่าช้าเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น