xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาติ” ตบหน้าประชาชน! จ่อขึ้นเงินเดือนตำรวจ 7 ตุลาเลือด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


จากผลการแถลงนโยบายของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาภายใต้การคุมทัพของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.บุคคลที่นั่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์วันนองเลือด 7 ตุลาคม 2551 ถือว่า สวนทางกับผลงานอย่างสิ้นเชิง

เริ่มจาก งานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของประชาชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยุคนี้ ถือว่า มีผลงานอันย่ำแย่ และสุดห่วย โดยที่ตำรวจอ้างอยู่เสมอว่า กำลังตำรวจนครบาล มีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องจัดกำลังไปดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเมื่อดูจากจากสถิติอาชญากรรม เฉพาะเดือนตุลาคม ที่ พล.ต.ท.สุชาติ เข้ามารับตำแหน่ง นั้น คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ รับแจ้ง 77 คดี จับกุมได้เพียง 25 คดี มีผู้ต้องหา 32 คน ส่วนคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ รับแจ้ง 442 คดี จับกุมได้ 154 คดี ผู้ต้องหา 187 คน ถัดมาเป็นคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ทั้งลัก วิ่ง ชิง ปล้น นั้นถือว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำโดยตรง แม้มีการรับแจ้งสูงถึง 1,786 คดี จับกุมได้เพียง 370 คดี ผู้ต้องหาเพียง 436 คนเท่านั้น ส่วนปัญหาการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รับแจ้ง 1,336 คดี จับกุมได้แค่ 107 คดี ผู้ต้องหา 150 คน แล้วอย่างนี้ประชาชนตาดำๆ จะฝากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกับตำรวจได้มากแค่ไหนกันล่ะเนี่ย...

ผลงานการ อำนวยความยุติธรรม ที่ พล.ต.ท.สุชาติ เน้นงานด้านสอบสวนคดีอาญาในระดับโรงพัก ถือว่า ทำผลงานเอาใจรัฐบาลระบอบทักษิณ อย่างโจ่งแจ้ง ขณะที่ คดีความของฝ่ายตรงข้าม กับเร่งรัดดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม


โดยคดีที่เห็นภาพได้ชัดเจนว่า พนักงานสอบสวนไม่มีความยุติธรรม คือ คดีที่ออกหมาจับ 9 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายเทิดภูมิ ใจดี โดยที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ในลักษณะเอาใจฝ่ายการเมืองยังจัดเจน ด้วย ความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114, 116 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216

คดีนี้ ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเพิกถอนหมายจับข้อหากบฏ โดยศาลให้เหตุผลว่า แม้การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย และพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งเก้า กระทำผิดฐานเป็นกบฏ แต่ยังไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดดังกล่าวเพราะเป็นการตั้งข้ออกล่าวหาที่ค่อนข้างจะเลื่อนลอย ส่วนข้อหาที่เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม มาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก อันเป็นความผิดตาม มาตรา 216 ตามที่พนักงานสอบสวน ผู้ร้องประสงค์ให้ออกหมายจับนั้นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง

จากคำร้องขอออกหมายจับว่า มีเจ้าพนักงานผู้ใดสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งเก้าเลิกกระทำความผิดดังกล่าวตามมาตรา 215 แล้วผู้ต้องหาทั้งเก้าแล้วไม่เลิก จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดมาตรา 216 เช่นเดียวกัน และเมื่อไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดฐานเป็นกบฏแล้ว จึงไม่สมควรออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในข้อหาสะสมกำลังพล หรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีดังกล่าวยังมีอีกหลายคดีที่แกนนำพันธมิตร ถูกตำรวจสอบสวนเอาผิดอย่างไม่เห็นธรรม ขณะที่คดีฝ่ายระบอบทักษิณ ถือว่า การปฏิบัติงานสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ คดี นายวีระ มุสิกพงศ์ กรณีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาถึงวันนี้ นายวีระยังใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย โดยที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยังให้โอกาสนายวีระในการยื่นสอบพยานเพิ่ม โดยไม่มีกำหนดว่าจะทำคดีเสร็จในวันใด

คดี นายสุชาติ นาคบางไทร แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีกล่าวปราศรัยที่เวที นปช.ท้องสนามหลวง เมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง โดยล่าสุด นายสุชาติ ได้หลบหนีหมายจับ มาวันนี้ตำรวจยังไม่สามารถติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้

นอกจากนั้น ในส่วนของการสอบสวนผู้ต้องหาคดีสินบน 2 ล้านบาท ที่ 3 ทนายถูกศาลฎีกาลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นายพิชิฏ ชื่นบาน อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ อดีตเสมียนทนายความ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี ญาติสนิทคุณหญิงพจมาน ข้อหาสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานนั้นว่า พนักงานสอบสวนทำคดีอย่างล่าช้า ให้โอกาสผู้ต้องยื้อคดีอย่างเต็มที่ สุดท้าย ก็ออกมาว่า ไม่มีไอ้โม่งตัวบงการติดสินบนศาล

