xs
xsm
sm
md
lg

“สภาทนาย” หนุน “ผบ.ทบ.” ไม่ใช้กำลังยุติความรุนแรง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
“สภาทนาย” สนับสนุน ผบ.ทบ.ไม่ใช้กำลังยุติความรุนแรง เรียกร้อง นายกฯ-ขรก.ยึดหลักประมวลจริยธรรม ขรก.ปี 51 ยุติการใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันนี้ (5 ก.ย.) ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์สภาทนายความ เรื่อง การดำเนินการของรัฐบาลต่อข้ออ้างเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่า เมื่อขณะนี้ศาลปกครองสูงสุด ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 16 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่อาจเข้าใจได้ว่า คดีที่ฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง อันเป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จึงมีปัญหาว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 223 และมาตรา 40 ศาลปกครองสูงสุดจึงส่งเรื่องพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ตามนัยมาตรา 211 วรรคหนึ่ง ของ รธน.สภาทนายความ ในฐานะองค์กรวิชาชีพซึ่งมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 81(1) ตาม รธน.ขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้ชอบด้วยหลักนิติธรรมดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องงดการดำเนินการอย่างใดๆ หรือการใช้มาตรการใดๆ ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ไว้ชั่วคราวโดยทันที จนกว่าจะมีความชัดเจนของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยเรื่องการใช้อำนาจของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.บริหารราชการฯ

2.รัฐบาลต้องเคารพกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยได้รับรองและให้สัตยาบันไว้ และต้องมีการปฏิบัติและการใช้อำนาจของรัฐต้องเป็นไปโดยถูกต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

3.สภาทนายความขอสนับสนุนจุดยืนของผู้บัญชาการทหารบกและกองทัพบกที่จะไม่ใช้กำลังหรือการดำเนินการโดยวิธีรุนแรงอย่างใดต่อประชาชนที่ต่อต้านนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลที่เห็นว่าไม่สุจริต ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม

4.ให้นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นต้นแบบแห่งการประพฤติปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ที่ได้ออกประกาศไว้ โดยเฉพาะในข้อ 21 ของประมวลจริยธรรม ที่ระบุว่า ข้าราชการการเมืองต้องเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้อำนาจในทางที่ผิด การฉ้อฉล หลอกลวง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้ราชการเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

5.รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ให้ข่าวใดๆ ที่เป็นการยั่วยุและทำให้เกิดความแตกแยก โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมในการใช้ สถานการณ์ฉุกเฉินว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองต้องเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่แสดงการอาฆาตมาดร้าย และต้องมีอุดมการณ์ทำงานเพื่อประเทศชาติ ถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด และต้องรับใช้ประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เลือกปฏิบัติและปราศจากอคติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ข้อ 11-13

6.สภาทนายความขอให้ยุติการกล่าวอ้าง เกี่ยวกับการใช้สิทธิทางการเมืองว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเพื่อออกกฎหมายฉบับใดหรือเพื่ออนุมัติสิ่งใด

7.ให้นักการเมืองเข้าใจว่าความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์ และชาติ เป็นหัวใจสำคัญที่นักการเมืองผู้อาสาเข้ามาเป็นผู้บริหารดังนั้นหากการได้มาซึ่งสิทธิของตนไม่สุจริตตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ทุกอย่างที่ทำภายใต้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น