ทนายยื่นอุทธรณ์ ยกคำสั่งออกหมายจับ 9 พันธมิตร ฯ แล้ว ระบุ ตร.ขอหมายทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานพอสมควรเชื่อได้ว่าแกนนำพันธมิตรฯ ทำผิดข้อหากบฏจริง แถมใช้เวลาสอบสวนวันเดียวหลังเกิดเหตุ ขณะที่ศาลนัดฟังคำสั่ง 2 ก.ย.บ่ายสอง
วันนี้ (1 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น.ที่แผนกอุทธรณ์-ฎีกา ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายณฐพร โตประยูร ทนายความ เดินทางมายื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุมัติออกหมายจับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ นายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตรฯ ผู้ต้องหาที่ 1-9 ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ออกหมายจับ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ในความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114, ผู้ใดกระทำเพื่อให้เกิดการปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาตรา 116, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216
ตามคำอุทธรณ์ สรุปว่า ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของผู้ต้องหาทั้งเก้า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2551 โดยเห็นว่าการออกหมายจับเป็นขั้นตอนแรก เพื่อให้ได้ตัวบุคคลมาสอบสวน ที่เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวน จึงมีเหตุให้ออกหมายจับได้ ส่วนผู้ต้องหาจะกระทำผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวน สั่งฟ้อง และพิจารณาของศาลนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โดยการออกหมายจับศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(1) และข้อบังคับประธานศาลฎีกาโดยเคร่งครัด ซึ่ง ป.วิ อาญา มาตรา 66(1) บัญญัติว่า เหตุที่ออกหมายจับได้ต้องเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ส่วนข้อบังคับประธานศาลฎีกา ออกโดย รธน.ปี 2540 มาตรา 31 ที่บัญญัติให้การจับกุม คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบสิทธิและเสรีภาพในชีวิต และร่างกายจะทำไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังนั้น ในการออกหมายจับศาลชั้นต้นต้องไต่สวนให้ได้ความว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงต้องทำการรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ความดังกล่าวก่อนจึงจะตั้งข้อกล่าวหาและขอออกหมายจับ ดังนั้น การออกหมายจับจึงไม่ใช่ขั้นตอนแรกเพื่อการสอบสวนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เพราะในขั้นตอนนี้พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาอยู่ในอำนาจควบคุมของตน หลังจากที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแล้วตาม ป.วิ อาญา มาตรา 134 โดยเฉพาะคดีนี้เป็นคดีการเมือง และผู้ร้องไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสอบสวนที่จะต้องรีบจับกุมตัว และยังปรากฏว่า พนักงานสอบสวนใช้เวลาสอบสวนเพียงวันเดียวหลังเกิดเหตุและตั้งข้อหาทันที ข้อหาหลายก็เกินต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะข้อหาตาม มาตรา 113, 114 และ 116 ซึ่งไม่ปรากฏในแนวทางไต่สวนว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอในการที่จะต้องข้อกล่าวดังกล่าวได้
ส่วนที่ว่าการออกหมายจับจะเป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวน แต่เมื่อศาลออกหมายจับแล้วย่อมกระทบสิทธิตาม รธน.ของผู้ร้อง ดังนั้น ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับได้และรับทราบกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอนตาม รธน.มาตรา 40(7) โดยผู้ร้องขออนุญาตคัดถ่ายเอกสารแต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตทำให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะต่อสู้คดีได้เต็มที่ ซึ่งการออกหมายจับต้องทำการสอบสวนจนได้พยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดไม่ใช่จับตัวมาก่อนแล้วหาพยานหลักฐานมาเพิ่มเติม ซึ่งข้อบังคับประธานศาลฎีกา ข้อ 19 กำหนดให้การออกหมายจับ หรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลให้ครบถ้วนชัดแจ้ง เมื่อข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิด มาตรา 113, 114 และ 116 ดังนั้นการออกหมายจับดังกล่าวจึงขัดต่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธนั้น ผู้ร้องขอชี้แจงว่า สิ่งของที่ค้นพบ เช่น ไม้เบสบอล ไม้กอล์ฟ มีเพียงบางชิ้นที่ผู้ชุมนุมใช้ในการป้องกันตัวเท่านั้น ซึ่งโดยสภาพไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปใช้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ส่วนที่ผู้ชุมนุมเข้าไปในสถานที่ราชการ ปิดสถานีโทรทัศน์ หรือประกาศมาตรการไม่ให้ประชาชนเสียภาษี ก็เพื่อประท้วง และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอันเป็นมาตรการอารยะขัดขืนเท่านั้น ซึ่งทำไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่มีเป้าหมายให้ นายกรัฐมนตรีลาออก ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของผู้ร้องทั้งเก้าเป็นการทำประโยชน์เพื่อชาติ และประชาชน ธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นคณะอื่น ทำการไต่สวน และมีคำสั่งต่อไป และในระหว่างการพิจารณานี้ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งงดการดำเนินการตามหมายจับไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังคำพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องไว้และนัดฟังคำสั่งวันที่ 2 ก.ย.นี้ เวลา 14.00 น.
ภายหลัง นายณฐพร โตประยูร ทนายความ กล่าวว่า การออกหมายจับศาลต้องมีการไต่สวนข้อหาต่างๆ ที่ฝ่ายทนายผู้ต้องหานำมายื่นก่อน เมื่อพบว่าข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเกินเหตุ ศาลอาจต้องเพิกถอนหมายจับ และพนักงานสอบสวนต้องไปหาพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งหากให้มีการไต่สวนได้เตรียมพยานบุคคลแล้วเป็นสมาชิกวุฒิสภา และผู้มีความรู้ความชำนาญด้านข้อกฎหมายประมาณ 3-4 คนที่จะมาชี้ให้ศาลเห็นว่าคนที่ศาลตั้งข้อกล่าวหาไม่ชอบอย่างไร นอกจากนี้ก็ได้ส่งหลักฐานบางส่วนให้ศาลชั้นต้นไว้แล้ว เช่น กรณีที่ศาลจับผู้ต้องหาบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที อาวุธต่างๆ กระสุนปืนเอ็ม 16 ไม่เชื่อว่าเป็นของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เพราะเมื่อไม่มีปืน แล้วผู้ถูกกล่าวหาจะเก็บกระสุนไว้ทำไม
“ปัจจุบันได้มีข้อบังคับใหม่ของศาลฎีกาว่าด้วยการออกหมายจับ พนักงานสอบสวนต้องมีหลักฐานและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิด ปรากฏว่า กรณีนี้ผู้ชุมนุมก่อเหตุวันที่ 26 ส.ค.แต่ขอศาลออกหมายจับวันที่ 27 ส.ค.ซึ่งเห็นว่าพนักงานสอบสวนจะต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนก่อนออกหมายจับ ซึ่งข้อหากบฏถือว่ารุนแรงเกินไป เห็นว่าหากไม่ผิดข้อหากบฏ ตามมาตรา 113 ข้อหาอื่นก็ไม่ผิด ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 29, 40 เขียนไว้ชัดว่าการจำกัดสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะกระทำไม่ได้ และการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรก็ชุมนุมมานานแล้วโดยยืนยันการชุมนุมโดยสันติวิธี” นายณฐพร กล่าว