xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเฮ! พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค บังคับใช้ 25 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ประธานศาลฎีกา ดัน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค บังคับใช้ 25 ส.ค.นี้ ศาลเข้าเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ช่วยคนจน ลดขั้นตอนฟ้องผู้ประกอบการเอาเปรียบโดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม

วันนี้ (21 ส.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อสินค้า ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการใช้บัตรเครดิต หรือประกันภัย โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วไม่อาจฟ้องร้องผู้ประกอบการได้โดยตรงเพราะกลัวต้องขึ้นศาล ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และไม่มีอำนาจต่อรอง ขณะนี้ นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา142 ที่ให้ผลักดันออกกฎหมายได้เอง ผลักดัน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 และกฎหมายประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ และมีผลใช้บังคับในวันจันทร์ที่ 25 ส.ค.นี้

นายสราวุธ เบญจกุล กล่าวว่า คดีคุ้มครองผู้บริโภค เดิมผู้เสียหายต้องฟ้องศาลเอง จ้างทนายเอง มีการพิจารณาเหมือนคดีทั่วไป แต่ต่อไปนี้ ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากผู้ประกอบการ สามารถมาที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ แล้วพบเจ้าพนักงานคดีคุ้มครองผู้บริโภค แล้วเล่าเรื่องให้ฟังเรียกว่า “ฟ้องด้วยวาจา” เจ้าพนักงานจะเขียนคำฟ้องส่งให้ศาล แล้วศาลจะนัดมาไกล่เกลี่ยใน 15 วัน โดยศาลจะส่งหมายให้เอง ดังนั้น ชาวบ้านไม่ต้องจ่ายค่าขึ้นศาลร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์เหมือนเดิมอีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมก็ไม่ต้องเสีย ทุกอย่างฟรีหมด ถ้าผู้ประกอบการต่อสู้คดี ศาลจะรีบพิจารณาอย่างรวดเร็ว ผลคดีออกมาคู่ความไม่พอใจก็อุทธรณ์ ฎีกา ได้ แต่กฎหมายให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่าคดีใดจะผ่านด่านเข้าสู่การพิจารณาของศาลสูงได้เพราะต้องเป็นคดีสำคัญจริงๆ

“คดีมีอายุความ 3 ปี นับแต่รู้เรื่องเดือดร้อน และฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายทางจิตใจก็ได้ นี่คือข้อดีกว่าฟ้องคดีละเมิด ทุนทรัพย์ไม่จำกัด ถ้าใครซื้อรถแล้วขับไม่ได้ ซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้าน ก็ยื่นฟ้องได้ที่ศาลในพื้นที่ใกล้บ้านตัวเอง ไม่ต้องมาฟ้องที่กรุงเทพอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการ คดีแบบนี้มีเยอะ ชาวบ้านมักท้อ ไม่อยากเป็นความ ต่อไปนี้มาที่ศาลทุกอย่างฟรี” นายสราวุธ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น