ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ จำคุก 3 ปี “ ปราโมทย์ รักษาราษฎร์” อดีตรอง ปลัด ก.เกษตร ฯ ทุจริตรับเงินบริษัทรับเหมาประมูลก่อสร้างโรงเรือนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จ.ตรัง ชี้ พยานโจทก์ ระบุชัดเส้นทางการเงินสั่งจ่ายค่าก่อสร้างผ่านบัญชีจำเลยกว่าสิบล้านบาท ญาติหอบหลักทรัพย์กว่า 1.4 ล้านยื่นประกัน ศาลตีราคาปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา 1 ล้าน
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อายุ 64 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนมีหน้าที่จัดการดู และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157
ฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 20 ม.ค.47 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2539 จำเลยเป็นผู้เสนอโครงการก่อสร้างโรงเรือนอนุบาลผลิตแม่พันธุ์และสาธิตการผลิตพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงที่ 8 จังหวัดตรัง โดยอ้างถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องจ้างเหมาก่อสร้าง ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรได้อนุมัติให้ดำเนินการและแต่งตั้งจำเลยเป็นประธานคณะกรรมการตรวจการว่าจ้างและเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดราคากลางจ้างเหมาก่อสร้าง โดยการประกวดราคาค่าจ้างเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว มีบริษัทเข้ายื่นซองประกวดราคา 3 บริษัท คือ บริษัท สหธนาสิน จำกัด , บริษัท ยูบิคิว จำกัด และบริษัท โกลบอลเทค จำกัด ซึ่งต่อมาวันที่ 27 ก.ย.39 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำสัญญาจ้างให้ บจก.โกลบอลเทค ผู้ชนะประมูลก่อสร้างในวงเงิน 49,200,000 บาท ซึ่งระหว่างเดือน ส.ค.39- ธ.ค.40 วันเวลาใดไม่ปรากฎชัด จำเลยได้เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการที่ บจก. ยูบิคิว ซื้อแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ( มหาชน) สาขาแคลาย มูลค่า 16,200,000 บาท ฝากเข้าในบัญชีเดินสะพัดธนาคารไทยพาณิชย์ของจำเลย นอกจากนี้ บจก. โกลบอลเทค ยังโอนเงินเข้าบัญชีเดียวกันให้จำเลยด้วยจำนวน 5 ครั้ง และโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยอีก 6 ครั้ง เป็นเงินหลายสิบล้านบาท การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิด ป.อาญา มาตรา 152 และ 157 ซึ่งปี 2545 คณะกรรมการป.ป.ช.ลงมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลว่าจำเลยมีความผิดทางอาญา
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พ.ย.47 เห็นว่าพยานที่โจทก์นำสืบแสดงให้เห็นเพียงกระแสเงินที่เข้าออกผ่านจากบัญชีของบริษัท ยูบิคิว เข้าบัญชีของจำเลย แต่ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นข้อพิรุธว่าจำเลยได้รับเงินหรือประโยชน์จากบริษัทอย่างไร จึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ฝ่ายโจทก์ มีนายมนต์ชัย รัตนเสถียร ผู้บริหารฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เบิกความว่า ได้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวทางบัญชี ที่กรมส่งเสริมการเกษตร จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้กับ บจก.โกลบอลเทค ซึ่งได้รับการประมูล พบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย ผ่านบัญชี นางศิริ บริบูรณ์ หลายครั้งหลายหน จำนวนเงินหลายสิบล้านบาท จึงถือว่าจำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการของกรมส่งเสริมการเกษตร มีพฤติการณ์เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น พยานหลักฐานจำเลยยังไม่พอฟังที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรัฐจึงเป็นการกระทำโดยมิชอบตาม ป.อาญามาตรา 152 และ 157 ที่ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ โดยจำเลยกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา152 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก 3 ปี
ต่อมาญาตินายปราโมทย์ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่กิน ย่าน อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 3 ไร่ ราคาประเมิน 1,419,000 บาท พร้อมเงินสดอีก 10,000 บาทขอประกันตัวระหว่างฎีกา ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท