ศาลอาญาสั่งจำคุก " เกริกเกียรติ" ยักยอกทรัพย์บีบีซี รวม 35 ปี แต่รวมโทษหนักสุดเหลือจำคุกสูงสุดแค่ 20 ปี ปรับกว่า 4,950 ล้านบาท สั่ง “ เกริกเกียรติ ” ร่วมบริษัท ซัพพอร์ท ซิสเต้มส์ ที่ร่วมกระทำผิดอนุมัติสินเชื่อฝ่าฝืน คำสั่ง ธปท. ให้คืนเงินบีบีซี อีก 2,475 ล้านบาทเศษ
วันนี้ (3 ก.ย.)ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด ( มหาชน ) หรือบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี , นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี , บริษัท ซัพพอร์ต ซิสเต้มส์ จำกัด โดยนายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้มีอำนาจ ซึ่งอดีตเป็น รอง ผอ.สำนักงานกรรมการการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี และนายรังสรรค์ ปิยะวงศ์ภิญโญ กรรมการบริษัทในเครือข่ายของนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษานายเกริกเกียรติ กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 , ผู้ใดรับมอบทรัพย์สินให้จัดการทรัพย์สิน กระทำผิดหน้าที่ของตนเองโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย มาตรา 353 , กระทำผิดในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307 , 308 , 309 , 311 และ 313 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตร า 83 , 86
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ แล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็น กก.ผจก.ใหญ่ ตั้งแต่ ปี 2531 เป็นต้นไป โดยเมื่อปี 2538 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งนายราเกซ สักเสนา เป็นที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 3 โดยโจทก์ มีเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เบิกความว่า ธปท. ได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบการอนุมัติสินเชื่อของบีบีซี หลังจากที่ ธปท. มีคำสั่งกำหนดว่าการอนุมัติสินเชื่อเกินวงเงิน 30 ล้านบาท ต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการบริหาร หรือกรรมการสินเชื่อ เพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับบีบีซี โจทก์ร่วม 2 ครั้งที่มีการลงชื่อนายราเกซ ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ขอวงเงินกู้สินเชื่อเกินบัญชี ซึ่งระหว่างปี 2538 – 2539 จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ใช้บัตรผ่านรายการ
( บัตรอิเล็กทรอนิกส์ )ในการอนุมัติสินเชื่อให้กว่า 2,000 ล้านบาทเศษ ทั้งที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำสัญญาใด ๆ โดยจำเลยที่ 3 นำเงินไปชำระหนี้แทนบริษัทในเครือข่ายของนายราเกซ ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน บีบีซี โจทก์ร่วม หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังอนุมัติการต่อเวลาการชำระหนี้สินเชื่อให้จำเลยที่ 3 ต่ออีก 6 เดือนและยังขยายวงเงินสินเชื่อให้อีก 380 ล้านบาทเศษ รวมทั้งอนุมัติเงินกู้ระยะสั้นอีกกว่าร้อยล้านบาท
ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่าแม้ เป็นผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี เมื่อปี 2533 ดูแลด้านสินเชื่อ และบัญชี แต่ระหว่างเกิดเหตุที่มีการใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อนั้น จำเลยที่ 1 แต่งตั้งผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ ไว้ถึง 5 คน แต่ไม่มีชื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปมีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่พบว่าบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 2 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ( บอร์ด) บีบีซี รับทราบเรื่องคำสั่งยกเลิกบัตรแล้ว กรณีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ความการขอวงเงินสินเชื่อ ไม่ได้ทำสัญญาใด ๆ ขณะที่หลักทรัพย์มีราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริง แต่ก็มีมูลค่าที่ต่ำกว่ายอดเงินกู้หลายเท่าตัวด้วย อีกทั้งในการขอสินเชื่อไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 