xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับ 9 กบฏพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ศาลยกคำร้องทนายพันธมิตรฯ ที่ยื่นให้เพิกถอนหมายจับ 5 แกนนำพันธมิตรฯ 1 ผู้ประสานงาน และ 3 แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในข้อหากบฏ โดยศาลระบุการออกหมายจับชอบด้วยกฏหมาย และการเพิกถอนเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ออกหมายจับเท่านั้น


วันนี้ (2 ก.ย.51)ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 14.00 น. องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งที่ 9 พันธมิตรยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุมัติออกหมายจับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตรฯ ผู้ต้องหาที่ 1-9 ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ในความผิดข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำผิดฐานเป็นกบฏต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113,สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114, ผู้ใดกระทำการเพื่อให้เกิดการปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 216 และ 215

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 68 บัญญัติว่า หมายจับให้ใช้อยู่ไปจนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความ หรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อำนาจในการเพิกถอนหมายจับนั้น เป็นอำนาจพิจารณาของศาลที่ออกหมายจับ ซึ่งคดีนี้หมายถึงศาลอาญาเท่านั้นที่จะมีอำนาจในการเพิกถอนหมายจับดังกล่าวได้ นอกจากนี้ในการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจพนักงานสอบสวนขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีอาญานั้นได้ โดยให้ศาลใช้ดุลพินิจการออกหมายจับตามบทบัญญัติของกฎหมายและการขอออกหมายจับเป็นคำร้องฝ่ายเดียวของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21(3)ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 กรณีจึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวน เมื่อศาลได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนคำร้องของผู้ร้องโดยชอบไม่ผิดระเบียบใดและศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว นอกจากนั้นหลังจากศาลออกหมายจับแล้วผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับ ซึ่งศาลอาญาได้พิจารณาและสั่งคำร้องดังกล่าวไปแล้วว่าไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งออกหมายจับดังกล่าว โดยกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้สิทธิกับพนักงานสอบสวนหรือผู้ต้องหาที่จะอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวได้ ตามนัยคำสั่งอุทธรณ์ที่ 2912/2550 ระหว่างนายพรชัย อัศววัฒนาพร( พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ) ผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้ถูกออกหมายจับทั้งสอง (ซึ่งกระทำความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535) และเทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา (ประชุมใหญ่)ที่ 1125/2496 ระหว่างพนักงานอัยการปากพนัง โจทก์ นายลาภ ชนะพงษ์ จำเลย ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ต้องหา

ภายหลัง นายณรัช อิ่มสุขศรี เลขานุการศาลอาญา กล่าวชี้แจงถึงกระบวนการในการอุทธรณ์ขอเพิกถอนหมายจับว่า ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์วันนี้ เป็นกระบวนการพิจารณาของศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ออกหมาย โดยผู้ต้องหายังยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้อีกเพื่อจะพิจารณาต่อไปว่าจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือไม่เช่นเดียวกันกรณีของนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งถูกศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกหมายจับตามคำร้องขอ ของพนักงานสอบสวน แล้วต่อมานายสุนัย ได้ยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งรับคำร้องไว้และได้มีการวินิจฉัยลงลึกถึงเนื้อหาที่มีการขออกหมายจับ กระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวน ผู้ร้องได้ยื่นฎีกาต่อ และคำร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาที่จะมีคำสั่งต่อไป ดังนั้นในกรณีนี้ผู้ต้องหาจึงสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และหากศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ก็ยังสามารถยื่นฎีกาได้ตามขั้นตอนโดยชั้นนี้พนักงานสอบสวนก็มีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อศาลอุทธรณ์ได้เช่นกัน

ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความผู้ต้องหา กล่าวว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องอุทธรณ์ก็จะยื่นอุทธรณ์กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณารับคำอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับไว้พิจารณาในวันที่ 3 ก.ย. เวลา 09.00 น. โดยคำร้องที่จะยื่นต่อศาลอุทธรณ์จะเป็นความเห็นเดิมทั้งหมด โดยจะยกกรณีของนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เคยใช้กรณีเช่นนี้มาก่อน

ขณะที่ นายณฐพร โตประยูร ทนายความผู้ต้องหา กล่าวว่า กระบวนการยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 3 กันยายน จะเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องอุทธรณ์ฎีกา โดยเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ผู้ต้องหาซึ่งได้รับการกระทบสิทธิตามรัฐธรรมนูญจากการถูกออกหมายจับตามมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ต้องหา และหากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว ผู้ต้องหาก็ยังมีสิทธิที่จะยื่นฎีกาได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น