ด้านการบริการประชาชน ลดอุบัติภัย และความเสียหายจากอุบัติเหตุการจราจร กวดขันและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีวินัยการจราจร ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์โทรไม่ขับ ที่กฎหมายออกมาบังคับใช้ เหมือนจะดีในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็ยังฝ่าฝืนกันเหมือนเดิม หรือการรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายจราจร ในทุกเทศกาล ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งพบเห็นจนชินตาคือการตั้งด่านตรวจ ไม่รู้ว่าเป็นการตรวจเพื่อกวดขันวินัยจราจร หรือว่าเป็นการหาเงินทางอ้อมทำยอดจากใบสั่งกันแน่

ด้านการรักษาความมั่นคงของชาติและกิจการพิเศษ นโยบายด้านนี้ของ พล.ต.ท.สุชาติ ถือว่า ได้สนองรัฐบาล มากกว่า รับใช้ประชาชน โดยมีผลงานที่แสดงเห็นชัดเจน กรณีภาพความรุนแรงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มี พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมาที่ยังคงฝังลึกในจิตใจของประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยว่า เหตุใดตำรวจผู้ถือกฎหมายกล้าทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ และใครคือผู้สั่งการให้เข่นฆ่าประชาชน

โดยวันนี้ เหตุการณ์อันป่าเถื่อน 7 ตุลาเลือด ได้ผ่านไป 35 วันแล้ว ที่ตำรวจระดมยิงใส่ประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพียงเพราะหวังแค่เปิดทางให้เหล่านักการเมืองเดินเข้าสภาเพื่อแถลงนโยบาย โดยผลแห่งความเสียหาย ศูนย์นเรนทร ได้สรุปผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้รวม 443 ราย โดยจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ น้องโบว์ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และสารวัตรจ๊าบ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ซึ่งผู้บาดเจ็บทุกคนอาการอยู่ในขั้นปลอดภัย แม้บางคนจะขาขาด เท้าขาด หรือมือขาด

หลังเกิดเหตุต่างฝ่ายต่างปัดความรับผิดชอบกันจ้าละหวั่น ฝ่ายตำรวจออกมาตะแบงเสียงหนักแน่นว่า แก๊สน้ำตาที่ใช้ก่อเหตุนั้น ฆ่าคนไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลเลือด โดยนายกมือเปื้อนเลือดยังตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ตุลาคมขึ้นมา แม้จะผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครคือผู้รับผิดชอบ

ปิดท้ายที่ นโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดี ทั้งด้านจิตใจ สติปัญญา และสุขภาพ ซึ่งนโยบายข้อนี้ พล.ต.ท.สุชาติ เตรียมขึ้นเงินเดือนตำรวจฆ่าประชาชน โดยที่ พล.ต.ท.สุชาติ พูดว่า สถานการณ์ขณะนี้ ตำรวจต้องคอยสลับเปลี่ยนกำลังไปดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ก็กำชับให้เจ้าหน้าที่สายตรวจ ตั้งด่านจุดตรวจเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสถิติและผลการจับกุม ในส่วนของนครบาล ถือว่าสอบผ่าน แต่ส่วนนี้ก็จำเป็นต้องดูแลขวัญกำลังใจตำรวจนครบาล ต้องให้กำลังใจกันอย่างเต็มที่ ซึ่งได้พูดไว้ในที่ประชุมไว้แล้วสำหรับตำรวจที่เข้าไปทำงานในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้ส่งรายชื่อมาเพื่อพิจารณาขั้นเงินเดือน

ซึ่ง พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ต่อไปนี้ตำรวจนครบาลทำงานต้องมีเงินไปดูแล แต่หากมีเงินเข้าไปแล้วผลงานไม่ออกมา ก็จะพิจารณากันไป ส่วนนโยบายเร่งด่วน คือจะให้พัฒนาสถานีตำรวจ อำนวยความยุติธรรมด้านการสอบสวน ด้วยจิตบริการ กระทำตนเป็นตำรวจอาชีพ ด้วยจิตอาสา กายปฏิบัติ ต้องเป็น “สุภาพบุรุษตำรวจนครบาล”เน้นการปราบปรามยาเสพติด จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และได้ย้ำกับตำรวจให้ประชาชนเป็นตำรวจคนแรก คอยสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตา ส่วนตำรวจจะเป็นตำรวจคนที่สอง จะคอยบังคับใช้กฎหมายดูแลความปลอดภัยอีกระดับหนึ่ง

สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่จับต้องได้ ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายที่สวยหรู ที่หวังเพียงตัวเลขทางสถิติเท่านั้น แต่หากในทางปฏิบัติจริงตรงกันข้าม แล้วอย่างนี้ประชาชนจะหวังพึ่งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เหล่านี้ได้อย่างไร ?






กำลังโหลดความคิดเห็น