นำไปใช้ในโครงการใด เพียงแต่ได้ความว่านำไปชำระหนี้แทนบริษัทในเครือนายราเกซ ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบีบีซี โจทก์ร่วม โดยจ่ายให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทในเครือข่ายนายราเกซ 4 แห่ง อันเป็นพฤติการณ์อัฐยายซื้อขนมยาย และพฤติการณ์ชัดแจ้งว่าเมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อแล้ว จำเลยที่ 3 นำไปชำระหนี้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนบีบีซี โดยจำเลยที่ 3 ไม่มีรายได้อื่น มูลค่าหนี้ของจำเลยที่ 3 นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่แก่ใจแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ที่ประชุมบอร์ด บีบีซี มีมติมอบหมายให้จำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อวงเงินเกิน 30 ล้านบาทได้นั้น โจทก์มีกรรมการบีบีซี เบิกความว่า ในการประชุมจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งคำสั่งให้บอร์ดทราบเรื่องคำสั่ง ธปท. ที่กำหนดให้การอนุมัติสินเชื่อวงเงินเกิน 30 ล้านบาทต้องผ่านการกลั่นกรองกรรมการบริหาร หรือ กรรมการสินเชื่อ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าขณะเกิดเหตุมีผู้ขออนุมัติสินเชื่อเกิน 30 ล้านบาทหลายราย ขณะที่การประชุมบอร์ดมีเพียงเดือนละ 1 ครั้งนั้นจึงไม่ตอบสนองความต้องการที่จะอนุมัติสินเชื่อนั้น ศาลเห็นว่า คำสั่ง ธปท. ที่ออกมาเพื่อให้มีกลั่นกรองเพื่อใช้ความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ
จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดรวม 6 กระทงให้จำคุกเป็นเวลา 35 ปี ซึ่งการกระทำผิดของจำเลย มีบทลงโทษหนักสุดไม่เกิน 10 ปี ซึ่งให้จำคุกสูงสุดได้ 20 ปี ดังนั้นจึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี และปรับเป็นเงิน 4,950,507,947.86 บาท โดยให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญายักยอกทรัพย์บีบีซี ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาเมื่อปี 2548 แล้วรวม 3 คดี และคดีอาญายักยอกทรัพย์บีบีซี ที่ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อปี 2548 และ ปี 2550 แล้วรวม 3 คดี
ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 3 และ 4 เป็นผู้ร่วมกระทำผิด ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลจึงสั่งปรับเป็นเงิน 6 ล้านบาท จำเลยที่ 4 นั้นให้จำคุก 4 กระทง ๆ ละ 3 รวม 12 ปี แต่เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 9 ปี โดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินให้ บีบีซี รวม 2,475,253,993.93 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้วนายเกริกเกียรติ ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน ราคาประเมินกว่า 4 ล้านบาทเพื่อขอประกันตัว ขณะที่นายผดุง จันทะโร ทนายความนายเกริกเกียรติ เปิดเผยว่า จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามภายหลังศาลพิเคราะห์คำร้องขอประกันตัวแล้วเห็นควรให้ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดียักยอกทรัพย์บีบีซีนั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้จำคุกนายเกริกเกียรติ รวม 3 สำนวนเป็นเวลา 30 ปี โดยให้ปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 3,208,331,600 บาท ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องนายเกริกเกียรติและนายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กก.ผู้จัดการใหญ่ 1คดีในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายเดิมที่บีบีซีเคยอนุมัติวงเงินไปแล้ว ที่ส่งผล ธ.บีบีซีได้รับความเสียหายเป็นกว่า 9,000 ล้านบาท
ส่วนคดีที่ศาลอาญา มีคำพิพากษาให้จำคุกนายเกริกเกียรติอีก 3 สำนวน เป็นเวลา 60 ปี ปรับเป็นเงินจำนวน 472,122,946.02 เหรียญสหรัฐและให้ปรับเป็นเงินจำนวน 1,157,244,186.28 บาท รวมทั้งให้คืนเงิน ธ.บีบีซี อีก รวมจำนวน 767,378,376.04 บาทซึ่งรวมโทษจำคุกนายเกริกเกียรติทั้ง 6 สำนวนแล้วนับเป็นเวลาทั้งสิ้น 90 ปี ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์